5 เมกะเทรนด์บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนปี 2020 - Forbes Thailand

5 เมกะเทรนด์บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนปี 2020

FORBES THAILAND / ADMIN
03 Aug 2020 | 07:55 AM
READ 4364

ในปี 2563 นับเป็นปีหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญสำหรับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (sustainable development goals: SDGs) 17 ข้อ ซึ่งสหประชาชาติได้เริ่มนำมาใช้ตั้งแต่ปี 2558 และตั้งเป้าหมายบรรลุผลสำเร็จภายในปี 2573

โดยเรียกอีก 10 ปีข้างหน้านี้ว่า “ทศวรรษแห่งการลงมือทำ” (decade of action) ยิ่งเมื่อเกิดวิกฤตโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก ยิ่งทำให้ทุกฝ่าย โดยเฉพาะภาคธุรกิจต้องช่วยกันลงแรงอย่างเต็มที่ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน มิฉะนั้น โลกจะต้องเผชิญวิกฤตด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงยิ่งขึ้นไปอีก เพราะจะยังมีความเปลี่ยนแปลงอีกมากที่กำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบกับตัวเรา คนรอบข้างและธุรกิจทั้งหมด สำหรับการเตรียมการเพื่อรับมือความเปลี่ยนแปลงในอนาคต โดยเฉพาะช่วง 10 ปีข้างหน้านี้ การลงทุนที่มีศักยภาพและคุ้มค่าที่สุดเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนคือ การลงทุนด้านบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี การสร้างบุคลากรให้มีความคิดสร้างสรรค์และสามารถต่อยอดเพิ่มมูลค่าแก่ธุรกิจได้อยู่ตลอดเวลา ซึ่งสิ่งสำคัญอยู่ที่ความเข้าใจในการสร้างคุณค่าให้สังคมและสิ่งแวดล้อมควบคู่กัน โดยควรช่วยกันปลูกฝังความคิดบวก และการเกื้อกูลกันให้มีความสงบสุข ตั้งแต่ระดับครอบครัว สังคม และเศรษฐกิจของประเทศ นอกจากนั้น สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย นำโดย ศุภชัย เจียรวนนท์ นายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย ยังได้จัดทำข้อมูล “5 แนวโน้มสำคัญเพื่อจะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนปี 2563” หรือ “5 SDGs mega trend 2020” เพื่อจะช่วยให้ธุรกิจเข้าใจการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของโลก และสามารถกำหนดทิศทางในการขับเคลื่อนองค์กรสู่ความยั่งยืน พร้อมเป็นผู้แทนจากไทยและภาคธุรกิจเพียงคนเดียวเข้าร่วมหารือภายใต้หัวข้อ “การทบทวนความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นพร้อมปูทางสู่การฟื้นตัว” (reflections on change & roadmaps to recovery) ในพิธีเปิดการฉลองครบรอบ 20 ปี United Nations Global Compact   ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (Business and Human Rights) UN Global Compact Progress Report 2019 สำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารจาก 40 อุตสาหกรรมใน 107 ประเทศ พบว่า 91% ของบริษัทมีนโยบายและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน อย่างไรก็ตาม การป้องกันไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนในธุรกิจยังได้รับความสนใจน้อยกว่าเมื่อปี 2561 ซึ่งการละเมิดสิทธิมนุษยชนในสายการผลิตยังถือว่าเป็นความเสี่ยงสำคัญที่องค์กรธุรกิจสามารถลดความเสี่ยงนี้ได้ ด้วยการปฏิบัติตาม “หลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ” ซึ่งได้ตั้งความคาดหวังให้การเคารพสิทธิมนุษยชนของธุรกิจเป็นมากกว่าการทำตามข้อบังคับกฎหมาย แต่เป็นการปฏิบัติในเชิงรุกและเชิงป้องกันรวมถึงการเยียวยาแก่ผู้ถูกละเมิดสิทธิ และความคาดหวังให้ธุรกิจรับผิดชอบตลอดห่วงโซ่อุปทาน สำหรับประเทศไทยถือเป็นเรื่องน่ายินดีที่เมื่อปลายปี 2562 รัฐบาลไทยได้ประกาศ “แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน” ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2562-พ.ศ. 2565) เป็นฉบับแรกในภูมิภาคเอเชีย อันจะช่วยให้ทุกภาคส่วนทำงานไปในทิศทางเดียวกันอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น   การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการก้าวเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Climate & Low Carbon Society) องค์กรอุตุนิยมวิทยาโลกเปิดเผยว่า เฉพาะปี 2562 เพียงปีเดียวอุณหภูมิโลกก็สูงกว่าช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรมถึง 1.1 องศาเซลเซียสแล้ว และผลกระทบจากภัยพิบัติอันมีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปีนี้น่าจะยิ่งรุนแรง และส่งผลกระทบกับธุรกิจมากขึ้น ดังนั้น ในปี 2563 จึงควรเน้นที่ “การบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” โดยรัฐบาลประเทศต่างๆ ต้องกำหนดนโยบายเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ขณะที่ภาคธุรกิจควรเดินหน้าลงทุนในธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน เช่น การพัฒนากลไกทางการเงินอันจะช่วยลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปรับวิถีการใช้ชีวิต การทำงาน และการเดินทางเป็นต้น   พลาสติกและการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียน (Plastic & Circular Economy) นับตั้งแต่ปี 2533 การผลิตพลาสติกทั่วโลกเพิ่มขึ้นมากกว่า 3 เท่าตัว โดยในปี 2561 มียอดการผลิต 359 ล้านตัน จากการศึกษาพบว่า พลาสติกมากกว่า 90% ที่ผลิตในโลกไม่ได้เข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล แต่กลับถูกทิ้งอยู่ในทะเลและมหาสมุทรในที่สุด อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาได้เห็นความพยายามลดการใช้พลาสติกทั่วโลกโดยในช่วง 1-2 ปีมานี้ ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) ที่เน้นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าสูงสุดได้รับการยอมรับจากภาคธุรกิจมากขึ้น โดยเศรษฐกิจหมุนเวียนนี้อาจจะเป็นทางออกในการพัฒนานวัตกรรมเพื่อช่วยเปลี่ยนขยะพลาสติกให้กลายเป็นวัตถุดิบทดแทนเพื่อลดปัญหาขยะพลาสติก รายงานประจำปีของ New Plastics Economy Global Commitment ฉบับแรกโดย Ellen MacArthur Foundation และ UN Environment Programme ได้ระบุด้วยว่า องค์กรธุรกิจชั้นนำได้ลดการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติก และจะเพิ่มการใช้พลาสติกรีไซเคิลมาทำบรรจุภัณฑ์มากกว่า 5 เท่าภายในปี 2567 ดังนั้น กระแสขับเคลื่อน “no plastic movement” ในระดับโลกจึงเป็นอีกความเคลื่อนไหวที่น่าจับตามากที่สุด และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสำคัญในโลกธุรกิจ   การเงินและการลงทุนที่ยั่งยืน (Sustainable Finance and Investment) ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจได้นำเรื่องการเงินและการลงทุนแบบยั่งยืนที่ให้ความสำคัญกับประเด็นสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (environment society and governance หรือ ESG investment) ไปประกอบการตัดสินใจทางธุรกิจและกลยุทธ์การลงทุนมากขึ้น เนื่องจากปัจจัยเหล่านี้สามารถส่งผลต่อการดำเนินงานขององค์กรอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งหากมีการละเมิดแล้วก็นับเป็นความเสี่ยงขององค์กรโดยข้อมูลจาก The FiscalNote Executive Institute ระบุว่า ทรัพย์สินที่บริหารภายใต้การลงทุนตามแนวคิด ESG ทั่วโลก มีมูลค่ามากกว่า 20 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งการเติบโตของการเงินและการลงทุนบนพื้นฐาน ESG จึงเป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะช่วยสร้างแรงจูงใจสู่การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต   นวัตกรรมทางเทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืน (Technological Innovation for Sustainability) นวัตกรรมทางเทคโนโลยีถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะพาโลกไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน เช่น การนำระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อแก้ปัญหา การผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าเพื่อลดการใช้พลังงานจากน้ำมันปิโตรเลียมและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม การพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพเพื่อเกษตรกรรมแบบยั่งยืน หรือการพัฒนาเมล็ดพลาสติกแบบชีวภาพเพื่อผลิตขวดนํ้าดื่มแบบใช้ครั้งเดียวและสามารถย่อยสลายได้ง่าย ซึ่งการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีมาใช้อย่างเหมาะสมจะทำให้เราสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงบนโลกนี้ได้ เพื่อแก้ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม   ทั้งหมดนี้คือ 5 แนวโน้มสำคัญในปี 2563 ซึ่งเป็นโจทย์ใหม่ที่ธุรกิจต้องปรับตัว และประเมินความเสี่ยง รวมถึงผสานสิ่งเหล่านี้ไว้ในกลยุทธ์ความยั่งยืนขององค์กรเนื่องจากการวางกลยุทธ์ธุรกิจที่มีความยั่งยืนดังกล่าวเป็นมากกว่าการเตรียมความพร้อมรับมือ หากแต่ยังเป็นการมองไปข้างหน้าเพื่อหาโอกาสใหม่ๆ เพื่อต่อยอดธุรกิจที่จะเอื้อประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมด้วย   ธันยพร กริชติทายาวุธ ผู้อำนวยการสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย  
คลิกอ่าน บทความด้านธุรกิจได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนกรกฎาคม 2563 ในรูปแบบ e-magazine