6 เคล็ดลับการวางแผนสืบทอดธุรกิจครอบครัว - Forbes Thailand

6 เคล็ดลับการวางแผนสืบทอดธุรกิจครอบครัว

FORBES THAILAND / ADMIN
01 Mar 2021 | 07:22 AM
READ 3457

การส่งมอบธุรกิจควรทำในช่วงเวลาที่เหมาะสมและไม่ควรรีบทำเร็วเกินไป หากยังไม่มีการวางแผนที่ดี หรือไม่มีการเตรียมการล่วงหน้า แต่ที่ผ่านมายังคงมีหลายครอบครัวที่ผู้นำธุรกิจไม่ยอมวางมือปล่อยให้ลูกหลานขึ้นมารับผิดชอบแทนแม้จะอายุมากแล้ว

เนื่องจากยังมีความไม่ไว้ใจหรือเชื่อมั่นพอว่าธุรกิจที่สร้างขึ้นจากน้ำพักน้ำแรงของตัวเองจะได้รับการสืบทอดด้วยดีจากทายาท หรือมีความกังวลในการเลือกตัวผู้สืบทอด ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดขึ้นมาก็เพราะไม่ได้มีการเตรียมการวางแผนสืบทอด (Succession Plan) ไว้แต่เนิ่นๆ นั่นเอง จากประสบการณ์ของบริษัทที่ปรึกษาการจัดทำธรรมนูญครอบครัวสำหรับครอบครัวไทยจำนวนมากกว่า 40 ครอบครัวในช่วงหลายปีที่ผ่านมาสามารถสรุปข้อแนะนำเกี่ยวกับการส่งมอบธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ ดังต่อไปนี้  
  1. ควรเริ่มวางแผนสืบทอด และเริ่มลงมือทำให้เร็วที่สุด
โดยเปิดโอกาสให้ทายาทได้รับรู้เรื่องธุรกิจตั้งแต่ยังเด็ก และปลูกฝังประสบการณ์ที่ดีให้ซึมซับตลอดเวลา ดังเช่นในหลายครอบครัวที่ให้ของเล่นเกี่ยวข้องกับธุรกิจที่ทำ และปลูกฝังเรื่อยมาจนโต ซึ่งดีกว่าการให้ทายาทตั้งคำถามภายหลังว่า ใครเป็นคนได้หุ้น หรือใครได้เป็นผู้นำ ซึ่งหากไม่ได้มีการวางแผนไว้ล่วงหน้า 2 คำถามนี้ จะหาคำตอบได้ยากที่สุด และอาจทำให้เกิดกรณีพิพาทได้หากทายาทไม่ได้ตามที่ตัวเองคิดหรือหวังไว้ โดยถ้ามีการวางแผนไว้ล่วงหน้า หรือมีข้อตกลงบางอย่างให้รับทราบกันไว้ก่อน ก็จะช่วยลดการปะทะระหว่างกันเมื่อถึงเวลาต้องตัดสินใจ ดังนั้น การวางแผนสืบทอดควรเริ่มจากการปลูกฝังทายาทตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ให้รับรู้ธุรกิจที่ครอบครัวดำเนินการอยู่ และให้ทายาทเข้ามาฝึกงานในช่วงปิดเทอม ทั้งการทำงานในแผนกต่างๆ การตั้งโจทย์ให้ทายาทเข้าไปรับผิดชอบ การจำลองตั้งคณะกรรมการธุรกิจกรณีมีลูกหลานหลายคนเพื่อวางแผนตามที่ได้มอบหมาย รวมทั้งการสร้างทีมเวิร์กระหว่างพี่น้อง การทำ Coaching พี่สอนน้อง และการพูดคุยในโต๊ะอาหาร กรณีศึกษา: การปลูกฝังให้ทายาทได้ซึมซับในธุรกิจของครอบครัวมีความสำคัญอย่างมาก ดังเช่นกรณีตัวอย่างของครอบครัว A ที่สมาชิกรุ่น 3 ซึ่งกำลังเรียนจบ และถูกวางตัวให้เป็นผู้สืบทอดธุรกิจคนต่อไปจากบิดา โดยรู้ตัวตั้งแต่แรกว่าต้องเข้ามารับช่วงธุรกิจของตระกูลต่อจากบิดา แต่หากสามารถเลือกได้ สมาชิกรุ่น 3 ก็ต้องการทำธุรกิจของมารดามากกว่า เนื่องจากในช่วงที่ยังเป็นเด็กบิดาทำงานหนักจึงไม่มีเวลาเลี้ยงดู และปล่อยให้เป็นหน้าที่ของมารดา ในขณะเดียวกัน มารดาก็มีหน้าที่ดูแลธุรกิจครอบครัวของที่บ้านควบคู่กัน ทำให้มารดาต้องพาลูกไปวิ่งเล่นอยู่ที่โรงงานของครอบครัวทุกวันหลังเวลาเลิกเรียน ทั้งยังเคยช่วยพนักงานทำบัญชีหรือมีส่วนร่วมในกิจการของมารดา จนกระทั่งลูกรู้สึกซึมซับธุรกิจฝั่งครอบครัวของมารดามากกว่า ส่วนครอบครัว B เมื่อถึงเวลาที่จะต้องเข้ามาทำจริงจังหรือสืบทอดธุรกิจของครอบครัว ทายาทกลับรู้สึกอายเพื่อนว่า ธุรกิจของครอบครัวไม่ทันสมัยเหมือนของเพื่อน แต่ด้วยการปลูกฝังและเห็นบิดาทำงานหนักตั้งแต่ยังเล็ก จึงอดทนทำต่อ และทุกวันนี้ ก็ยืดอกยอมรับว่า รักและภูมิใจในธุรกิจครอบครัวมาก  
