โควิด-19 ไม่ได้จบแค่ ‘โอไมครอน’ ธีมเฮลท์แคร์และจีโนมิกส์ไม่หยุดเติบโต - Forbes Thailand

โควิด-19 ไม่ได้จบแค่ ‘โอไมครอน’ ธีมเฮลท์แคร์และจีโนมิกส์ไม่หยุดเติบโต

FORBES THAILAND / ADMIN
20 Dec 2021 | 04:00 PM
READ 1789

หลายคนคงเตรียมตัวท่องเที่ยวส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่กันแล้ว จากการฉีดวัคซีนที่ครอบคลุมจนเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ แต่ไม่ทันจะได้เปิดพรมแดนกันอย่างจริงจัง ทั่วโลกก็เริ่มปั่นป่วนอีกครั้งกับโควิด-19 สายพันธุ์ ‘โอไมครอน’ (Omicron) ทำให้นักลงทุนต้องเตรียมรับมือกับความผันผวนที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

สิ่งที่น่าจับตามองคือ สายพันธุ์โอไมครอนที่พบครั้งแรกทางตอนใต้ของแอฟริกาได้รับการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขของแอฟริกาใต้ว่า มีการกลายพันธุ์ของยีนรวมกว่า 50 จุด คาดการณ์ว่าน่าจะแพร่ระบาดได้รวดเร็วและง่ายขึ้น  แม้แต่องค์การอนามัยโลก (WHO) ก็ยังไม่แน่ใจว่า ยาและวัคซีนยี่ห้อต่างๆ ที่มีอยู่ในตอนนี้จะสามารถยับยั้งหรือป้องกันอาการรุนแรงของโรคจากการกลายพันธุ์ครั้งนี้ได้หรือไม่  หลายประเทศเริ่มประกาศมาตรการงดรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากแอฟริกา ซึ่งหมายความว่า หากพบผู้ป่วยมากขึ้น แผนการเปิดพรมแดนต้อนรับนักท่องเที่ยวของหลายๆ ประเทศอาจต้องชะงักงันไป  แม้ว่านักวิทยาศาสตร์หลายคนออกมาแสดงความคิดเห็นว่า อย่าวิตกกังวลมากเกินไป เพราะเชื่อว่าการตรวจพบเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ได้เร็ว จะช่วยให้ควบคุมการแพร่ระบาดได้เร็วขึ้น และมั่นใจว่า ทุกประเทศมีประสบการณ์การควบคุมโรค มียาและวัคซีนที่มีประสิทธิภาพเพียงพอกับการยับยั้งความรุนแรง ซึ่งจะทำให้พวกเราสามารถรับมือการแพร่ระบาดได้ดียิ่งขึ้น  โควิด-19 ไม่จบ ธีมเฮลท์แคร์และจีโนมิกส์ยังแรงดีไม่มีตก ข่าวไวรัสกลายพันธุ์สร้างความหวั่นวิตกให้กับนักลงทุนทั่วโลกอยู่เสมอ และผมเชื่อว่า โลกเรายังต้องอยู่กับโควิด-19 ซึ่งไม่มีทีท่าว่าจะจบลงง่ายๆ และจะกลายเป็นโรคประจำถิ่นในเร็ววัน ยิ่งไปกว่านั้นโรคอุบัติใหม่ที่พร้อมจะเกิดขึ้นตลอดเวลา และโรคเดิมๆ ที่ยังไม่มีหนทางรักษาที่ดีพอ ความต้องการยา วัคซีน หรือแนวทางการรักษาใหม่ๆ ยังเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกคนบนโลกใบนี้ ไม่ว่าจะตอนนี้หรือในอนาคต  ‘ทุกวิกฤต…ย่อมมีโอกาส’ อุตสาหกรรมแฮลท์แคร์และธุรกิจจีโนมิกส์ ก็เป็นหนึ่งในโอกาสของวิกฤตนี้ โควิด-19 กระตุ้นการเติบโตของอุตสาหกรรม ให้เดินหน้าพัฒนาตัวยาและวัคซีน เพื่อต่อสู้กับโรคระบาดอย่างต่อเนื่อง  ความสำเร็จแรกของอุตสาหกรรมคือ วัคซีนต้าน โควิด-19 ตัวแรกที่ใช้กันไปแล้วทั่วโลก ทำให้ราคาหุ้นบริษัทพัฒนาวัคซีนเติบโตอย่างก้าวกระโดดตลอดปี 2563 และมาเริ่มอิ่มตัวในปี 2564  แต่เมื่อไม่นานมานี้ บริษัทยาสัญชาติอเมริกันอย่าง Merck ร่วมกับบริษัท Ridgeback Biotherapeutics สามารถพัฒนายา Molnupiravir (โมลนูพิราเวียร์) ยาต้านเชื้อโควิด-19 ตัวแรกของโลก ที่ช่วยลดอัตราการป่วยหนักและเสียชีวิตได้ถึงร้อยละ 50 และสามารถใช้ได้กับทุกสายพันธุ์ ซึ่งข่าวความคืบหน้านี้ ส่งผลให้ราคาหุ้น Merck พุ่งขึ้นกว่าร้อยละ 10 ในเวลาเพียง 1 สัปดาห์เท่านั้นหลังจากการประกาศความสำเร็จ แต่ส่วนทางกับราคาหุ้นบริษัทผลิตวัคซีนอย่าง Moderna BioNTech และ Novavax ที่ดิ่งลงกว่าร้อยละ 20 ในช่วงเวลาเดียวกัน  แต่ความสำเร็จของ Molnupiravir ไม่ได้หมายความว่า วัคซีนจะไม่เป็นที่ต้องการอีกต่อไป เพราะเป้าหมายเอาชนะโควิด-19 คือ ยาที่ดีและวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้เราสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติอีกครั้ง ราคาหุ้นของวัคซีนที่ขึ้นๆ ลงๆ เป็นเพียงความเคลื่อนไหวระยะสั้นเท่านั้น ต่อมา Pfizer ในฐานะผู้ผลิตวัคซีนร่วมกับ BioNTech ก็พัฒนายารักษาโควิด-19 ในชื่อ Paxlovid (แพ็กซ์โลวิด) ซึ่งมีข้อมูลจากการทดลองในคนไข้ความเสี่ยงสูงที่เพิ่งติดเชื้อ พบว่า ผู้ได้รับยา Paxlovid มีอัตราป่วยหนักจนต้องเข้าโรงพยาบาลเพียงแค่ 0.8 เปอร์เซ็นต์  คนไข้เหล่านี้ได้รับยาภายใน 3 วันหลังจากเริ่มแสดงอาการป่วยพบว่า ไม่มีผู้เสียชีวิตในกลุ่มที่ได้รับยา Paxlovid หรือหากให้ยารักษาภายใน 5 วันนับแต่วันที่เริ่มแสดงอาการป่วย กลุ่มผู้ได้รับยา  Paxlovid จะมีอัตราการเข้าโรงพยาบาลอยู่ที่ 1 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีผู้เสียชีวิต  นี่คือ ความคืบหน้าในแวดวงอุตสาหกรรมเฮลท์แคร์ที่ยังไม่หยุดในการคิดค้นยาและวัคซีน เพื่อมาต่อสู้กับโควิด-19 แต่อะไรก็เกิดขึ้นได้ ปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ไวรัสกลายพันธุ์ ‘โอไมครอน’ ก็ถือกำเนิดขึ้น ซึ่งจะเป็นความท้าทายใหม่ให้บุคลากรแวดวงเฮลท์แคร์ว่า จะหาหนทางอะไรมาต่อสู้กับความรุนแรงของโอไมครอนได้ ‘โอไมครอน’ ทำไมถึงควรลงทุนในธีมเฮลท์แคร์และจีโนมิกส์ ผมมองว่า ตราบใดที่ยารักษาโรค คือ 1 ในปัจจัยที่ 4 ที่เป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิตของมนุษย์ ธีมเฮลท์แคร์และจีโนมิกส์ คือ พื้นฐานของอุตสาหกรรมและธุรกิจที่ล้อไปกับความต้องการพื้นฐานของผู้คนทั่วโลก  สำหรับ ธีมเฮลท์แคร์ ทีมงาน Jitta Wealth เลือก iShares Global Healthcare ETF (IXJ) เป็น Passive ETF ให้ผลตอบแทนไปตามดัชนี S&P Global 1200 Healthcare Sector Index ลงทุนมากกว่า 110 บริษัทในอุตสาหกรรมเฮลท์แคร์ทั่วโลก ถือหุ้น 3 อันดับแรก ได้แก่ บริษัท UnitedHealth บริษัท Johnson & Johnson และบริษัท Pfizer ผลตอบแทนของ IXJ ปี 2564 ถึง 30 พฤศจิกายนอยู่ที่ร้อยละ 10.23 ส่วนผลตอบแทนรวมนับตั้งแต่จัดตั้ง 13 พฤศจิกายน 2544 - 30 พฤศจิกายน 2564 อยู่ที่ร้อยละ 361.68  ส่วน ธีมจีโนมิกส์ ทีมงาน Jitta Wealth เลือก iShares Genomics Immunology and Healthcare ETF (IDNA) เป็น Passive ETF ให้ผลตอบแทนไปตาม 2 ดัชนี คือ NYSE Factset Global Genomics และ Immuno Biopharma Index ลงทุนประมาณ 50 บริษัททั่วโลก ถือหุ้น 3 อันดับแรก ได้แก่ บริษัท Moderna บริษัท BioNTech และ บริษัท Merc ที่มีชื่อเสียงด้านนวัตกรรมจีโนมิกส์ ภูมิคุ้มกันวิทยา และพันธุ์วิศวกรรมที่เป็นศาสตร์ยุคใหม่ ที่จะพลิกโฉมอุตสาหกรรมเฮลท์แคร์ในอนาคต  ผลตอบแทนของ IDNA ปี 2564 ถึง 30 พฤศจิกายนอยู่ที่ร้อยละ 10.32 ส่วนผลตอบแทนรวมนับตั้งแต่จัดตั้ง 11 มิถุนายน 2562 - 30 พฤศจิกายน 2564 อยู่ที่ 109.59 เปอร์เซ็นต์ แต่ความน่าสนใจ คือ อุตสาหกรรมเฮลท์แคร์จะไปได้อีกไกล เพราะธุรกิจจีโนมิกส์จะเข้ามาต่อยอด ให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อการรักษาโรคของมวลมนุษยชาติ เทคโนโลยีจีโนมิกส์จะเข้ามาปลดล็อกให้เกิดการแพทย์แม่นยำ (Precise Medicine) การวินิจฉัยและการรักษาโรคลงลึกไปถึงระบบพันธุกรรมของมนุษย์ หรือเชื้อต่างๆ ที่ทำให้เกิดโรคต่างๆ ส่งผลให้โรคที่ยังไม่มีหนทางรักษา หรือรักษาได้ยาก มีแนวทางการรักษาที่ชัดเจนขึ้น ไม่เพียงเท่านั้น…การรักษาโรคจะเฉพาะตัวบุคคลมากขึ้น เพราะระบบพันธุกรรมของแต่ละคน ไม่เหมือนกัน ความสำเร็จของนวัตกรรมจีโนมิกส์ คือ วัคซีนต้านโควิด-19 ประเภท mRNA ที่แสดงประสิทธิภาพในการป้องกันที่ดี และได้รับการยอมรับจากผู้คนทั่วโลก อีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญ คือ แนวโน้มและการเปลี่ยนแปลงด้านประชากรศาสตร์ สังคมผู้สูงอายุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา  ในปี 2563 จำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั่วโลกมีประชากรที่อายุมากกว่า 65 ปีกว่า 727 ล้านคน ธนาคารโลกคาดการณ์ว่า ตัวเลขนี้จะเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวในอีก 30 ปีข้างหน้า  เมื่อเป็นเช่นนั้นก็แสดงว่า ทรัพยากรด้านการดูแลสุขภาพ และผู้ให้บริการด้านการดูแลสุขภาพจะเป็นที่ต้องการมากขึ้น และต้องพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น มีการคาดการณ์อัตราการเติบโตต่อปี ของการใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลทั่วโลกว่า จะเติบโตร้อยละ 3.9 ระหว่างปี 2563-2567 และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในช่วง 30 ปีข้างหน้า  ด้านของนวัตกรรมจีโนมิกส์ ปัจจุบันต้นทุนการรักษา โดยใช้ประโยชน์จากจีโนมิกส์ลดลงเรื่อยๆ ผู้คนสามารถเข้าถึงการรักษาได้มากขึ้น จุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ของอุตสาหกรรมเฮลท์แคร์กำลังเริ่มต้นแล้ว มีการคาดการณ์ว่า ธุรกิจจีโนมิกส์จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึง 72,130 ล้านเหรียญสหรัฐฯในปี 2574 หรืออีก 10 ปีข้างหน้า  ผมมองว่า แม้ โควิด-19 จะจบลง แต่ไม่ได้หมายความว่า จะไม่มีโรคอุบัติใหม่เกิดขึ้นมาอีก วงการแพทย์ยังต้องคิดค้นและพัฒนายา วัคซีน หรือแนวทางการรักษาใหม่ๆ อยู่ตลอด เพราะระบบสาธารณสุขจำเป็นต่อทุกคนบนโลก ไม่ว่าปัจจุบันหรืออนาคต  คุณลองมองภาพใหญ่ของอุตสาหกรรมนี้ ถือเป็นธุรกิจบริการสุขภาพที่ผู้คนทั่วโลกต้องการ และมีโอกาสเติบโต อาจจะเรียกได้ว่า ไม่มีที่สิ้นสุด ตลอดเกือบ 2 ปีที่ผ่านมาที่ทั่วโลกเผชิญกับการระบาดของโควิด-19 และการกลายพันธุ์ของไวรัสอีกหลายสายพันธุ์ที่รุนแรงกว่าเดิม ส่งผลต่อความผันผวนของตลาดหุ้นทั่วโลก  การระบาดครั้งแรกของเดือนมีนาคม 2563 ตลาดหุ้นดิ่งแรง ราคาน้ำมันดิบร่วง สร้างความแตกตื่นให้นักลงทุน แต่ครั้งต่อมานักลงทุนก็เริ่มรับมือได้มากขึ้น ด้วยบทเรียนและประสบการณ์ที่เผชิญมาก่อน ทำให้ตลาดไม่ได้ผันผวนแรงอย่างที่ผ่านมา  ‘โอไมครอน’ สร้างพอร์ตแข็งแกร่ง เตรียมรับทุกสถานการณ์  นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตลาดการเงินการลงทุนยังคงผันผวนขึ้นๆ ลงๆ นักลงทุนยังคงต้องจับตาดูสถานการณ์ไวรัสกลายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง เพราะมีส่วนกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก และการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางในหลายประเทศ โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ที่กำลังเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อสูง  สำหรับผมที่เลือกวิธีการลงทุนบนเส้นทาง Passive มาโดยตลอด และเชื่อในแนวคิดของ Warren Buffett ที่ว่า ‘การทำนายว่า ฝนจะตกตอนไหนไม่ช่วยอะไร สิ่งที่สำคัญคือ การสร้างเรือให้แข็งแรง’ คุณไม่จำเป็นต้องทำนายแนวโน้มของตลาดหุ้นว่าจะขึ้นหรือลง เพราะไม่มีใครสามารถทำได้ เช่นเดียวกับสถานการณ์อื่นๆ เช่น ภาวะเงินเฟ้อ การขึ้นอัตราดอกเบี้ย โรคระบาด ที่เป็นปัจจัยภายนอก ที่ไม่สามารถควบคุมได้เช่นกัน  สิ่งที่คุณควรโฟกัสคือ ‘พอร์ตลงทุนที่แข็งแกร่ง’ เพื่อรับมือกับความผันผวนในตลาดหุ้นให้ได้ หากพอร์ตการลงทุนของคุณแข็งแกร่งมากพอ ต่อให้เกิดภาวะทางเศรษฐกิจไม่แน่นอนหรือตลาดหุ้นผันผวน พอร์ตลงทุนของคุณก็จะยืนอยู่ได้ ได้รับผลกระทบน้อย และสามารถฟื้นตัวได้เร็วในภาวะวิกฤต การจะสร้างพอร์ตที่แข็งแกร่งได้ ต้องมาจากการลงทุนที่ในสินทรัพย์ที่มั่นใจได้ กระจายความเสี่ยงอย่างเหมาะสม แม้จะเกิดผลกระทบในระยะสั้นก็จะไม่ส่งผลให้พอร์ตลงทุนผันผวนมากเกินไป ยิ่งในช่วงที่ราคาหุ้น หรือราคา ETF ที่ลงทุนอยู่ปรับตัวลง ก็ถือเป็นโอกาสเพิ่มทุน เพื่อเฉลี่ยต้นทุนได้ หากคุณเชื่อว่า ธีมเฮลท์แคร์และจีโนมิกส์ เป็นเมกะเทรนด์ที่จะเติบโตได้ในระยะยาว ตราบใดที่เรายังเกิด แก่ เจ็บ ตาย ทุกคนต้องการระบบสาธารณสุขและการแพทย์ที่ดี มีคุณภาพ การลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมหรือธุรกิจนี้เอาไว้ หมั่นเพิ่มทุนเข้าไป…ก็ไม่เสียหาย  ลองสำรวจพอร์ตลงทุนของคุณ ว่ามีการลงทุนในธีมเฮลท์แคร์และจีโนมิกส์ถ่วงน้ำหนักอยู่เพียงพอหรือไม่ กระจายความเสี่ยงของพอร์ตลงทุนให้ดีในเมกะเทรนด์แห่งอนาคตนี้ ให้เงินทำงาน ปั้นพอร์ตให้โตในอนาคตครับ บทความโดย ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์ CEO แห่ง Jitta Wealth
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine