เทคโนโลยี “ฟินเทค” ช่วยแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนไทย - Forbes Thailand

เทคโนโลยี “ฟินเทค” ช่วยแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนไทย

FORBES THAILAND / ADMIN
24 Jan 2024 | 08:30 AM
READ 1353

ประเทศไทยเป็นตลาดเกิดใหม่ซึ่งมีความเจริญก้าวหน้าสูงสุดในช่วงระหว่างปี 2556-2561 อ้างอิงจากข้อมูลของสหประชาชาติ โดยเพิ่มขึ้น 12 อันดับ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านอายุขัยเฉลี่ยของประชากร จำนวนปีที่ได้รับการศึกษา และรายได้ขั้นต่ำต่อหัว


    อย่างไรก็ตามความเหลื่อมล้ำยังคงเป็นปัญหาสำคัญ จากรายงานฉบับใหม่ของธนาคารโลกระบุว่า ประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้มากที่สุดในเอเชีย-ตะวันออก โดยครัวเรือนในพื้นที่ชนบทต้องเผชิญกับปัญหาความยากจนอย่างหนัก

    รายงาน “การวิเคราะห์รายได้ในชนบทของประเทศไทย” ระบุไว้ว่า อัตราความยากจนของไทยเคยลดลงจาก 58% ในปี 2533 เหลือเพียง 6.8% แต่กลับมาเพิ่มขึ้นในภายหลังตั้งแต่ปี 2559 สถานการณ์นี้ย่ำแย่เป็นพิเศษในพื้นที่ชนบทซึ่งคิดเป็นร้อยละ 79 ของคนจนในประเทศ โดยส่วนใหญ่อยู่ในครัวเรือนในภาคการเกษตร

    ธนาคารโลกได้ระบุว่า การชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ความซบเซาของรายได้ในภาคเกษตรกรรมและภาคธุรกิจ รวมทั้งวิกฤตโควิด-19 ล้วนเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้อัตราความยากจนของประเทศไทยพุ่งสูงขึ้น ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าปัญหาความท้าทายทางเศรษฐกิจทวีความรุนแรงขึ้นจากการระบาดครั้งใหญ่ของโควิด-19 ส่งผลทำให้สภาวะการเงินในภาคครัวเรือนตึงเครียดมากขึ้น และระดับหนี้สินปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในทุกประเทศ

    ผลการสำรวจล่าสุดโดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย (UTCC) ซึ่งได้สัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่าง 1,300 คน ที่มีรายได้ไม่เกิน 15,000 บาทต่อเดือนพบว่า ระดับหนี้สินครัวเรือน โดยเฉลี่ยของลูกจ้างปรับตัวเพิ่มขึ้น 25% จาก 217,952 บาท เป็น 272,528 บาท ในปี 2565 จากข้อมูลทั้งหมดสินเชื่อในระบบคิดเป็น 79.8% และสินเชื่อนอกระบบคิดเป็น 20.2%

    ทั้งนี้หนี้สินครัวเรือนโดยเฉลี่ยของลูกจ้างได้แตะระดับสูงสุดในรอบ 14 ปี ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการซื้อสินค้าคงทน การลงทุนเพื่อสร้างรายได้เพิ่มเติม และค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตรายวัน ปัจจุบันระดับหนี้ครัวเรือนพุ่งสูงกว่า 90% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศเล็กน้อย ส่งผลให้ครัวเรือนไทยมีหนี้สินโดยเฉลี่ยสูงกว่าครัวเรือนในสหรัฐอเมริกา จีน และอังกฤษ

    หนึ่งในปัญหาใหญ่ที่ครัวเรือนเหล่านี้กำลังเผชิญคือ การไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงิน ปัจจุบันในประเทศไทยกว่า 63% ของประชากรที่เป็นผู้ใหญ่ไม่มีบัญชีธนาคาร หรือไม่สามารถเข้าถึงบริการธนาคารได้อย่างเต็มที่ ซึ่งในจำนวนนี้รวมถึงผู้บริโภคที่มีรายได้ต่ำหรือกลุ่มธุรกิจขนาดเล็ก-กลางที่เข้าไม่ถึงบริการของธนาคาร

    กลุ่มคนเหล่านี้ต้องพึ่งพาผู้ให้บริการทางเลือกในการทำธุรกรรมทางการเงิน ทำให้มีค่าใช้จ่ายในการบริหารเงินนอกระบบดิจิทัลที่แพง และมีสัดส่วนค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในด้านดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมจากบริการทางการเงินสูงพอๆ กับค่าใช้จ่ายเพื่อซื้ออาหารการกินตลอดทั้งปี


นำ “ฟินเทค” เข้าระบบการเงินพื้นฐาน

    รัฐบาลไทยกำลังเดินหน้าเพื่อช่วยคนไทยหลายล้านคนให้สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินขั้นพื้นฐานด้วยการนำดิจิทัลเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ โดย “ฟินเทค” จะเข้ามาช่วยตอบโจทย์ด้วยวิธีใหม่ๆ ให้แก่กลุ่มผู้ที่ขาดโอกาส บริษัท Mula-X เป็นบริษัทฟินเทคที่สร้างขึ้นโดยนักการธนาคาร มีเป้าหมายในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินให้แก่คนกลุ่มนี้