  1. สร้างข้อตกลงภายในครอบครัว
ควรมีการทำข้อตกลงในเรื่องแผนการสืบทอดธุรกิจ แผนการจ้างงาน แผนการเติบโตในหน้าที่การงาน และผลตอบแทนต่างๆ ที่จะได้รับในการทำงาน ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของหัวข้อสำคัญในธรรมนูญครอบครัว โดยเมื่อสร้างข้อตกลงได้แล้ว ให้แจ้งแก่สมาชิกทุกคนได้ทราบในรายละเอียดทั้งหมด สำหรับแผนงานดังกล่าว จะลงรายละเอียดตั้งแต่สมาชิกครอบครัวใครบ้างที่มีคุณสมบัติในการเข้ามาทำงาน เติบโต จากระดับปฏิบัติการ จนถึงระดับบริหาร และสามารถขึ้นเป็นผู้นำในธุรกิจครอบครัวได้เพื่อความละเอียด ครอบคลุม และสามารถนำมาใช้ได้จริง เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ควรให้ที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะในด้านนี้ให้คำแนะนำ จะช่วยได้มาก นอกจากนี้ เมื่อสมาชิกครอบครัวจบการศึกษาและมีความสนใจในธุรกิจครอบครัว ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถเดินเข้ามาทำงานได้เลย สมาชิกจะต้องศึกษาข้อตกลงในธรรมนูญครอบครัว ในหัวข้อแผนจ้างงาน และแผนสืบทอดอย่างละเอียด ว่ามีการกำหนดเงื่อนไขคุณสมบัติการเข้ามาทำงานอย่างไรบ้าง ตัวอย่างเช่น การศึกษาดีและตรงกับความต้องการของบริษัท การมีประสบการณ์งานจากภายนอกที่ไม่ได้รับความช่วยเหลือจากครอบครัวในระยะเวลาที่กำหนด ประสบการณ์สร้างธุรกิจด้วยตัวเอง ไม่ว่าจากเงินลงทุนของที่บ้าน หรือเงินทุนส่วนตัว ซึ่งถ้ามีความสามารถตรงตามที่บริษัทต้องการ จึงจะได้รับการพิจารณาในเรื่องผลตอบแทนพิเศษ ขณะเดียวกันยังพบว่า ในครอบครัวที่ไม่ได้มีการทำข้อตกลงกันมาก่อน สมาชิกครอบครัวที่สำเร็จการศึกษาแล้วส่วนใหญ่ จะเข้ามาทำงานทันทีเมื่อสำเร็จการศึกษา เนื่องจากบางครอบครัวกังวลว่าหากปล่อยให้ทายาทไปทำงานข้างนอก ก็อาจจะไม่กลับเข้ามาทำงานในธุรกิจของครอบครัว หรือบางครอบครัวอาจจะมีความกังวลเกี่ยวกับระยะเวลาที่ใช้ในการเรียนรู้กว่าจะสามารถทำงานได้จริง จากประสบการณ์ที่ได้พูดคุยกับหลายครอบครัวพบว่า ส่วนใหญ่สมาชิกที่มีประสบการณ์ทำงานข้างนอกมาก่อน กับสมาชิกที่ไม่เคยทำงานข้างนอก มักจะมีมุมมองหรือประสบการณ์ที่แตกต่างกัน โดยสมาชิกที่ทำงานข้างนอกมาก่อนจะมีประสบการณ์มากกว่า และมีการนำวิธีการใหม่ๆ มาใช้ในธุรกิจด้วย ส่วนสมาชิกที่ไม่เคยทำงานข้างนอกมาก่อนต้องอาศัยการเรียนรู้จากคนข้างในเท่านั้น ซึ่งสมาชิกจำนวนมากยังรู้สึกเสียดายที่เข้ามาทำงานในธุรกิจครอบครัวเร็วเกินไป ทำให้ไม่รู้รสชาติของการเป็นพนักงานที่ไม่มีสิทธิพิเศษว่าเป็นอย่างไร  
  1. สมาชิกครอบครัวควรได้รับการปฏิบัติเช่นเดียวกับพนักงานทั่วไป
