Harkness Lesson ห้องเรียนสร้าง CEO ตัวน้อย - Forbes Thailand

Harkness Lesson ห้องเรียนสร้าง CEO ตัวน้อย

FORBES THAILAND / ADMIN
24 May 2021 | 07:11 AM
READ 2284

ท่ามกลางกระแสเรียกร้องการปฏิรูปการศึกษาที่ดังขึ้นอีกครั้งหลังการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักเรียน นักศึกษา สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญ ความต้องการ รูปแบบการเรียนการสอนใหม่ๆ ที่จะมาตอบโจทย์ยุคสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในยุคดิจิทัล โลกที่ไร้พรมแดนที่มีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่ต้องพัฒนาศักยภาพของเด็กไทยให้ก้าวสู่ระดับโลก

รูปแบบการเรียนการสอนใหม่ๆ จึงมีความต้องการมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มพ่อแม่สมัยใหม่ที่มองหาหลักสูตรการเรียนการสอนที่จะพัฒนาศักยภาพของลูกให้ก้าวทันโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทำให้ธุรกิจโรงเรียนนานาชาติเติบโตอย่างมากในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา เพราะสิ่งที่เด็กจะได้อย่างแน่นอนคือ การพัฒนาทักษะด้านภาษาอังกฤษ รวมถึงการพัฒนาทักษะด้านอื่นๆ ที่จะสามารถแข่งขันได้ในเวทีระดับโลก โรงเรียนนานาชาติเวลลิงตันคอลเลจ กรุงเทพฯ ตั้งอยู่บนพื้นที่กว่า 60 ไร่ บนถนนกรุงเทพกรีฑา เปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2561 ด้วยหลักสูตรการเรียนการสอนจากประเทศอังกฤษที่มีกระบวนการเรียนรู้ครบถ้วน ทั้งความลึกและความกว้างเป็นหลักสูตรที่เปิดกว้างทางการศึกษาเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ของเด็กที่มีความแตกต่างและหลากหลาย ตอบโจทย์กระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อพัฒนาศักยภาพของเด็กให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขในสังคมที่มีการแข่งขันสูง  

- บทเรียนประสบการณ์ CEO -

วิธีการเรียนรู้แบบ Harkness ของ โรงเรียนนานาชาติเวลลิงตันคอลเลจ กรุงเทพฯ เป็นวิธีการเรียนรู้รูปแบบหนึ่งที่ให้นักเรียนนั่งอยู่รอบโต๊ะวงรี และเปิดให้มีการอภิปรายความรู้ต่างๆ ในสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วม การเปิดใจกว้าง โดยที่ครูจะมีบทบาทเป็นครั้งคราวหรือเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เช่น การกำหนดหัวข้อที่น่าสนใจเพื่อให้การอภิปรายในประเด็นต่างๆ เป็นไปโดยสร้างสรรค์ กระบวนการเรียนรู้ตามแนวทางแบบนี้เกี่ยวข้องกับการใช้เหตุผลและการให้ความสำคัญต่อข้อพิสูจน์ ซึ่งความรู้ที่นักเรียนมีมาก่อนหน้านี้มีความสำคัญน้อยกว่าความสามารถในการมีส่วนร่วมและสร้างข้อพิสูจน์แนวคิดที่จะเกิดขึ้นบนโต๊ะประชุม Harkness Lesson เป็นรูปแบบการเรียนที่สะท้อนกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เด็กจะใช้ข้อพิสูจน์หรือหลักฐานอันปราศจากอคติใดๆ เป็นที่ตั้ง จากนั้นก็ช่วยกันวิเคราะห์หาข้อสรุปที่สมเหตุสมผลร่วมกันตามข้อมูลหรือข้อพิสูจน์ที่มี แทนที่จะสรุปจากทัศนะหรือความเห็นส่วนตัวที่ได้ตั้งไว้ แล้วจึงนำข้อสรุปนั้นมาประเมินร่วมกันอีกครั้ง ห้องเรียน Harkness จะมีโต๊ะประชุมเหมือนกับห้องประชุมในบริษัททั่วไป และให้ซีอีโอตัวน้อยเข้าร่วมประชุม นำเสนอ ร่วมกันวิเคราะห์ประเด็นที่ได้รับมอบหมายเป็นการปลูกฝังประสบการณ์และทักษะในด้าน critical thinking หรือการคิดเชิงวิพากษ์ ซึ่งเป็นกระบวนการสำคัญสำหรับความคิดและการตัดสินใจ ซึ่งผู้บริหารที่ดีนั้นจะสามารถมองสิ่งต่างๆ รอบด้านและเข้าใจถึงผลกระทบของการตัดสินใจต่อธุรกิจ และเพื่อให้มั่นใจได้ว่าการตัดสินใจใดๆ นั้นสอดคล้องกับเป้าหมายขององค์กรตลอดถึงภาระรับผิดชอบต่อผลลัพธ์จากการตัดสินใจนั้นๆ สำหรับการเรียนรู้แบบ Harkness ที่โรงเรียนนานาชาติเวลลิงตันคอลเลจ กรุงเทพฯ จะเริ่มให้เด็กได้มีประสบการณ์การเรียนรู้โดยใช้ Harkness ตั้งแต่ Year 5 เพื่อส่งเสริมให้เด็กได้พิจารณาข้อมูลหรือหลักฐาน และวิเคราะห์ข้อมูลดังกล่าวด้วยตัวเอง แทนที่จะให้เด็กคอยรับคำตอบตามที่ครูหรือตำราให้ไว้ ถือเป็นรูปแบบการเรียนที่เปิดให้เด็กได้มีส่วนร่วม วิเคราะห์ตัดสินใจด้วยตัวเองอย่างมีเหตุผล และสร้างความมั่นใจให้กับเด็ก ซึ่งถือเป็นทักษะที่สำคัญยิ่งในสังคมปัจจุบัน ความสำเร็จของ Harkness นั้นไม่ได้วัดจากเด็กที่พูดเก่งที่สุด หรือเด็กที่คิดเร็วที่สุดหรือเด็กที่เสียงดังที่สุดในแต่ละโต๊ะ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ การค้นคว้าของเด็กที่เกิดขึ้นก่อนการเข้าร่วม Harkness แต่ละครั้ง  

