Non-Bank พลิกระบบการปล่อยสินเชื่อชุบชีวิตผู้ประกอบการรายย่อยฟื้นธุรกิจ - Forbes Thailand

Non-Bank พลิกระบบการปล่อยสินเชื่อชุบชีวิตผู้ประกอบการรายย่อยฟื้นธุรกิจ

FORBES THAILAND / ADMIN
06 Sep 2016 | 12:56 PM
READ 3380
สินเชื่ออยู่คู่กับการเติบโตของเศรษฐกิจแต่ก็ไม่เสมอไปว่าเมื่อเศรษฐกิจโตสินเชื่อจะโตตาม หากเศรษฐกิจไม่ดีแต่ถ้ามีการวางรูปแบบการปล่อยสินเชื่อแบบ alteration สินเชื่ออาจยิ่งเติบโต ยิ่งเศรษฐกิจไม่ดีความต้องการสินเชื่อยิ่งมาก และการปล่อยสินเชื่อก็ต้องเพิ่มความระมัดระวังยิ่งขึ้นแต่ไม่ได้หมายความว่าปล่อยไม่ได้ ธนาคารพาณิชย์เป็นสถาบันหลักที่ปล่อยสินเชื่อซึ่งปัจจุบันมีกฎเกณฑ์ในการพิจารณาสินเชื่อที่เพิ่มมากขึ้นจึงทำให้มีลูกค้าอีกจำนวนมากที่ไม่ผ่านเกณฑ์หรือเคยผ่านเกณฑ์แต่ปัจจุบันตกเกณฑ์ ลูกค้าเหล่านี้ยังคงมีศักยภาพในการขยายธุรกิจหรือต่อยอดธุรกิจได้ ถ้ายังได้รับการสนับสนุนทางการเงิน ตรงนี้ถือว่าบริษัทต่างๆ ที่เป็นเอกชนนอกเหนือจากธนาคารก็มีโอกาสได้เข้ามาช่วยเสริมในจุดนี้ ซึ่งก็มีมาตรการ และกฎเกณฑ์ที่แตกต่างกันออกไปเพราะภาวะขาดสภาพคล่อง เปรียบเสมือน “โรคติดต่อ” ในระบบการเงิน เราไม่มีทางหลบเลี่ยงวิกฤตทางการเงินที่ย่อมเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว ซึ่งเราก็ควรให้ความสําคัญกับการปรับปรุงโครงสร้างให้แข็งแรง และก็ไม่ควรพุ่งเป้า ไปที่การเขียนกฎเกณฑ์ที่จะป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤต เพราะเราไม่สามารถป้องกันได้เปรียบเทียบว่า ไม่ว่าเราจะเขียนกฎเกณฑ์การสร้างอาคารให้รัดกุมปลอดภัยเพียงใด เราก็ไม่สามารถป้องกันไม่ให้เกิดไฟไหม้เลยได้ แต่เราสามารถติดตั้งหัวฉีดน้ำดับเพลิงในอาคารให้มากกว่าเดิมได้ สิ่งสำคัญที่สุดคือธรรมาภิบาลของผู้บริหารทุกระดับจะเห็นได้ว่าโลกของการเงินเปลี่ยนไปมีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเสริมมากขึ้น ผู้บริโภคมีช่องทางฝากเงินหรือลงทุนเพิ่มมากขึ้นกว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ผู้คนทั่วไปเริ่มรู้จักการลงทุนในตราสารหนี้ ซึ่งมีทั้ง เช่น money market, billing exchange, rated bond หรือ unrated bond เป็นต้น ซึ่งก็แตกต่างไปจากเมื่อก่อนที่ผู้คนส่วนใหญ่ฝากเงินแต่ธนาคารอย่างเดียว อัตราดอกเบี้ยก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้ผู้คนเริ่มมองหาแหล่งลงทุนที่ต่างไปจากเดิม ที่ผ่านมา ธนาคารทหารไทยออกมาประกาศแล้วว่า เงินฝากไม่มีดอกเบี้ยซึ่งก็แน่ใจได้ว่า ธนาคารอื่นๆ ก็จะทยอยประกาศกันออกมา นโยบายคุ้มครองเงินฝากก็จะเริ่มใช้ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าหลังจากที่เลื่อนมาแล้วสองรอบ นี่ก็หมายความว่าโลกของด้านเงินฝากดอกเบี้ยก็จะถูกลงผู้คนก็ต้องเปลี่ยนพฤติกรรมหันมาลงทุนกับตราสารต่างๆ เพิ่มมากขึ้น ภาวะอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องและยาวนาน ทำให้เห็นพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนและยอมรับความเสี่ยงที่สูงขึ้น