เศรษฐกิจดิจิทัลความยั่งยืนประเทศไทย 4.0 - Forbes Thailand

เศรษฐกิจดิจิทัลความยั่งยืนประเทศไทย 4.0

FORBES THAILAND / ADMIN
16 Aug 2016 | 11:56 AM
READ 5333
ประเทศไทยกำลังเผชิญหน้าอยู่ตรงทางเลือก innovate หรือ die ซึ่งการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญกำลังเริ่มขึ้นแล้วสำหรับประเทศไทย รัฐบาลได้ประกาศนโยบาย Thailand 4.0 หรือ ประเทศไทย 4.0 เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลยุคใหม่ มีหัวใจสำคัญคือ นวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยผนวกรวมเข้ากับจุดเด่นอื่นๆ ที่ประเทศไทยมีอยู่แล้วจนเกิดเป็นอุตสาหกรรมด้านต่างๆ เช่น เทคโนโลยีการเกษตร เทคโนโลยีสุขภาพ เทคโนโลยีการเงินและการค้าและเทคโนโลยีการท่องเที่ยวและการออกแบบ เป็นต้น โดยเศรษฐกิจดิจิทัลถูกนำมาใช้เพื่อเป็นโมเดลใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ ขณะที่ในต่างประเทศ ประเทศผู้นำทางเศรษฐกิจ เช่น สหรัฐอเมริกา วางนโยบายแบบ A Nation of Makers อังกฤษ วางโมเดล Design of Innovation เน้นการออกแบบสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือมหาอำนาจของเอเชียอย่างจีน ที่วางระบบเศรษฐกิจ Made in China 2025 ผลักดันนวัตกรรมและเทคโนโลยีสู่ธุรกิจที่มาจากประเทศจีน จีนยังได้รับการยอมรับว่ามีการพัฒนา digital innovation ในระดับสูง โดยหลายปีที่ผ่านมาแบรนด์ด้านเทคโนโลยีจากจีนกำลังมุ่งเข้าทำตลาดระดับโลกอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลจาก Forbes นิตยสารด้านธุรกิจและการเงิน ระบุว่า แบรนด์จากจีนที่น่าจับตามองเช่น เลโนโว (Lenovo), อาลีบาบา (Alibaba), ไป่ตู้ (Baidu) และเทนเซ็นต์ (Tencent) ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่รู้จักแบรนด์เหล่านี้เป็นอย่างดี เพราะกำลังเติบโตและเป็นที่น่าสนใจ นอกจากนั้น จีนได้ถูกจับตาว่าจะเป็น Silicon Valley แห่งต่อไปด้วยตลาดขนาดใหญ่ มีจำนวนประชากรมากกว่า 1,200 ล้านคน มีการพัฒนาบุคลากรด้านดิจิทัลต่อปีหลายแสนคน มี ecosystem ที่เอื้อต่อการสร้างธุรกิจ ส่งผลให้ทุนจากทั่วโลกเคลื่อนไปที่จีนหลายพันล้านเหรียญต่อปี จึงมีธุรกิจเกิดใหม่มาแรง เช่น ดีจีไอ ผู้นำในตลาดโดรนของโลก พิสูจน์ให้เห็นถึงศักยภาพของ digital innovation จากจีนได้เป็นอย่างดี  

ปรับรากฐานสู่ประเทศไทย 4.0

สำหรับนโยบายประเทศไทย 4.0 จะมุ่งสร้างนวัตกรรมและการเติบโตแบบยั่งยืน เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นผู้นำอาเซียนอย่างชัดเจน ซึ่งได้มีการกำหนดในร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล 2559 มีเป้าหมาย โดยรวมอาทิ กสารสร้างความเท่าเทียมกันในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ 100% การเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน การพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ให้ขึ้นมาอยู่ใน 50 อันดับแรกจากอันดับที่ 102 ในปัจจุบัน การพัฒนาความพร้อมด้านดิจิทัล 100% ให้กับประชากรไทย เมื่อสามารถเข้าถึงได้แล้ว ประชากรต้องมีความพร้อมในการใช้ประโยชน์ให้เกิดขึ้น ทั้งนี้ ดีแทคได้จัดทำข้อเสนอเพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันการสร้างประเทศไทย 4.0 โดยนำเสนอผ่าน White Paper วิสัยทัศน์และข้อเสนอแนะนำประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลระดับสากล แบ่งตามยุทธศาสตร์ 6 ประการ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถประชากรในฐานะภาคเอกชน การสร้างระบบนิเวศด้านนวัตกรรมดิจิทัลไปยังกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีคิดเป็นสัดส่วน 99% ของธุรกิจทั้งหมด ดังนั้นต้องผลักดันให้มีการนำเทคโนโลยีไปใช้งาน โดยเฉพาะใน 10 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ 1. อุตสาหกรรมอาหารและการเกษตร 2. อุตสาหกรรมเพื่อประหยัดพลังงาน ผลิตพลังงานทดแทน และพลังงานสะอาด 3. อุตสาหกรรมฐานเทคโนโลยีชีวภาพ 4. อุตสาหกรรมการแพทย์และสาธารณสุข 5. อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมบริการ และอุตสาหกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ 6. อุตสาหกรรมวัสดุก้าวหน้า 7. อุตสาหกรรมสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม และเครื่องประดับ 8. อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน 9. อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ ซอฟต์แวร์ และบริการสารสนเทศ 10. อุตสาหกรรมฐานการวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม หรืออุตสาหกรรมใหม่   ลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค
คลิกอ่าน "เศรษฐกิจดิจิทัลความยั่งยืนประเทศไทย 4.0"  ฉบับเต็มได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ JULY 2016 ในรูปแบบ e-Magazine