ในปัจจุบันบริษัทเทคโนโลยีของจีนเริ่มเป็นที่พูดถึงมากขึ้น และเริ่มมีผลต่อคนทั่วโลกมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นบริษัท Alibaba ซึ่งดำเนินธุรกิจ E-commerce ขนาดใหญ่ในจีน หรือบริษัท Tencent ที่ดำเนินธุรกิจเกม และ Social Network ขนาดใหญ่ที่ชื่อว่า “Wechat” ทั้งสองบริษัทนี้รวมถึงบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่อื่นๆ ที่เป็นสัญชาติจีน ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหุ้นจีน แต่จดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ และตลาดหุ้นฮ่องกง โดยเป็นผลมาจากข้อจำกัดทางกฎหมายและข้อบังคับต่างๆ ส่งผลให้ทางการจีนพยายามที่จะให้บริษัทเทคโนโลยีในจีนสามารถจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ของจีนได้
ในเบื้องต้นทางการจีนได้พยายามที่จะนำบริษัทเทคโนโลยีที่จดทะเบียนในสหรัฐฯ และฮ่องกง กลับมาในจีนด้วยการออก Depositary Receipts หรือตราสารแสดงสิทธิการฝากหลักทรัพย์ต่างประเทศ ซึ่งทำให้นักลงทุนในประเทศสามารถถือครองหุ้นบริษัทจีนที่ไปจดทะเบียนในต่างประเทศได้ แต่ล่าสุดได้มีการจัดตั้งตลาดหลักทรัพย์ใหม่สรุปได้ดังนี้
ตลาดหลักทรัพย์ใหม่ “STAR” จะเน้นกลุ่มธุรกิจ New China
นับตั้งแต่เดือน พ.ย. 2018
ประธานาธิบดี Xi Jinping ได้พยายามที่จะจัดตั้งตลาดหลักทรัพย์แห่งใหม่ในเซี่ยงไฮ้ เพื่อเป็นช่องทางให้บริษัทเทคโนโลยีสามารถระดมทุนได้ง่ายขึ้น และในวันที่ 13 มิ.ย. 2019 ทางการจีนได้ประกาศอย่างเป็นทางการที่จะเปิดตลาดกระดานใหม่ชื่อว่า
“Science -Technology Innovation Board” หรือ
“STAR” ซึ่งจะเปิดซื้อขายวันแรกในวันที่ 22 ก.ค. นี้ สำหรับตลาดกระดานใหม่นี้จะเน้นหุ้นที่ทำธุรกิจ “New China” ที่มีการเติบโตกำไรสุทธิสูง ทั้งยังมีสัดส่วนของการลงทุนและ R&D ค่อนข้างสูง โดยจะมีสัดส่วนของหุ้นในกลุ่ม Technology ประมาณ 40%
สำหรับเกณฑ์การขึ้นทะเบียนของบริษัทมีการเปลี่ยนแปลงให้ง่ายขึ้น แต่อาจจะมีเงื่อนไขเพิ่มเติม ดังนี้
- เกณฑ์ IPO รูปแบบเดิม (Approval Based System) จะใช้เวลาราว 1 ปี และมีการเปลี่ยนเป็นระบบใหม่ (Registered Based System) ซึ่งจะทำให้กระบวนการจดทะเบียนง่ายและรวดเร็วมากขึ้น โดยจะใช้เวลาเพียง 5 เดือนเท่านั้น
- ตลาดหลักทรัพย์กำหนดระยะเวลาการพิจารณา IPO Application เพียงแค่ 3 เดือนเท่านั้น เพื่อให้กระบวนการระดมทุนเป็นไปได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น
- บริษัทที่ยังไม่มีกำไรสามารถเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ได้ แต่ต้องมีคุณสมบัติอื่นๆ ตามที่ทางการกำหนด ได้แก่ มูลค่าของกิจการ (Market Value) รายได้ กระแสเงินสด รวมถึงการวิจัยและพัฒนา (R&D)
- บริษัทหลักทรัพย์ที่เป็นผู้สนับสนุน (Sponsoring Brokerages) จะต้องลงทุนในการระดมทุน IPO และจะต้องมีระยะเวลาการลงทุนตามที่ทางการกำหนด (Lock-in Period)
- ยกเลิกการจำกัดราคาเสนอขาย IPO และยกเลิกการมีเพดาน (Cap) สำหรับการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ในช่วง 5 วันทำการแรก และหลังจากนั้นราคาหุ้นสามารถเคลื่อนไหวภายใน 1 วัน (Daily Price Limit) +/- 20%
- สำหรับนักลงทุนจะต้องมีเงินลงทุน 5 แสนหยวน หรือ 66,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ และต้องมีประสบการณ์การลงทุนมากกว่า 2 ปีขึ้นไป
เบื้องต้นมีบริษัทเข้า IPO ทั้งสิ้น 125 แห่ง
สำหรับกระแสข่าวการพัฒนาตลาดหลักทรัพย์แห่งใหม่ ส่งผลให้บริษัทสัญชาติจีนมาจดทะเบียนมากขึ้น ณ วันที่ 24 มิ.ย. 2019 ทางการจีนได้รับใบสมัครจากบริษัทราว 125 แห่ง ประกอบด้วยกลุ่มอุตสาหกรรม Technology 43% Healthcare 22% และ Industrials 20% อย่างไรก็ดีหากพิจารณาข้อมูลเบื้องต้นคาดว่ากลุ่มบริษัทดังกล่าวยังไม่มีบริษัทใดที่มีศักยภาพที่จะเป็น
“New Tech Unicorns” ได้ (Tech Unicorn หมายถึง บริษัทสตาร์ทอัพที่มีมูลค่ากิจการมากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)
แต่สำหรับมุมมองนักวิเคราะห์เชื่อว่าการมีตลาดหุ้นใหม่นี้จะเป็นที่ต้องการของบริษัทค่อนข้างมาก เนื่องจากในจีนมีบริษัท “Tech Startup” จำนวนมาก โดยในเขต Haidian ของปักกิ่งมีบริษัทเทคโนโลยีกว่า 148,600 แห่ง ประเมินรายได้รวมกันมากกว่า 2 ล้านล้านหยวน หรือ 288 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2020 (จากข้อมูลของ บริษัท หลักทรัพย์ Minsheng) ทำให้ประเมินว่าตลาด STAR จะเป็นตลาดทางเลือกให้แก่นักลงทุนที่มีสัดส่วนของหุ้นกลุ่ม Technology และ Healthcare มากกว่าดัชนี CSI300 และ MSCI China นอกจากนี้ได้ประเมินว่าหุ้นที่จดทะเบียนในกระดาน STAR จะมีอัตราการเติบโตของทั้งยอดขายและกำไรดีกว่าดัชนี CSI300 และ MSCI China อีกด้วย
โดย กันติพัฒน์ วงศ์สุคนธ์
Head of Wealth Advisory
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนทิสโก้