ยกระดับทักษะบุคลากรรับอนาคตยุค AI - Forbes Thailand

ยกระดับทักษะบุคลากรรับอนาคตยุค AI

FORBES THAILAND / ADMIN
19 Aug 2024 | 09:30 AM
READ 350

Generative AI มอบโอกาสพลิกโฉมธุรกิจในประเทศไทยแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน จากผลการสำรวจเกี่ยวกับการยกระดับทักษะด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) การเตรียมความพร้อมบุคลากรในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกสู่งานแห่งอนาคตของ Amazon Web Services: AWS บริษัทในเครือ Amazon.com โดยร่วมกับบริษัท Access Partnership สำรวจพนักงานกว่า 1,600 คน และนายจ้าง 500 รายในไทย ทำให้เข้าใจถึงแนวโน้มการใช้งาน AI ที่กำลังเกิดขึ้นและทักษะที่เป็นที่ต้องการในองค์กรต่างๆ ในภูมิภาค APAC ได้ดียิ่งขึ้น


    พนักงานและนายจ้างส่วนใหญ่เห็นว่าบุคลากรไทยที่มีทักษะและความเชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) มีโอกาสได้รับค่าจ้างเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะพนักงานด้านไอที (54%) และด้านการดำเนินธุรกิจ (51%)

    นอกจากโอกาสในการเพิ่มค่าจ้างของบุคลากรในประเทศไทย อีก 98% คาดว่าการเพิ่มทักษะด้าน AI จะส่งผลให้มีโอกาสก้าวหน้าในหน้าที่การงานมากยิ่งขึ้น รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน การเพิ่มความมั่นคงในอาชีพ และส่งเสริมความใฝ่รู้ โดยบุคลากรในประเทศไทย 95% ระบุถึงความสนใจในการพัฒนาทักษะ AI เพื่อโอกาสในการก้าวหน้าในสายงานอาชีพไม่ว่าจะอยู่ในกลุ่มอายุรุ่นไหน

    ขณะเดียวกันผลสำรวจยังพบความสนใจต้องการเรียนรู้ทักษะด้าน AI ทั้งบุคลากรกลุ่มเจน Z ประมาณ 93% กลุ่มเจน Y และกลุ่มเจน X สัดส่วนเท่ากันที่ 95% ส่วนกลุ่มเบบี้บูมเมอร์ที่เป็นกลุ่มประชากรในช่วงเกษียณอายุมีความสนใจลงทะเบียนในหลักสูตรเพื่อยกระดับทักษะด้าน AI หากมีโอกาสประมาณ 97%

    ด้านประสิทธิผลที่ได้รับจากบุคลากรไทยที่มีทักษะ AI ในมุมมองของนายจ้างเชื่อว่าประสิทธิภาพขององค์กรสามารถเพิ่มขึ้นได้ เนื่องจากเทคโนโลยี AI ช่วยพัฒนาการสื่อสารและปรับงานซ้ำซ้อนให้เป็นระบบอัตโนมัติ รวมถึงส่งเสริมการเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ได้

    ยิ่งไปกว่านั้นผลสำรวจยังเชื่อว่า AI สามารถยกระดับประสิทธิผลในการทำงานของตนเองได้มากถึง 56% ซึ่งการว่าจ้างบุคลากรที่มีทักษะด้าน AI ถือเป็นเรื่องสำคัญอันดับต้นๆ สำหรับนายจ้างชาวไทยกว่า 9 ใน 10 ราย แต่ 64% กลับประสบปัญหาในการสรรหาบุคลากรที่มีทักษะด้าน AI ที่เพียงพอ สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการขาดแคลนทักษะด้าน AI ที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทย


องค์กรไทยเดินหน้าปรับใช้ AI

    พัฒนาการของ AI ในประเทศไทยเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว 98% ของนายจ้างมองว่า บริษัทของตนจะปรับเปลี่ยนสู่การเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วย AI ภายในปี 2571 ในขณะที่นายจ้างส่วนใหญ่ (97%) เชื่อว่าแผนกไอทีจะได้รับประโยชน์มากที่สุด รวมถึงแผนกอื่นยังสามารถใช้ประโยชน์จาก AI ได้ด้วยเช่นกัน เช่น ฝ่ายวิจัยและพัฒนา (95%) ฝ่ายการเงิน (95%) ฝ่ายการดำเนินธุรกิจ (94%) ฝ่ายขายและการตลาด (93%) ฝ่ายทรัพยากรบุคคล (91%) และฝ่ายงานกฎหมาย (90%)

    สำหรับ Generative AI เป็นหนึ่งในรูปแบบของ AI ที่มีความสามารถในการสร้างสรรค์เนื้อหาและไอเดียใหม่ๆ ได้อย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นบทสนทนา นิยาย รูปภาพ วิดีโอ เพลง และอื่นๆ อีกมากมาย ทำให้เป็นที่นิยมและได้รับความสนใจจากสาธารณชนเป็นอย่างมากในปีที่ผ่านมา ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวได้พลิกโฉมการทำงานขององค์กรต่างๆ ในประเทศไทยแล้ว 98% ของนายจ้างและลูกจ้าง