- ปฏิรูปการศึกษาอย่างสร้างสรรค์ -

ที่โรงเรียนนานาชาติเวลลิงตันคอลเลจ กรุงเทพฯ มีอัตลักษณ์ที่เป็นจุดเด่นอยู่ 5 ด้าน คือ
  • Inspired สร้างแรงบันดาลใจในทุกกิจกรรมที่นักเรียนทำ ทั้งในและนอกห้องเรียน
  • Intellectual หลักสูตรพัฒนาความเป็นอัจฉริยะด้วยความเอาใจใส่ผลงานของนักเรียน และเชื่อมต่อกับโลกรอบๆ ตัว เพื่อได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อย่างไม่สิ้นสุด
  • Independent สอนให้นักเรียนมีความสามารถในการพึ่งพาตนเอง เป็นผู้นำ มีทักษะในการคิด และเชื่อมั่นในตนเอง
  • Individual มีคุณค่าและเติบโตอย่างปัจเจกชน ที่เวลลิงตันไม่ใช่เพียงการเดินทางไปโรงเรียน แต่เป็นการผจญภัยของชีวิต
  • Inclusive ให้คุณค่าความเท่าเทียม และเข้าใจในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น มุ่งมั่นเรียนรู้อย่างเป็นทีม และเติบโตสู่สังคมสมัยใหม่อย่างมีคุณภาพ
โรงเรียนนานาชาติเวลลิงตันคอลเลจ กรุงเทพฯ
ปัจจุบันหลายโรงเรียนในประเทศไทยได้ปรับรูปแบบการเรียนการสอนให้ทันสมัยเช่นเดียวกัน แต่การปฏิรูปการศึกษาในประเทศไทยมีหลายมิติที่เกี่ยวข้อง ทั้งโครงสร้างทางกายภาพ จำนวนโรงเรียน การพัฒนาบุคลากรครู รวมถึงหลักสูตรต่างๆ ที่ต้องมีการพัฒนาปรับปรุงอยู่ตลอดเวลาเพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เพราะฉะนั้นการปฏิรูปการศึกษาในประเทศไทยต้องใช้เวลา แต่ถือว่าขณะนี้ได้มีความก้าวหน้าเพิ่มขึ้นตามลำดับ สำหรับโรงเรียนนานาชาติถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการพัฒนาศักยภาพของเด็กไทย โดยเฉพาะในด้านภาษาอังกฤษ รวมไปถึงทักษะด้านอื่นๆ ที่จำเป็นในการดำเนินชีวิต ด้วยกระบวนการเรียนรู้ที่เปิดกว้าง สอดรับกับเด็กที่มีความแตกต่างหลากหลาย เพื่อให้ก้าวสู่การเป็นส่วนหนึ่งของประชากรโลก เพราะปัจจุบันโลกของการแข่งขันไม่ได้จำกัดอยู่ที่ประเทศไทย แต่ทุกคนอยู่ในเวทีการแข่งขันระดับโลก ทำอย่างไรให้เด็กไทยก้าวไปถึงจุดนั้นได้ นี่คือปณิธานของโรงเรียนนานาชาติเวลลิงตันคอลเลจ กรุงเทพฯ     ดร. ดาริกา ลัทธพิพัฒน์ ดร. ดาริกา ลัทธพิพัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร โรงเรียนนานาชาติเวลลิงตันคอลเลจ กรุงเทพฯ   อ่านเพิ่มเติม:
คลิกอ่านฉบับเต็ม และบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนเมษายน 2564 ในรูปแบบ e-magazine