5 หลักบริหารองค์กรคนรุ่นใหม่ - Forbes Thailand

5 หลักบริหารองค์กรคนรุ่นใหม่

FORBES THAILAND / ADMIN
21 Dec 2020 | 07:11 AM
READ 3076

ในธุรกิจที่บุคลากรส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ที่มีค่าเฉลี่ยอายุประมาณ 28 ปีเท่านั้น ทั้งยังเป็นธุรกิจที่ต้องใช้ความรวดเร็วในการจัดส่ง หรือการทำงานจากทีมงานเป็นจำนวนมาก ทำให้การบริหารทรัพยากรบุคคลถือเป็นเรื่องสำคัญในการรักษาคุณภาพของการบริการควบคู่กับการสร้างการเติบโตทางธุรกิจ

จากประสบการณ์ทำงานที่ผ่านมาในธุรกิจที่เน้นการให้บริการและความรวดเร็วเป็นหัวใจสำคัญ นับตั้งแต่เริ่มต้นธุรกิจในประเทศไทยเมื่อปี 2549 ทำให้สามารถสรุปหลักการทำงานในองค์กรของคนรุ่นใหม่ 5 ข้อ ซึ่งเป็นหลักการธรรมดาที่ผู้บริหารองค์กรสามารถนำไปปรับใช้ได้ในด้านการบริหารและการทำงาน ดังนี้  
  1. พวกเราไม่ใช่ Steve Jobs
Steve Jobs ถือเป็นบุคคลอัจฉริยะที่ได้รับการยกย่องในฐานะผู้พลิกวงการไอที และสร้างอาณาจักร Apple ที่ประสบความสำเร็จและได้รับความนิยมใช้งานทั่วโลก แต่ในความเป็นจริงไม่ใช่ทุกคนจะเป็นได้ดังเช่น Steve Jobs ซึ่งการยอมรับถึงความสามารถแท้จริงของบุคลากรในองค์กรนับว่าเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเกี่ยวเนื่องถึงความเข้าใจในการทำงานของทีมงานและมุมมองที่เปิดกว้างต่อการบริหารในวิธีการทำงานแบบธรรมดามากกว่าจะมองหาความพิเศษที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้จริงเพียงเล็กน้อย นอกจากนั้น การสร้างวัฒนธรรมองค์กรในลักษณะ “น้ำไม่เต็มแก้ว” ยังเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม เพื่อให้การทำงานสามารถพัฒนาได้อย่างต่อเนื่องทั้งการเปิดรับความรู้และความคิดใหม่ๆ ช่วยให้การทำงานมุ่งโฟกัสไปยังวิธีการธรรมดาได้ง่ายขึ้น  
  1. ใช้ Common Sense และเหตุผล
กว่า 99% ของงานที่ผู้บริหารทำทุกวันล้วนใช้แต่ common sense ซึ่งหมายถึงความเรียบง่าย ด้วยประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในธุรกิจที่ผ่านมาทำให้ผู้บริหารสามารถตกผลึกทางความคิดพร้อมทั้งพิจารณาตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ได้อย่างเป็นธรรมชาติในเวลาอันรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม งานอีก 1% ที่เหลือควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของผู้เชี่ยวชาญแก้ปัญหาต่อ ดังประโยคที่ว่า “งานที่ยุ่งเหยิงเป็นภาพสะท้อนของความคิดยุ่งเหยิง” ในทางกลับกันงานที่ออกมาดีก็ย่อมเกิดจากความคิดที่สมเหตุสมผล ส่งผลให้ปัจจุบันบริษัทสามารถพัฒนาการบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้บริการได้อย่างครอบคลุม ด้วยจุดให้บริการกว่า 10,000 แห่งทั่วประเทศ และพัสดุที่จัดส่งมากกว่า 1.1 ล้านชิ้นต่อวัน โดยมีลูกค้ารายสำคัญอย่างบริษัทการค้าระหว่างประเทศ บริษัทอี-คอมเมิร์ซ การขายสินค้าผ่านสื่อโทรทัศน์ หน่วยงานด้านเทคโนโลยี บริษัทโทรคมนาคม สถาบันการเงิน โรงเรียนตลอดจนร้านค้าปลีกต่างๆ ขณะเดียวกันผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญยังสามารถผสมผสานหลักการคิดแบบเรียบง่ายเข้ากับการใช้เหตุผลของผู้เชี่ยวชาญ สร้างสรรค์การให้บริการผ่านช่องทางต่างๆ ที่ช่วยเสริมสร้างความสะดวกสบายในการใช้บริการ โดยเฉพาะกลุ่มบุคคล-ส่งถึง-บุคคล (C2C) ด้วยการเปิดให้บริการสาขาหรือร้านพาร์เซลช็อป (parcel shop) รวมถึงบริการผ่านทางตู้ล็อกเกอร์ตามอาคารสำนักงานและคอนโดมิเนียม ซึ่งจุดให้บริการต่างๆ เหล่านี้ จะช่วยให้ผู้ใช้บริการและร้านค้าขนาดเล็กในกรุงเทพฯ สามารถส่งสินค้าได้สะดวกสบายมากขึ้น พร้อมการให้บริการเรียกเก็บเงินปลายทาง (COD) ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทยที่ได้รับการยอมรับในระดับภูมิภาค  
  1. สื่อสารให้เข้าใจง่าย
ผู้บริหารหลายองค์กรที่เป็นผู้มีความรู้และความสามารถแต่ยังติดกับดักของคนเก่ง โดยพยายามประดิดประดอยคำศัพท์สวยหรูในการสื่อสารกับทีมงาน ทั้งยังกำหนดแนวทางการดำเนินการที่มีความซับซ้อน เพียงเพื่อให้ได้รับการยอมรับในความรู้และความสามารถของผู้บริหารส่งผลให้เกิดปัญหาใหญ่ตามมาภายหลัง เนื่องจากผู้ฟังหรือทีมงานไม่เข้าใจโจทย์ที่ได้รับ และไม่สามารถนำไปปฏิบัติการได้ ดังนั้น การสื่อสารจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้บริหารไม่อาจมองข้าม และควรโฟกัสไปยังการสื่อสารเพื่อตัวงานเป็นหลักมากกว่าการห่วงภาพลักษณ์ของตัวเอง โดยมุ่งเน้นการใช้คำพูดที่ผู้ฟังสามารถเข้าใจได้ง่ายเพื่อการส่งมอบงานได้อย่างถูกต้อง ตอบโจทย์ที่ต้องการ และไม่ผิดพลาดจากความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนในภายหลัง ตัวอย่างการให้ความสำคัญของการสื่อสารที่เข้าใจได้ง่าย เช่น การสื่อสารภาพลักษณ์ใหม่ของบริษัทในปีที่ 14 ซึ่งมุ่งเน้นความทันสมัย เข้าถึงง่าย และความสร้างสรรค์มากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของคนไทยในยุคดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นแคมเปญ Keep Calm and Kerry On โดยเป็นแคมเปญแรกของบริษัทที่เน้นสื่อสารเพื่อปรับภาพลักษณ์แบรนด์ครั้งใหญ่ด้วยการสร้างอารมณ์ ความรู้สึกในการปรับเปลี่ยนมุมมองของผู้บริโภคที่มีต่อแบรนด์ให้มีความเป็นไลฟ์สไตล์มากขึ้นพร้อมฉีกภาพของแบรนด์ขนส่งพัสดุที่เข้าถึงยากให้สนุกสนานมากขึ้น ขณะเดียวกันบริษัทยังได้มีการปรับเปลี่ยนดีไซน์กล่องพัสดุให้มีสีสันสดใสสะท้อนภาพลักษณ์แบรนด์ พร้อมใส่ข้อความเชิงสร้างสรรค์เป็นสื่อกลางจากแบรนด์สื่อสารไปยังผู้รับและผู้ส่งเพื่อสร้างความเป็นมิตรและภาพลักษณ์ในเชิงบวก ซึ่งบริษัทยังวางแผนสื่อสารการตลาดอย่างต่อเนื่องในการตอกย้ำความเป็นแบรนด์ที่สามารถเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้บริโภคให้สำเร็จ  
  1. ลดเวลาประชุม
ปัญหาร่วมของหลายองค์กรเกิดจากการใช้เวลาหมดไปกับการเตรียมการประชุมการจัดเตรียมรายงาน และการประชุมเป็นเวลาหลายชั่วโมงหรือหลายวันในสัปดาห์แทนที่จะใช้เวลาเหล่านั้นไปกับการทำงานที่ต้องทำจริง ส่งผลให้การทำงานล่าช้าหรือไม่มีประสิทธิภาพมากเท่าที่ควร เพราะฉะนั้น ในการบริหารองค์กรที่เต็มไปด้วยคนรุ่นใหม่ ซึ่งมุ่งเน้นความรวดเร็วในการทำงานจึงควรพยายามลดเวลาการประชุมให้น้อยลง โดยตัดการประชุมและรายงานที่ไม่จำเป็นออกไป เพื่อให้นำเวลาเหล่านั้นไปทำงานที่ต้องทำดีกว่าการนั่งจัดทำรายงาน หรือเสียเวลาในห้องประชุม   5. เห็นอกเห็นใจ แม้จะเป็นบอสใหญ่แค่ไหน แต่ขอให้รู้ไว้ว่า ไม่ใช่ลูกน้อง ลูกค้า คู่ค้า พาร์ตเนอร์ ทุกคนที่ยกให้บอสเป็นบุคคลสำคัญ ซึ่งสิ่งที่ควรจะทำคือ การอยู่ข้างๆ ทีมงาน และพยายามเข้าใจบุคลากรในองค์กร เช่น ปัญหาติดขัด อุปสรรคการทำงานต่างๆ เพื่อช่วยเหลือทีมงานอย่างเต็มที่ นอกจากนี้ ในการทำธุรกิจยังควรคำนึงถึงการสร้างประโยชน์ให้กับสังคมและประเทศควบคู่กัน เช่น โครงการ Kerry Express Grow Green ซึ่งใช้มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าในการจัดส่งพัสดุที่เริ่มต้นเฟสแรกในพื้นที่กรุงเทพฯ ตามนโยบายประหยัดพลังงาน รักษาสิ่งแวดล้อม และแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งเป็นแบบอย่างให้กับภาคอุตสาหกรรมต่อไป แม้หลักการบริหารองค์กร 5 ข้อดังกล่าว จะเหมือนหลักการทำงานธรรมดาทั่วไปที่ไม่ได้ดูสวยหรูในแบบฉบับของผู้บริหาร แต่เชื่อว่า ในความธรรมดาเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผู้บริหารส่วนใหญ่ปฏิบัติกันอยู่ทุกวัน เพียงแต่ต่างกันที่วิธีการเท่านั้น ซึ่งโดยส่วนตัวยังเชื่อในแนวทางการบริหารที่เรียบง่ายและธรรมดา พร้อมยึดเป็นหลักสำคัญในการทำงานตลอดเส้นทางการบริหารธุรกิจเพื่อการเติบโตที่ยั่งยืน   Alex Ng Alex Ng กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)     อ่านเพิ่มเติม:  10 สิ่งที่น่าจับตาในปี 2021
คลิกอ่านฉบับเต็มบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2563 ในรูปแบบ e-magazine