ไทยมีศักยภาพดึงดูดนักลงทุนต่างชาติมากกว่าสิงคโปร์
ช่วงนี้หลายคนอาจมองว่าเศรษฐกิจไม่ดี ค้าขายไม่ค่อยได้ แต่แท้จริงแล้วเงินไม่ได้หายไปไหนยังวนเวียนอยู่ในประเทศและเป็นจำนวนมาก ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่าปัจจุบันประเทศไทยมี เงินรับฝากประเภทออมทรัพย์ 6,400,744,000,000 ( หกล้านสี่แสนล้านบาท ) ธนบัตรที่หมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจ 1,528,340,000,000 ( หนึ่งล้านห้าแสนล้านบาท ) เงินรับฝากประเภทประจำก็มีสูงถึง 4,292,745,000,000 ( สี่ล้านสองแสนล้านบาท ) เห็นได้ว่าสภาพคล่องในประเทศยังมีจำนวนมาก แต่ยังไม่ถูกนำออกมาใช้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจจริง เพราะไม่รู้ว่าจะนำเงินไปลงที่ไหน
ในแง่การลงทุน ท่ามกลางภาวะดอกเบี้ยที่ต่ำติดดิน คนไทยส่วนหนึ่งจึงติดกับดักผลตอบแทนปลอม (Fake Yield) ที่ถูกโฆษณาชวนเชื่อตามสื่อออนไลน์ชักจูงให้เข้าไปลงทุนโดยหวังผลตอบแทนที่สูง แต่สุดท้ายเป็นเพียงแค่แชร์ลูกโซ่ สาเหตุที่คนกลุ่มนี้สามารถชักจูงผู้คนได้ก็เพราะตัวเลขผลตอบแทนที่สูงซึ่งหาได้ยากในยุคนี้ ส่วนภาคเศรษฐกิจจริง ต้องการการลงทุนโครงการใหญ่จากภาครัฐ ต่อด้วยภาคเอกชนเป็นผู้ลงทุนต่อ ก็จะเกิดการบริโภคตามมา เศรษฐกิจก็จะสามารถฟื้นตัวได้
ในมุมมองของผม การนำบริษัทเอสเอ็มอีหรือขนาดกลางเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เป็นวิธีการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ทางหนึ่ง เพราะใน Eco System ของการนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ล้วนแต่เป็นผลบวกต่อทั้งภาคเศรษฐกิจจริงและภาคการลงทุนในตลาดหุ้น
ข้อมูลที่สำคัญข้อหนึ่งจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยระบุว่า ปัจจุบัน 66% ของบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ใน SET และ Mai มูลค่าตลาดรวมกว่า 1.7 ล้านล้านบาท เป็นธุรกิจครอบครัว ซึ่งถือว่ามีสัดส่วนค่อนข้างสูง แต่ยังมีธุรกิจครอบครัวอีกจำนวนมากที่ยังไม่นำธุรกิจเข้ามาจดทะเบียน จากประสบการณ์ของผมที่ได้สัมผัสมาพบว่าธุรกิจครอบครัวส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจกลไกของตลาดทุน เช่นกังวลว่าจะเสียอำนาจการบริหาร ไม่อยากเสียภาษีเต็มจำนวน ฯลฯ ตรงจุดนี้ ผมมองว่าเราสามารถแก้ไขได้โดยการให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องกับเจ้าของกิจการ และช่วยเป็นที่ปรึกษาให้กับพวกเขาได้เข้าสู่ Eco System ของตลาดทุนให้ได้
ลองคิดดูว่าถ้าเรานำธุรกิจที่มีศักยภาพทั้งในด้านงบการเงินและการขยายตลาดเข้ามาในตลาดทุน เราจะได้ประโยชน์อะไรบ้าง ที่ชัดเจนคือนักลงทุนจะได้ซื้อหุ้นที่มีคุณภาพ ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะได้สินค้าดีๆ มาให้เลือกลงทุน ต่างชาติจะหันมาสนใจบริษัทในประเทศไทย ซึ่งผมจะเล่าถึงมุมมองของนักลงทุนต่างชาติที่มีต่อประเทศไทยในครั้งต่อไป
เศรษฐกิจภาพรวม ประเทศไทยจะสามารถเก็บภาษี Corporate Tax นำมาใช้พัฒนาประเทศได้อีกมาก และจะเกิดการลงทุนของภาคเอกชนอีกมหาศาล ส่วนผู้ประกอบการเอง ก็จะได้แหล่งเงินทุนต้นทุนต่ำมาใช้ขยายธุรกิจ รวมถึงวิศวกรรมทางการเงินอื่นๆมาใช้ Leverage กิจการ เช่น การเพิ่มทุน การออกหุ้นกู้ การตั้งกองทุน Reits,กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน ฯลฯ
เมื่อเห็นแล้วว่าการนำกิจการเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นมีแต่ผลดี ผมจึงได้จัดตั้ง โครงการ Super Corporations ขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางในการประสานงานระหว่างบริษัทเอกชนที่มีคุณภาพกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด อย่างเช่น บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน บริษัทที่ปรึกษากฎหมาย บริษัทตรวจสอบบัญชี และเจ้าของบริษัทมหาชนที่จะมาเป็นพี่เลี้ยง จุดประสงค์หลักคือการปั้นบริษัทดีๆ เข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยมุ่งเน้นไปที่ตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอเป็นหลัก เพราะเป็นแหล่งระดมทุนอย่างเป็นทางการของบริษัทขนาดกลางและเอสเอ็มอีที่ขนาดธุรกิจยังไม่ใหญ่มาก
โครงการนี้อาจเป็นแหล่งระดมทุนให้กับกิจการที่มีศักยภาพโดยนักลงทุนและกองทุนระดับประเทศและต่างชาติพร้อมจะใส่เงินให้ถ้ากิจการของคุณเป็นของจริง หรืออย่างน้อยก็มารับความรู้ไปก่อนว่าการเข้าตลาดหุ้นดีอย่างไร ช่วยหนุนกิจการของตัวเองได้อย่างไร
ประเทศไทยเรา พึ่งพาตลาดเงินหรือสินเชื่อธนาคารในการขยายธุรกิจค่อนข้างมาก สมควรที่จะพัฒนาตลาดทุนโดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจขนาดกลางและเอสเอ็มอีให้มากกว่านี้ รับรองได้ว่าทุกภาคส่วนตั้งแต่นักลงทุน เจ้าของธุรกิจ ตลาดทุนและเศรษฐกิจของประเทศจะได้ประโยชน์แน่นอน ด้วยสภาพคล่องในระบบที่มีค่อนข้างมาก
หากเรานำบริษัทขนาดกลางและเอสเอ็มอีเข้ามาสู่ Eco System ของตลาดทุนได้มากกว่านี้ ประเทศไทยจะมีศักยภาพในการดึงดูดการลงทุนของต่างชาติได้มากกว่าสิงคโปร์อย่างแน่นอน เพราะเขาเป็นเพียง Hub ด้านการเงินและการค้า แต่สภาพคล่องในระบบการเงินและศักยภาพในเชิงเศรษฐกิจจริงไม่น่าจะสู้เราได้ ขอเพียงพัฒนาให้ตรงจุด ประเทศเราไปได้ไกลแน่นอน