การจัดทำรายงานทางการเงินกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ โดยเทคโนโลยี AI หรือ ปัญญาประดิษฐ์ ได้เข้ามามีบทบาทในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการรายงานทางการเงิน (financial reporting) การประเมินความเสี่ยง (risk assessment) การบริหารการเงิน (treasury operation) และการปฏิบัติตามกฎระเบียบ (compliance)
ในเวลานี้คงปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ AI) ได้เข้ามาเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจไปอย่างรวดเร็วในทุกภาคส่วน การจัดทำรายงานทางการเงินกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ โดย AI เข้ามามีบทบาทในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการรายงานทางการเงิน (financial reporting) การประเมินความเสี่ยง (risk assessment) การบริหารการเงิน (treasury operation) และการปฏิบัติตามกฎระเบียบ (compliance)
เครื่องมือที่ขับเคลื่อนด้วย AI สามารถช่วยให้การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกทำได้แบบเรียลไทม์ และยังสามารถช่วยทำการวิเคราะห์เชิงคาดการณ์ (predictive analysis) รวมทั้งการทำงานแบบอัตโนมัติที่มีประสิทธิภาพสูง องค์กรที่ไม่สามารถปรับตัวรับเทคโนโลยีได้ทันอาจพลาดโอกาสในการแข่งขันทางธุรกิจ ดังนั้น ผู้นำองค์กรต้องทำความเข้าใจแนวทางที่จะนำเอา AI มาใช้ และกำหนดกลยุทธ์ในการนำเทคโนโลยี AI มาผนวกเข้ากับการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ
ความคืบหน้าการใช้ AI ทางการเงิน
ในมิติด้านการนำ AI มาใช้ในการรายงานทางการเงินจากข้อมูลผลสำรวจในรายงาน Global AI in Finance ของ KPMG ปี 2567 พบว่า มีองค์กรร้อยละ 71 นำ AI มาใช้ในกระบวนการจัดทำรายงานทางการเงินในระดับหนึ่งแล้ว และคาดการณ์ว่า ภายใน 3 ปีข้างหน้าการใช้ AI มาช่วยจัดทำรายงานทางการเงินจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยสูงถึงร้อยละ 83 ประเด็นสำคัญจากการสำรวจนี้ชี้ให้เห็นว่า generative AI จะเป็นสิ่งที่องค์กรให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ ในอนาคต
ขณะที่ AI ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในกระบวนการจัดทำรายงานทางการเงินหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นการวางแผนด้านการเงิน (financial planning) การจัดการด้านบัญชี (accounting management) การจัดการความเสี่ยง (risk management) การบริหารด้านการเงิน (treasury operation) การดำเนินการและการจัดทำรายงานด้านภาษี (tax operation and reporting) โดยจากผลสำรวจพบว่า เกือบ 2 ใน 3 ขององค์กรที่สำรวจได้นำ AI มาใช้ในการจัดการงานด้านบัญชีและการวางแผนทางการเงินเนื่องด้วยการดำเนินการอย่างอัตโนมัติที่ขับเคลื่อนด้วย AI ช่วยทำให้การรายงานทางการเงินมีความแม่นยำมากขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพในการประมาณการ และให้ข้อมูลเชิงลึกแบบเรียลไทม์ที่ช่วยในการตัดสินใจได้ดียิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ในด้านการบริหารการเงินและการจัดการความเสี่ยง การนำ AI มาใช้มีแนวโน้มเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเกือบครึ่งหนึ่งขององค์กรที่เข้าร่วมสำรวจได้ใช้หรืออยู่ในระหว่างการทดลองนำ AI มาใช้ซึ่งช่วยให้องค์กรเหล่านั้นสามารถบริหารจัดการหนี้ คาดการณ์กระแสเงินสด ตรวจจับการทุจริต และประเมินความเสี่ยงด้านสินเชื่อ และวางแผนกลยุทธ์ทางการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
อย่างไรก็ตามการนำ AI มาใช้ในการดำเนินการและการรายงานด้านภาษียังมีความล่าช้ากว่าด้านอื่น เนื่องจากมีความท้าทายด้านกฎระเบียบ การอัปเดตข้อมูลให้ทันสมัย และความจำเป็นในการใช้วิจารณญาณของผู้เชี่ยวชาญ
ความท้าทายในการใช้ AI
แม้ AI จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความแม่นยำในการจัดการด้านรายงานทางการเงิน แต่องค์กรจำเป็นต้องบริหารจัดการความท้าทายต่างๆ อย่างมีระบบ ได้แก่ ความเสี่ยงด้านความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของข้อมูล โดยการจัดการข้อมูลทางการเงินด้วย AI มีความท้าทายและละเอียดอ่อน นอกจากนี้ การบูรณาการ AI เข้ากับส่วนประกอบอื่นๆ เช่น บริการคลาวด์และ API (Application Programming Interface) อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อภัยคุกคามทางไซเบอร์
นอกจากนั้น ยังมีความท้าทายเรื่องการขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะและความเชี่ยวชาญด้าน AI ซึ่งจากผลสำรวจพบว่า องค์กรที่นำ AI ไปใช้งานแล้วมากกว่าครึ่งหนึ่งต้องเผชิญกับการขาดแคลนผู้ที่มีความสามารถด้าน AI เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการขยายการใช้งาน AI ให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล รวมถึงต้นทุนการดำเนินการสูง: การลงทุนเริ่มต้นในโครงสร้างพื้นฐานและการใช้ AI มีมูลค่าสูงทำให้องค์กรที่มีข้อจำกัดส่วนนี้ลังเลที่จะลงทุน
ขณะเดียวกันผู้นำองค์กรต้องพิจารณาประเด็นสำคัญอื่นๆ ชึ่งมักจะถูกละเลยควบคู่กันไปด้วย ได้แก่ ความโปร่งใส เนื่องจากลักษณะการทำงานแบบ "กล่องดำ" (black box) ของ AI ที่มีความซับซ้อนและยากต่อการเข้าใจทำให้การตรวจสอบเป็นไปได้ยาก ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมถึงความยั่งยืน แม้ว่า AI จะมีศักยภาพในการช่วยแก้ไขปัญหาด้านความยั่งยืนแต่เป็นที่ทราบกันดีว่า การใช้ AI นั้นส่งผลให้เกิดการใช้พลังงานสูง ซึ่งสวนทางกับการดำเนินการตามเป้าหมายเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์
ปัจจัยการใช้ AI อย่างมีประสิทธิภาพ
การนำ AI มาใช้อาจจะสร้างความท้าทายให้แต่ละองค์กรในระดับหนึ่ง แต่หากมีการวางแผน กำหนดกลยุทธ์ และวางเป้าหมายอย่างชัดเจน รวมถึงพิจารณาถึงส่วนได้ส่วนเสียเป็นอย่างดีแล้วจะทำให้แต่ละองค์กรสามารถผนวก AI มาใช้ในกระบวนการจัดการรายงานทางการเงินได้อย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ
สำหรับปัจจัยสำคัญในการพิจารณาให้บรรลุเป้าหมาย ได้แก่ การเพิ่มงบประมาณการลงทุนในระบบสารสนเทศด้วยการอัดฉีดเพิ่มงบประมาณการลงทุนในงานระบบสารสนเทศและสนับสนุนให้มีการนำ AI มาใช้ในองค์กรอย่างแพร่หลาย เช่น จัดหาเครื่องมือที่ขับเคลื่อนด้วย AI ที่เหมาะสมกับการใช้งานแต่ละส่วน แต่ละแผนก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน
ขณะเดียวกันยังมีปัจจัยการลงทุนในทรัพยากรทั้งเครื่องมือและบุคลากรให้มีทักษะและความเชี่ยวชาญในการใช้ AI โดยองค์กรต้องมีนโยบายและแผนงานที่ชัดเจนในการจัดหาทรัพยากรและเครื่องมือ AI ที่เหมาะสมกับการใช้งานเฉพาะทาง รวมถึงการพัฒนาทักษะและขีดความสามารถของพนักงานในองค์กร การเฟ้นหาบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้าน AI หรือการว่าจ้างที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางเข้ามาช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับแผนกการเงิน
นอกจากนั้น การกำกับดูแลและตรวจสอบการทำงานควรให้ความสำคัญกับการกำกับดูแลการใช้ AI อย่างเป็นระบบ และทำการปรับปรุงข้อบกพร่องต่างๆ รวมทั้งมีมาตรการในการป้องกันไม่ให้เกิดความผิดพลาดขึ้นซ้ำอีก
สุดท้ายนี้การนำ AI มาใช้ในการจัดทำรายงานทางการเงินไม่ควรมุ่งหวังประสิทธิภาพและประสิทธิผลจากการทำงานสูงสุดเพียงอย่างเดียว แต่ผู้บริหารองค์กรจำเป็นต้องให้ความสำคัญอย่างมากกับธรรมาภิบาลของปัญญาประดิษฐ์ (AI Good Governance) โดยต้องมีนโยบายและระบบการกำกับดูแลที่ดี การสร้างกรอบการทำงานที่โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ และสอดคล้องกับกฎระเบียบ ข้อบังคับ และไม่ขัดต่อความรู้สึกของสังคม เพื่อให้องค์กรเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีนี้
บทความโดย : เจริญ ผู้สัมฤทธิ์เลิศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร KPMG ประเทศไทย เมียนมา และลาว
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : AI เขย่าโลกการศึกษา เมื่อการพัฒนามาพร้อมความท้าทาย