เมื่อเข้ามาร่วมในธุรกิจครอบครัวแล้ว สมาชิกครอบครัวจะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบ แสดงความสามารถด้วยตัวเอง และได้รับการปฏิบัติเฉกเช่นพนักงานทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นการทำงานจริง รับผิดชอบจริง และอยู่บนพื้นฐานของเป้าหมายเดียวกับพนักงาน รวมทั้งการประเมินผลจริง หรือแบบ 360 องศา หรือใช้ KPI เดียวกันกับพนักงาน เช่นเดียวกับผลตอบแทนในรูปแบบต่างๆ จะต้องไม่มากกว่าพนักงานในตำแหน่งเดียวกัน โดยการเติบโตในหน้าที่การงานจะต้องเกิดจากความสามารถและศักยภาพของตัวเองเท่านั้น สำหรับในปัจจุบัน มีหลายครอบครัวที่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้มากขึ้น ด้วยความเข้าใจว่า หากต้องการให้ธุรกิจสามารถสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนและมีความเป็นมืออาชีพมากขึ้น ผู้ก่อตั้งหรือผู้นำธุรกิจจำเป็นต้องเฟ้นหาสมาชิกครอบครัวที่มีความสามารถจริง แต่หากไม่มีก็ต้องหามืออาชีพมาทำงานแทน อย่างไรก็ตาม หลายครอบครัวยังไม่ได้ยึดถือปฏิบัติในขั้นตอนนี้อย่างจริงจัง เช่น ไม่มีการประเมินผลงานแบบพนักงานทั่วไป การปรับขึ้นเงินเดือนยังไม่อยู่ในระดับเดียวกับพนักงาน หรือได้รับสิทธิพิเศษบางประการ ซึ่งการปฏิบัติดังกล่าวอาจส่งผลให้แนวทางการสืบทอดธุรกิจทำได้ไม่เต็มที่และขาดประสิทธิภาพ  
  1. การกำหนดผู้ตัดสินใจในเรื่องแผนสืบทอด
การกำหนดผู้ตัดสินใจในเรื่องแผนสืบทอด ควรต้องมีคณะกรรมการอย่างน้อย 2 คณะด้วยกันคือ คณะกรรมการด้านธุรกิจ ซึ่งประกอบด้วยคณะกรรมการสมาชิกครอบครัว และผู้บริหารมืออาชีพ รวมทั้งคณะที่เป็นสภาครอบครัว เพื่อช่วยในการพิจารณา เฟ้นหา ประเมินผล ลูกหลานของสมาชิกในแต่ละสายที่สามารถขึ้นมาเป็นผู้นำได้  
  1. การวางแผนเกษียณอายุ
ต้องมีการวางแผนสำหรับการเกษียณอายุของผู้นำ และต้องยึดถือเวลาอย่างแน่วแน่ การมีแผนเกษียณอายุผู้นำ หมายถึงการมีแผนสืบทอด พร้อมกำหนดระยะเวลาที่เหมาะสมในการก้าวลงจากตำแหน่ง เพื่อให้มีเวลาเตรียมตัวสำหรับทำแผนส่งมอบแก่สมาชิกครอบครัว โดยผ่านกระบวนการสรรหาตามที่ได้ทำข้อตกลงกันในธรรมนูญครอบครัว  
  1. แผนรองรับกรณีสมาชิกครอบครัวยังไม่พร้อม
บางครั้งจังหวะเวลาของสมาชิกครอบครัว อาจยังไม่พร้อมในเวลานั้น ทั้งเรื่องอายุ ประสบการณ์ หรือความสามารถ ซึ่งต้องใช้เวลาสั่งสมกันอีกช่วงหนึ่ง ดังนั้น ธุรกิจครอบครัวจึงควรเตรียมแผนรองรับ (Contingency Plan) ไว้ เช่น การเปิดโอกาสให้มืออาชีพเข้ามาบริหารงานแทนสมาชิกถ้าสมาชิกยังไม่พร้อม หรือในทางกลับกัน หากเป็นครอบครัวที่ใช้มืออาชีพเป็นผู้นำ แต่เมื่อมีเหตุการณ์เฉพาะหน้าบางอย่าง บางครอบครัวก็ตัดสินใจส่งสมาชิกครอบครัวขึ้นแทน   นิรัต กาญจนาคพันธุ์ นิรัต กาญจนาคพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท เฟิร์ม จำกัด ผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษาและออกแบบธรรมนูญครอบครัว   อ่านเพิ่มเติม:
อ่านบทความและเรื่องราวรอบโลกแบบเต็มๆ ได้ที่ นิตยสาร ForbesLife Thailand ฉบับพิเศษ ฉบับเดือนธันวาคม 2563