ในตลาดทุน ตลาดตราสารหนี้ และสินทรัพย์ต่างๆ มากขึ้นมีการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศผ่านกองทุนรวม (Foreign Investment Fund: FIF) มากขึ้นโดยบางส่วนไปลงทุนในประเทศที่มีความเสี่ยงด้านเครดิตสูง สำหรับภาคธุรกิจได้หันมาระดมทุนผ่านตราสารหนี้มากขึ้น เนื่องจากมีต้นทุนที่ต่ำกว่าการกู้ยืมจากธนาคารพาณิชย์ และบางกลุ่มโดยเฉพาะธุรกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ออกตราสารหนี้ที่ไม่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (non-rated bonds) เพิ่มขึ้น ดังนั้นก็เป็นสิ่งที่ง่ายขึ้นกับบริษัทเอกชนต่างๆ ในการระดมทุนด้วยต้นทุนที่ถูกลงไม่ต้องผ่านแบงก์กินหัวคิวกันอีกต่อไป ถ้าบริษัทที่มีผลประกอบการดีก็อาจจะได้ดอกเบี้ยในอัตราที่ต่ำ 2-3% ต่อปีซึ่ง ในแง่ของผู้ฝากก็ดีกว่ามากที่จะฝากธนาคารในแง่ของสินเชื่ออย่างที่เกริ่นไปแล้วข้างต้น ก็จะมีผู้ประกอบการอีกจำนวนไม่น้อยที่ตกเกณฑ์ของธนาคารและผู้ประกอบการเหล่านี้มีเงื่อนเวลาเป็นปัจจัยสำคัญหากได้รับการสนับสนุนทางการเงินผู้ประกอบการเหล่านี้ก็สามารถที่จะฟื้นธุรกิจต่อไปได้ ราคาคงไม่ใช่กลยุทธ์หลักในการแข่งขัน ความเข้าใจและเข้าถึงต่างหากที่เป็นปัจจัยหลัก ปัจจุบันเศรษฐกิจชะลอตัวอาจกระทบต่อการชำระเงินต้นคืนอยู่บ้างแต่หากผู้ประกอบการ ยังสามารถประคองตัวให้ผ่านช่วงที่ยากลำบากและยังสามารถชำระคืนดอกเบี้ยได้ ก็คงต้องช่วยประคับประคองกันไป การทำธุรกิจด้านปล่อยสินเชื่อในความคิดส่วนตัวก็ไม่ควรมุ่งเน้นแต่กำไรอย่างเดียว ที่สำคัญคือต้องยึดหลักประนีประนอม เจรจาช่วยเหลือไม่ใช่กดดันจะยึดอย่างเดียว คือต้องมีหลักของคุณธรรมควบคู่กันไปด้วย พร้อมกับวิเคราะห์พฤติกรรมและความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้าให้ขาด มีความยืดหยุ่น คล่องตัวแต่ก็ต้องเด็ดขาดเมื่อต้องตัดสินใจ สิ่งเหล่านี้คือศิลปะและประสบการณ์ การฟื้นตัวช้าและความผันผวนของเศรษฐกิจโลกมีผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเราปฏิเสธไม่ได้เลยว่าโลกของเราปัจจุบันเล็กลงกระแสเงินไหลเวียนถึงกันหมดทั่วโลกเมื่อที่หนึ่งเกิดปัญหาผลกระทบไปถึงทุกที่ไม่มากก็น้อย ในโลกของการเงินจากนี้คงมีอะไรที่เปลี่ยนแปลงอีกมาก ในแง่ของเทคโนโลยีและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป อะไรเปลี่ยนก็ไม่สำคัญที่สำคัญคือจิตสำนึกที่ดี และวินัยทางการเงินที่ดี สองสิ่งนี้คือรากฐานที่สำคัญที่ไม่ควรเปลี่ยนแต่ควรที่ต้องสอนต่อๆ กันไปเป็นพื้นฐาน เพราะสองสิ่งนี้คือรากฐานทางการเงินที่สำคัญของคนซึ่งเป็นหน่วยเล็กๆแต่เมื่อรวมกันแล้วก็จะเป็นพื้นฐานที่สำคัญของเศรษฐกิจไทย นางสาวสุกัญญา สุขเจริญไกรศรี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอเชีย แคปปิตอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ACAP
คลิกอ่านบทความทางธุรกิจ เพื่อเติมได้ที่ Fobes Thailand Magazine ฉบับ AUGUST 2016