    Mula-X จัดตั้งขึ้นเพื่อทำในสิ่งที่สถาบันทางการเงินในรูปแบบเดิมในประเทศไทยยังไม่สามารถทำได้คือ ช่วยให้กลุ่มผู้ขาดโอกาสเข้าถึงบริการทางการเงิน ซึ่งเป็นการให้บริการธุรกรรมที่มีปริมาณสูงแก่กลุ่มประชากรผู้ที่มีรายได้ต่ำจำนวนมากผ่านระบบดิจิทัล 100% บนโทรศัพท์มือถือ รองรับและประมวลผลในรูปแบบคลาวด์ ซึ่งจะช่วยให้ลูกจ้างสามารถเข้าถึงค่าจ้างผ่านบริการเงินเดือนทันใจ เข้าถึงสินเชื่อจากผู้ให้กู้รายย่อยผ่านแพลตฟอร์ม รวมทั้งบริการอื่นๆ บนระบบนิเวศของ Mula เช่น กระเป๋าเงินมูลา เป็นต้น

    การขับเคลื่อนนี้มีความสำคัญเนื่องจากครัวเรือนที่มีรายได้เฉลี่ยไม่ถึง 15,000 บาทในประเทศไทยมีคอมพิวเตอร์ที่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้เพียง 5% ของจำนวนทั้งหมด ในขณะที่จำนวนผู้ใช้สมาร์ทโฟนในประเทศไทยยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2560 และมีการคาดการณ์ว่าจะยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและพุ่งแตะระดับ 59 ล้านคนภายในปี 2568


ทำให้บริการทางการเงินเป็นเรื่องง่าย

    เพื่อให้ตรงต่อความต้องการของกลุ่มคนที่ขาดโอกาสจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการออกแบบระบบหรือแอปพลิเคชันให้เป็นมิตรต่อผู้ใช้งาน อีกทั้งต้องมีความปลอดภัยและง่ายต่อการใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นแอปพลิเคชันสำหรับใช้กู้เงินหรือให้บริการทางการเงินอื่นๆ ก็ตาม

    ปัจจุบันนี้มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพียบ-พร้อม และตามพระราชบัญญัติธุรกรรมทางการเงินอิเล็กทรอนิกส์ฉบับปัจจุบัน ผู้กู้สามารถยื่นใบสมัครสินเชื่อออนไลน์ได้อย่างสะดวกสบาย ทำทุกขั้นตอนบนระบบดิจิทัล รับรายงานธุรกรรมและใบเสร็จรับเงิน ตลอดจนชำระเงินผ่านอินเทอร์เน็ต

    และด้วยการใช้ประโยชน์จากปัญญาประดิษฐ์ (AI) บริษัท Mula-X จัดให้มีแชทบอทเสมือนมนุษย์คอยให้บริการภายในแอปทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้ลูกค้าสามารถถามคำถามง่ายๆ ก่อนที่จะส่งต่อไปยังพนักงานผู้ให้บริการลูกค้า


ความสำคัญของความรู้ด้านการเงิน

    อย่างไรก็ตามการลดความซับซ้อนในการกู้ยืมเงินและการเข้าถึงบริการทางการเงินเป็นเพียงส่วนหนึ่งของโซลูชัน ผู้ใช้บริการจำนวนมากยังคงมีความปรารถนาที่จะได้รับความรู้ทางการเงินเพิ่มเติม เพื่อให้พวกเขาเข้าใจแนวคิดพื้นฐานทางด้านการเงิน เช่น อัตราดอกเบี้ย งบประมาณ และการลงทุน

    ด้วยเหตุผลนี้แอป Mula จึงนำเสนอบริการอีกส่วนหนึ่งที่สำคัญคือ แพลตฟอร์มการเรียนรู้ทางการเงิน มีเป้าหมายช่วยให้ผู้ใช้บริการเพิ่มพูนความรู้ทางการเงินและความรู้อื่นๆ ที่จำเป็นในการดำรงชีวิต และครอบคลุมความรู้ที่เกี่ยวกับสุขภาพ การพัฒนาตนเอง และการดูแลบุตร แม้วิธีการเรียนรู้จะปรับเปลี่ยนไปในแต่ละช่วงเวลาแต่จากการศึกษาพบว่าผู้คนเปิดกว้างสำหรับการเรียนรู้ผ่านเกมที่มีการให้รางวัลแก่ผู้เล่น

    การพัฒนาความรู้ทางการเงินเป็นตัวแปรสำคัญที่จะช่วยให้ประชาชนสามารถตัดสินใจทางการเงินได้อย่างรอบคอบและเหมาะสม มีความรู้ที่เพียงพอในการประคองตนผ่านสมรภูมิทางการเงินที่ซับซ้อน จัดการหนี้ และสร้างความมั่นคงทางการเงินในอนาคต โดย Mula-X ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความรู้ทางการเงินเพื่อสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและเสริมสร้างโอกาสในการเติบโตแก่คนในสังคม


​​เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : Wes Christian กับความปั่นป่วนใน Wall Street

​​คลิกอ่านบทความฉบับเต็มและเรื่องราวธุรกิจอื่นๆ ที่น่าสนใจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนธันวาคม 2566 ในรูปแบบ e-magazine