    ขณะที่คาดการณ์การนำเครื่องมือด้าน Generative AI มาใช้ในที่ทำงานภายใน 5 ปีข้างหน้า โดยมีนายจ้างจำนวน 74% มองการเพิ่มนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์จะเป็นประโยชน์อันดับแรกที่องค์กรจะได้รับ ตามด้วยการปรับงานซ้ำซ้อนให้เป็นระบบอัตโนมัติอีก 66% และการสนับสนุนการเรียนรู้อีก 62% เนื่องจากคลื่นยุคใหม่แห่ง AI กำลังขยายตัวทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกรวมไปถึงประเทศไทย และกำลังเปลี่ยนวิธีดำเนินธุรกิจและวิธีการทำงานในปัจจุบันอย่างสิ้นเชิง ซึ่งสังคมโดยรวมยังได้รับผลประโยชน์จากประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้น และนำไปสู่รายได้ที่เพิ่มขึ้นสำหรับบุคลากรในไทยที่มีทักษะ

    นอกจากนั้น ในช่วงเวลาที่ผ่านมาอุตสาหกรรมต่างๆ ได้ปรับตัวใช้ AI อย่างรวดเร็ว ตั้งแต่บริการทางการเงินไปจนถึงการก่อสร้าง การค้าปลีก หรือแม้แต่ภาครัฐที่มุ่งเน้นพัฒนานโยบายด้านการส่งเสริม AI และด้วยจำนวนองค์กรที่คาดว่าจะใช้โซลูชันและเครื่องมือ AI เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ บวกกับการพัฒนาสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ขับเคลื่อนด้วย AI อย่างต่อเนื่องยิ่งทำให้นายจ้างและภาครัฐต้องให้ความสำคัญและเร่งพัฒนาบุคลากรให้มีความเชี่ยวชาญ พร้อมรับมือกับความก้าวหน้าของ AI ทั้งในปัจจุบันและอนาคต รวมถึงการพัฒนาทักษะด้าน AI สำหรับพนักงานยังมีความสำคัญในการเสริมสร้างวัฒนธรรมการสร้างสรรค์นวัตกรรมและขับเคลื่อนประสิทธิภาพการทำงานในประเทศไทย

    อย่างไรก็ตามในปัจจุบันประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหาขาดแคลนทักษะด้าน AI ซึ่งควรได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วนเพื่อปลดล็อกศักยภาพและประโยชน์ของ AI ได้อย่างเต็มรูปแบบ โดยการจ้างบุคลากรที่มีความพร้อมในทักษะ AI ถือเป็นเรื่องสำคัญอันดับต้นๆ ในกลุ่มนายจ้างไทย 9 ใน 10 ราย (94%) ซึ่ง 64% ระบุว่า ไม่สามารถหาบุคลากรที่มีทักษะ AI ตามที่ต้องการได้ และนายจ้าง 89% ยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการดำเนินโครงการฝึกอบรมบุคลากรด้าน AI ส่วนพนักงานอีก81% ไม่แน่ใจว่าทักษะด้าน AI จะเป็นประโยชน์แก่สายอาชีพใดได้บ้าง

    ดังนั้น การฝึกอบรมบุคลากรด้าน AI ภายใต้กรอบและหลักการที่มีจรรยาบรรณไม่ได้เป็นเพียงทางเลือกเชิงกลยุทธ์ แต่ถือเป็นภารกิจสำคัญสำหรับภาครัฐและองค์กรต่างๆ ทั่วเอเชียแปซิฟิก รวมถึงความจำเป็นในการเตรียมตัวบุคลากรให้มีความพร้อมด้านทักษะ AI เพื่อรองรับงานในอนาคตที่มีความท้าทายใหม่และเปิดรับโอกาสในการเติบโต ตลอดจนพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและเสมอภาค

    ที่ผ่านมา AWS ได้มีการฝึกอบรมบุคลากรในไทยแล้วกว่า 50,000 คน โดยเฉพาะทักษะด้านคลาวด์ตั้งแต่ปี 2560 และเล็งเห็นความจำเป็นในการยกระดับทักษะบุคลากรในวงกว้างตามการใช้เทคโนโลยีที่เกี่ยวกับระบบคลาวด์ในการใช้งาน AI ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้องค์กรต่างๆ สามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมและเติบโตได้ในอนาคตแห่งยุค AI

    ตัวอย่างโครงการ AI Ready ของบริษัท Amazon ซึ่งเปิดตัวช่วงเดือนพฤศจิกายน ปี 2566 ถือเป็นส่วนหนึ่งของความมุ่งมั่นในการฝึกอบรมทักษะด้านคลาวด์ให้คนทั่วโลกจำนวน 29 ล้านคนภายในปี 2568 แบบไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยโครงการดังกล่าวเป็นหลักสูตรฝึกอบรมด้าน AI และ Generative AI เพื่อให้ทุกคนมีโอกาสเสริมสร้างทักษะด้าน AI ที่เหมาะสมตามความต้องการ

    รวมถึงช่องทาง AWS Skills Builder และ AWS Educate เป็นศูนย์การเรียนรู้บนระบบดิจิทัลสำหรับการเรียนรู้ทุกระดับตั้งแต่ระดับเริ่มต้นไปจนถึงขั้นสูง เช่น หลักสูตรอบรมและเนื้อหาการเรียนการสอนด้าน Machine Learning หรือ ML และ Generative AI อีกกว่า 100 รายการ พร้อมทั้งนวัตกรรม Generative AI ใหม่อย่าง Amazon Q ซึ่งเป็นผู้ช่วยรูปแบบ Generative AI ที่ออกแบบมาให้สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการที่แตกต่างกันในแต่ละธุรกิจ


เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : เปลี่ยน Telco สู่ Techco ธุรกิจโทรคมนาคมแห่งอนาคต

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine