"7 เทรนด์การลงทุน" ที่ภาคธุรกิจต้องเร่งทำ สร้างขุมพลังเพื่อการแข่งขันในโลกธุรกิจไร้พรมแดน - Forbes Thailand

"7 เทรนด์การลงทุน" ที่ภาคธุรกิจต้องเร่งทำ สร้างขุมพลังเพื่อการแข่งขันในโลกธุรกิจไร้พรมแดน

FORBES THAILAND / ADMIN
14 Jun 2022 | 01:09 PM
READ 2550

เมื่อภาคธุรกิจกำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายใหม่ที่ต้องรับมือทั้งกระแสดิจิทัลดิสรัปชัน และการแข่งขันอย่างดุเดือดในโลกธุรกิจไร้พรมแดนที่มี “ผู้เล่น” ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งจะมีเพียงผู้เข้มแข็งเท่านั้นที่สามารถแข่งขันและคว้าโอกาสทางธุรกิจได้

ความสำเร็จของธุรกิจที่มาจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น Grab ที่พัฒนาตัวเองจากแอปพลิเคชันเรียกรถแท็กซี่ สู่ Super App ที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในระดับภูมิภาคและตลาดไทย หรือ Netflix เจ้าตลาดแพลตฟอร์มดูหนังผ่าน Streaming ที่ได้รับความนิยมอย่างสูงจากคนไทย ยังมีธุรกิจอื่นๆ จากต่างประเทศทั้งที่เข้ามาแล้ว และกำลังจ่อคิวเข้ามาอีกมากมายเพื่อช่วงชิงพื้นที่ตลาด คำถามสำคัญ คือ “ภาคธุรกิจพร้อมแค่ไหนในศึกนี้” การสร้างความแข็งแกร่งให้กับ 4 แกนหลักในการทำธุรกิจที่ประกอบด้วย ลูกค้า ตัวองค์กร พนักงาน และพันธมิตร เพื่อใช้รับมือกับการแข่งขันทางธุรกิจในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลที่มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อน จึงเป็นสิ่งที่ภาคธุรกิจต้องเร่งทำก่อนถูกทั้งคู่แข่งและดิจิทัล ดิสรัปชัน จนอาจหายไปจากอุตสาหกรรมอย่างน่าเสียดาย ด้วยประสบการณ์และความเชี่ยวชาญทั้งในเรื่องธุรกิจและเทคโนโลยี ทาง บลูบิค ได้เปิดเผยถึง "7 เทรนด์การลงทุน" ที่ต้องลงมือทำในวันนี้ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และสร้างความได้เปรียบในการทำธุรกิจแบบไร้พรมแดน ดังต่อไปนี้ 1) Omni Channel Experience เป็นการเชื่อมโยงช่องทางการติดต่อสื่อสารกับลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นช่องทางออนไลน์หรือออฟไลน์ เพื่อสร้างประสบการณ์ซื้อสินค้าและบริการแบบไร้รอยต่อให้กับลูกค้า ที่พร้อมให้บริการในทุกช่องทาง เพราะประสบการณ์ไม่ดีอาจทำให้สิ่งที่องค์กรได้ลงทุนและตั้งเป้าหมายเพื่อสร้างความพึงพอใจให้กับผู้บริโภคไม่ว่าจะเป็น Mobile Application หรือช่องทางการเข้าถึงอื่นๆ นั้นอาจสูญเปล่าได้ ดังนั้นการลงทุนในเทคโนโลยีที่ทำให้องค์กรสามารถตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าในทุกช่องทางอย่างราบรื่นเป็นสิ่งที่ไม่อาจรอได้ เช่น Customer Data Platform (CDP) หรือ Marketing Automation เป็นต้น 2) Hyper-Personalization เทรนด์การทำการตลาดขั้นสุดที่ต้องเข้าใจลูกค้ามากกว่าที่เคย เพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลายและแตกต่างกันของลูกค้าแต่ละราย โดยหลักสำคัญในการทำ Hyper-Personalization คือ Data หรือ ข้อมูล ที่ภาคธุรกิจสามารถนำข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับลูกค้า ตลอดจนพฤติกรรมต่างๆ มาใช้ในการวิเคราะห์เพื่อนำเสนอสินค้าหรือบริการได้อย่างถูกต้อง ในช่องทางและกรอบเวลาที่เหมาะสม ดังนั้นการลงทุนในเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการความสัมพันธ์ลูกค้า หรือ Customer Relationship Management เช่น Salesforce และการวิเคราะห์ข้อขั้นสูง (Advanced Analytics) เป็นสิ่งที่ทุกธุรกิจจำเป็นต้องลงทุน เพื่อรักษาฐานลูกค้าเดิมและเพิ่มกลุ่มลูกค้าใหม่ 3) Cloud Computing การย้ายระบบ Infrastructure ส่วนหนึ่งไปไว้บนระบบ Cloud Computing เป็นเทรนด์สำคัญในการทำธุรกิจปัจจุบัน ซึ่งหนึ่งในข้อได้เปรียบของระบบ Cloud Computing คือผู้ใช้งานสามารถ วางแผนการใช้งานได้ล่วงหน้าด้วยการทำ Auto Scaling ที่สามารถเพิ่มหรือลดขนาดของเซิร์ฟเวอร์ได้ตามการใช้งานเป็นการลดต้นทุนด้านระบบ Infrastructure ขององค์กร และลดความเสี่ยงจากการสูญเสียโอกาสทางธุรกิจ นอกจากนี้ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านการบำรุงรักษาในระยะยาว อีกทั้งระบบ Cloud Computing ยังทำให้ธุรกิจมีความยืดหยุ่นแข็งแรงมากขึ้น และสามารถตอบโจทย์การทำงานในรูปแบบใหม่ที่กำลังเป็นกระแสนิยมอย่าง Work from Anywhere ได้อีกด้วย 4) Cyber Security ปัจจุบันโลกกำลังมุ่งเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มตัว โดยมีอาชญากรรมทางไซเบอร์เป็นเหมือนเงา และซุ่มรอโอกาสในการโจมตีเมื่อพบช่องโหว่ทางธุรกิจ ดังนั้นการลงทุนใน Cyber Security เพื่อปกป้องมูลค่าทรัพย์สินและความน่าเชื่อถือเป็นสิ่งที่หลายองค์กรให้ความสำคัญอันดับต้นๆ เพราะรูปแบบการโจมตีในปัจจุบันนี้ไม่ใช่แค่การขโมยข้อมูลเพียงอย่างเดียว แต่มีเป้าหมายในการจู่โจมที่หลากหลายและมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งสะท้อนให้เห็นแล้วจากหลายกรณีที่เกิดขึ้น ยกตัวอย่างกรณีล่าสุด คือ การล่มสลายของเหรียญ LUNA ซึ่งถูกโจมตีเพราะอัลกอริทึมที่ใช้ Balance มูลค่าของ LUNA กับ Stable Coin UST นั้นมีช่องโหว่ ทำให้ถูกโจมตีโดยแฮกเกอร์ที่เห็นโอกาส ดังนั้นการลงทุนเรื่อง Cyber Security จะต้องทำอย่างจริงจังทั้งในแง่การให้ความรู้แก่บุคลากร รวมถึงการปรับกระบวนการตรวจสอบ และการเลือกเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาใช้เพื่อยกระดับมาตรฐานความปลอดภัย เพราะความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการถูกโจมตีส่วนใหญ่ล้วนสร้างความเสียหายอย่างมหาศาล 5) Data-Driven Decision Making การตัดสินใจที่แม่นยำถือเป็นอีกหนึ่งความสามารถที่คนในองค์กร โดยเฉพาะผู้บริหารจำเป็นต้องมี และหนึ่งในเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยให้การตัดสินใจสามารถทำได้อย่างถูกต้องแม่นยำ คือ การทำ Data Architecture ที่เข้ามาสร้างมาตรฐานข้อมูลให้กับ Big Data ขององค์กร และการวิเคราะห์ขั้นสูงด้วยปัญญาประดิษฐ์ หรือ Artificial Intelligence (AI) ซึ่งปัจจุบันนี้การวิเคราะห์ข้อมูลทำได้ดีขึ้น สามารถวิเคราะห์ Unstructured Data อย่างไฟล์รูปภาพ วิดีโอ และไฟล์เสียงต่างๆ ทำให้หลายองค์กรสามารถทำ VDO Analytics เพื่อดู Foot Traffic จากกล้องวงจรปิดร้านค้า แล้วนำมาทำ Business Use Case ได้ 6) Agile Culture เป็นการสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่มีค่านิยมหลัก พฤติกรรม และการปฏิบัติเป็นพื้นฐาน และทำให้พนักงานทุกระดับในองค์การสามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ทั้งการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมและกลยุทธ์ได้ ซึ่งวัฒนธรรม Agile จะเปลี่ยนรูปแบบการทำงานขององค์กรจาก Silo เป็น Cross Function   ที่ทำให้พนักงานสามารถข้ามสายงาน และทำงานร่วมกันกับทีมอื่นๆ ในแต่ละโครงการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการทำงานรูปแบบนี้จะช่วยผลักดันให้พนักงานออกจาก Comfort Zone สู่ Study Zone เป็นการรีดประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน ยิ่งไปกว่านั้นวัฒนธรรมแบบ Agile ยังช่วยรับมือเทรนด์การทำงานที่กำลังเป็นกระแสนิยมอย่าง Hybrid Work Place และนี่คือเหตุผลว่าทำองค์กรจึงจำเป็นต้องมีการลงทุนในเทคโนโลยีที่ทำให้เกิดความการทำงานงานร่วมกันของคนในองค์กรทุกระดับชั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมี Agile Culture เป็นกลไกที่เข้ามาสนับสนุน 7) API Economy เมื่อมนุษย์ไม่อาจรุ่งเรืองได้ด้วยการแยกตัวออกจากคนอื่นฉันใด ในโลกการทำธุรกิจก็ฉันนั้น เพราะการเติบโตของธุรกิจอย่างยั่งยืน การวัดความเก่งกาจในการทำธุรกิจของผู้บริหารนั้น คือ การดึงศักยภาพธุรกิจของตัวเอง ร่วมกับธุรกิจอื่นๆ ของพันธมิตรได้ ดังนั้นการเชื่อมต่อธุรกิจต่างๆ เข้าด้วยกันจึงเป็นสิ่งที่องค์กรต้องเร่งทำการลงทุนพัฒนา API Economy ที่สามารถรองรับ Mobile Device และ Internet of Things โดยเฉพาะการเชื่อมต่อธุรกิจ หรือ B2B Integration ที่เปิดการเชื่อมต่อ APIs ให้พันธมิตรสามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ของระบบธุรกิจ เพื่อขยายช่องทางการเข้าถึงของลูกค้า และพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ร่วมกัน โดยเฉพาะการเชื่อมต่อแอปพลิเคชันขององค์กรกับพันธมิตร ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ที่สามารถสร้างประสบการณ์ในการซื้อสินค้าและบริการได้อย่างไร้รอยต่อ เป็นการสร้างโอกาสทางธุรกิจแก่องค์กรและพันธมิตร ที่จะสร้างการเติบโตร่วมกันได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ดังจะเห็นได้ว่า นอกจากการแข่งขันทางธุรกิจแล้ว การนำเทคโนโลยีมาใช้ในภาคธุรกิจนั้นกำลังทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ผู้บริหารหลายคนกำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายในการเลือกใช้เทคโนโลยี และผู้เชี่ยวชาญในแขนงต่างๆ อย่างไรให้ถูกต้องเหมาะสม ที่สามารถตอบโจทย์การใช้งานปัจจุบันและรองรับการพัฒนาในอนาคต และคุ้มค่าแก่การลงทุน ด้วยเหตุนี้ ที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญทั้งด้านธุรกิจและเทคโนโลยี จึงเป็นสิ่งที่เข้ามาเติมเต็มและช่วยรับมือกับปัญหาและกระแสความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ด้วยการใช้ประสบการณ์ธุรกิจที่หลากหลาย มุมมองและแนวคิดจากภายนอกเข้ามาเสริมความแข็งแกร่งและแก้ไขจุดอ่อนให้กับองค์กรได้ในทุกมิติ   บทความโดย พชร อารยะการกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine