เศรษฐกิจดิจิทัล “SEA” โตเร็วแต่ขาดบูรณาการ - Forbes Thailand

เศรษฐกิจดิจิทัล “SEA” โตเร็วแต่ขาดบูรณาการ

FORBES THAILAND / ADMIN
23 Nov 2020 | 06:00 AM
READ 1336
สำหรับธุรกิจธนาคารและการเงินระดับโลก ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEA) นับเป็นภูมิภาคที่สำคัญในแง่ของการสร้างสรรค์นวัตกรรม และโอกาสการเติบโตของบริการชำระเงินแบบเรียลไทม์ ทั้งนี้เนื่องจากระบบเศรษฐกิจออนไลน์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีแนวโน้มที่จะเติบโต 3 เท่า ภายในปี 2568 และจะมีมูลค่าถึง 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ จึงนับเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่มีระบบ เศรษฐกิจดิจิทัล เติบโตเร็วที่สุดในโลก หากพิจารณาว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นระบบเศรษฐกิจหนึ่งเดียว ก็จะถือเป็น 1 ใน 5 เศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 5 ของโลก แต่แน่นอนว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่ได้มีการบูรณาการระหว่างประเทศต่างๆ อย่างลึกซึ้ง จึงไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ต่อเศรษฐกิจมหภาค ซึ่งแตกต่างจากอินเดียและจีน ยิ่งไปกว่านั้นภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่ได้รับประโยชน์จากเงินสกุลเดียวอย่างยูโรโซน (Eurozone) ซึ่งมีหน่วยงานกำกับดูแลอย่างทั่วถึง นั่นหมายความว่า การบูรณาการบริการด้านการเงินในระดับที่ลึกซึ้งมากขึ้นนับเป็นปัจจัยสำคัญที่เร่งการเติบโตและการค้าภายในภูมิภาค มีแนวโน้มว่าจะถูกผลักดันด้วยแรงขับเคลื่อนของตลาด รายงานฉบับใหม่ที่มีชื่อว่า “Envisioning a Pan-Regional, Real-Time Payments Ecosystem in Southeast Asia” (การสร้างระบบนิเวศน์บริการชำระเงินแบบเรียลไทม์ที่ครอบคลุมทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) ซึ่งจัดทำโดย ACI Worldwide และบริษัทวิจัยตลาดและให้คำปรึกษา Kapronasia แสดงให้เห็นว่า รากฐานของเครือข่ายการชำระเงินข้ามพรมแดนที่มีประสิทธิภาพแบบเรียลไทม์ได้ถูกวางในแต่ละประเทศเรียบร้อยแล้ว เพื่อความพร้อมในการชำระเงินที่ทันสมัย และเครือข่ายเรียลไทม์ภายในประเทศที่แข็งแกร่ง ขณะที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เริ่มพลิกฟื้นเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 รายงานดังกล่าวระบุว่า บริการชำระเงินแบบเรียลไทม์คือ เครื่องมือสำคัญที่จะกระตุ้นการเติบโตในอนาคต เนื่องจากมาตรฐาน ISO 20022 และคิวอาร์โค้ด (QR Code) เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจ   บริการชำระเงินใน SEA หลังโควิด แม้ว่าภูมิภาคนี้ไม่มีกฎระเบียบที่สอดคล้องกัน อีกทั้งแต่ละประเทศก็มีการจัดลำดับความสำคัญทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน แต่เห็นได้ชัดว่าความต้องการขององค์กรธุรกิจและผู้บริโภคคือ ปัจจัยหลักที่ผลักดันให้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้พัฒนาไปสู่การสร้างระบบเครือข่ายแบบเรียลไทม์ที่ครอบคลุมหลายประเทศ ระบบชำระเงินที่ดำเนินการแบบทันที ไร้รอยต่อ และสอดคล้องตามมาตรฐานจะช่วยรองรับกิจกรรมทางด้านเศรษฐกิจภายในภูมิภาค โดยมีต้นทุน และค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่า จะช่วยกระตุ้นการขยายตัวของธุรกิจในอนาคต การแพร่ระบาดของโควิด-19 ตอกย้ำให้เห็นถึงความจำเป็นดังกล่าว โดยหลายๆ ภาคส่วนเริ่มเปลี่ยนมุมมองและทัศนคติที่มีต่อระบบชำระเงินดิจิทัล โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีความสนใจเพิ่มมากขึ้นต่อการชำระเงินแบบ “touchless” หรือไร้การสัมผัส ที่ช่วยรองรับมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) นอกจากนี้ ข้อกำหนดเกี่ยวกับการทำงานจากที่บ้าน และการเว้นระยะห่างทางสังคมที่มีผลบังคับใช้ในประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ผลักดันการพัฒนาไปสู่ระบบชำระเงินดิจิทัล การชำระเงินแบบเรียลไทม์มีบทบาทสำคัญอย่างมากในระบบนิเวศน์ด้านการเงินดิจิทัลที่กำลังเติบโต โดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะที่เทคโนโลยีไร้สัมผัสอย่างคิวอาร์โค้ดกำลังถูกใช้งานบนโครงสร้างพื้นฐานส่วนกลางแบบเรียลไทม์การใช้งานที่ง่ายดายและความสะดวกในการเข้าถึงของระบบชำระเงินที่ใช้คิวอาร์โค้ดจะมีความสำคัญอย่างมากต่อบุคคลทั่วไปและธุรกิจ SME ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มุ่งเน้นประสิทธิภาพและประโยชน์ใช้สอยในทางเศรษฐกิจ คิวอาร์โค้ดยังนับเป็น “จุดเชื่อมต่อ” ที่สำคัญ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการใช้งานและการมีส่วนร่วมในเครือข่ายการชำระเงินแบบเรียลไทม์ ทั้งนี้ จากกรณีของประเทศจีน สิ่งที่เราได้เรียนรู้ก็คือ การเปิดประเทศอีกครั้งภายหลังการแพร่ระบาดจำเป็นต้องพึ่งพาผลิตภัณฑ์และบริการด้านการเงินดิจิทัลจำนวนมากที่สามารถ “วางซ้อน” ไว้บนช่องทางการชำระเงินแบบเรียลไทม์ เช่นบริการด้านคะแนนเครดิต (credit scoring) การกู้ยืมเงิน (lending) และการบริหารความมั่งคั่ง (wealth management)   ความสำคัญของบริการดิจิทัล ผู้เล่นหลายรายในธุรกิจบริการชำระเงินเริ่มหันมาให้ความสนใจบริการเสริมที่ถูกเพิ่มเติมไว้ในโมไบล์แอป (mobile apps) เว็บพอร์ทัล (web portals) โซเชียลมีเดีย (social media) และช่องทางอื่น ๆ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง บริการใหม่ๆ เหล่านี้ช่วยให้ธนาคาร คนกลาง (intermediaries) และผู้ประกอบการ สามารถเพิ่มเติมฟังก์ชันที่หลากหลาย เพื่อรองรับระบบนิเวศน์การชำระเงินดิจิทัลที่มีปริมาณธุรกรรมสูงและใช้ข้อมูลจำนวนมาก บริการเสริมในระบบดิจิทัลสามารถตอบสนองการใช้งานหลากหลายรูปแบบ เช่น การนำเสนอโซลูชันแบบครบวงจรที่ไร้รอยต่อสำหรับการชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดที่ปลอดภัย และไร้การสัมผัส (contactless) ซึ่งนับเป็นการต่อยอดจากระบบชำระเงินของผู้ค้าโดยใช้คิวอาร์โค้ดแบบไดนามิก นอกจากนี้ ยังสามารถรองรับบริการชำระเงินระหว่างบุคคลที่ยืดหยุ่น โดยใช้ตัวแทน/นามแฝง (เช่น หมายเลขโทรศัพท์ หรืออีเมล) เพื่อเพิ่มความปลอดภัย ทั้งนี้ หนึ่งในบริการเสริมดิจิทัลแบบเรียลไทม์ที่เติบโตเร็วที่สุดในโลกก็คือ บริการเรียกเก็บเงิน (request to pay)   พัฒนาการที่สำคัญของแต่ละประเทศ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูมิภาคที่มีความแตกต่างหลากหลายอย่างมาก ทั้งในแง่ของวัฒนธรรม เศรษฐกิจ การเมือง และภาษา แต่ถึงแม้ว่าจะมีความท้าทายดังกล่าวก็ยังมีบางประเทศที่เป็น “ผู้นำ” ในด้านการใช้บริการเสริมดิจิทัล เช่น PayNow ในสิงคโปร์, PromptPay ในไทย และ DuitNow ในมาเลเซีย ประเทศเหล่านี้มีพัฒนาการที่ดีในเรื่องของการปรับปรุงระบบชำระเงินให้ทันสมัย นอกจากนั้นการปรับใช้มาตรฐาน ISO 20022 เพิ่มมากขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะช่วยรองรับการสื่อสารระหว่างเครือข่ายในประเทศ และจะเป็นองค์ประกอบสำคัญสำหรับการพัฒนาระบบชำระเงินในระดับภูมิภาคให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น แพลตฟอร์มการชำระเงินแบบเรียลไทม์สำหรับธุรกิจค้าปลีก (real-time retail payment platform - RPP) ในมาเลเซีย เป็นโครงการระยะเวลาหลายปีสำหรับการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินของประเทศให้ทันสมัย โดยเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างระบบนิเวศน์แบบครบวงจร เพื่อผลักดันการปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างกว้างขวาง DuitNow คือ บริการโอนเงินโดยใช้เบอร์โทรศัพท์มือถือ หรือหมายเลขบัตรประชาชนซึ่งจดจำได้ง่ายกว่า โดยเป็นบริการชำระเงินแรกสุดที่ได้รับการเปิดตัวบนแพลตฟอร์ม RPP และเริ่มใช้งานตั้งแต่ต้นปี 2562 เป็นต้นมา การปรับใช้มาตรฐาน ISO 20022 ตั้งแต่แรกเริ่มถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยผลักดันการสร้างสรรค์นวัตกรรมและการทำธุรกรรมบนแพลตฟอร์ม RPP เช่น บริการโอนเงิน (credit transfer) บริการชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดของ DuitNow (QR code payments) และบริการเสริมในรูปแบบดิจิทัลอีกมากมาย แพลตฟอร์ม RPP ซึ่งได้รับการจัดการดูแลโดย PayNet ยังได้ประโยชน์จากการเชื่อมต่อมาตรฐานระหว่างองค์กรต่างๆ ที่เข้าร่วมโครงการและศูนย์ควบคุมส่วนกลาง จึงช่วยให้สามารถบูรณาการและเชื่อมต่อระบบได้อย่างไร้รอยต่อ และรองรับการปฏิบัติตามข้อกำหนดและมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง

บทความโดย Leslie Choo กรรมการผู้จัดการ ภูมิภาคเอเชียและญี่ปุ่น/เกาหลี ACI Worldwide


คลิกอ่านบทความชั้นนำเพิ่มเติม ได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนตุลาคม 2563 ในรูปแบบ e-magazine