เตรียมพร้อมรับมือ “อินเทอร์เน็ตในทุกสรรพสิ่ง” - Forbes Thailand

เตรียมพร้อมรับมือ “อินเทอร์เน็ตในทุกสรรพสิ่ง”

FORBES THAILAND / ADMIN
19 Dec 2014 | 03:29 PM
READ 3399
นอกเหนือจากโมบิลิตี้ คลาวด์ คอมพิวติ้ง และบิ๊ก ดาต้าแล้ว อีกหนึ่งเทรนด์ที่ภาคธุรกิจกำลังจับตามอง และให้ความสนใจอย่างมากคงไม่พ้นสิ่งที่เรียกว่า “อินเทอร์เน็ตในทุกสรรพสิ่ง” หรือ Internet of Things ซึ่งอยู่ในกระแสที่ทั่วทั้งโลกต่างพูดถึง พร้อมจับตามองการมาของแนวโน้มที่ว่ากันอยู่ในขณะนี้
เมื่อพูดถึงอินเทอร์เน็ตในทุกสรรพสิ่ง ส่วนใหญ่มักพูดถึงการที่สิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นบ้าน รถยนต์ สำนักงาน เครื่องใช้ไฟฟ้า หรืออุปกรณ์แก็ดเจ็ต สามารถต่ออินเทอร์เน็ตได้ ซึ่งส่งผลให้การใช้ชีวิตของผู้คนเปลี่ยนไปทั้งเรื่องงานและเรื่องส่วนตัว จากการคาดการณ์ของไอดีซี จะมีอุปกรณ์จำนวนกว่า 2.12 หมื่นล้านชิ้นเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ภายในปี 2563 ซึ่งรวมถึงอุปกรณ์ที่สามารถทำงานได้ด้วยตัวเองอีกกว่า 3 หมื่นล้านชิ้นต่ออินเทอร์เน็ตได้
ดังนั้น สิ่งสำคัญคือภาคธุรกิจต้องทำความเข้าใจว่าการที่พนักงานแค่ 1 คนต่ออุปกรณ์ 3-4 ชิ้นเข้ากับอุปกรณ์สำนักงานมาตรฐาน อาทิ เครื่องถ่ายเอกสาร แฟกซ์ และสแกนเนอร์ ก็สามารถสร้างผลกระทบมากมายต่อองค์กร และทีมงานไอทีที่ดูแล เพราะแผนกไอทีคือผู้ที่ต้องเผชิญหน้ากับการมาอย่างรวดเร็วของอินเทอร์เน็ตในทุกสรรพสิ่ง
และจากความจริงที่ว่าการป้องกันที่ดีที่สุดคือการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่แข็งแกร่ง แผนกไอทีจึงควรพิจารณาวิธีปฏิบัติที่ดีที่สุด 5 ประการต่อไปนี้ มาใช้ในการเตรียมพร้อมรับมือกับสิ่งที่กำลังจะมาถึงได้อย่างดีที่สุด
1) นำระบบการจัดการโมบาย คอมพิวติ้งมาประสานกับการบริหารจัดการแบบเดิม
การมีอุปกรณ์ปลายทางที่หลากหลาย (endpoint) ที่ต้องเชื่อมต่อกับองค์กรเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดความซับซ้อน และกลายเป็นความท้าทายสำหรับฝ่ายไอที เพราะทั้งสมาร์ตโฟนและแท็บเล็ตต่างต้องมีการอัพเดต การแพตช์สร้างโปรไฟล์ และพาสเวิร์ด เช่นเดียวกับแล็ปท็อปและเดสก์ท็อป
และเมื่อทุกสิ่งล้วนเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต ยิ่งทำให้ต้องมีการอัพเกรดทั้งในส่วนของฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ให้ทันสมัยมากยิ่งขึ้น ผลลัพธ์ก็คือเราจะได้เห็นการหลอมรวมเข้าหากันระหว่างอุปกรณ์โมบาย และระบบบริหารจัดการแบบเดิมในอีกไม่ช้าไม่นาน เพราะองค์กรธุรกิจเริ่มมองหาโซลูชั่นที่มาช่วยผสานการทำงานร่วมกัน ทั้งการปรับใช้งานและการดูแลให้ระบบงานหรืออุปกรณ์ขององค์กรและอุปกรณ์ส่วนตัวของพนักงาน ทั้งสมาร์ตโฟน แท็บเล็ต คลาวด์ ไคลเอนด์ แล็ปท็อป และเดสก์ท็อปทำงานร่วมกันได้
2) เปลี่ยนข้อมูลให้เป็นองค์ความรู้เชิงธุรกิจ
อุปกรณ์ที่หลากหลายจะเป็นตัวนำส่งข้อมูลขนาดมหาศาลมายังบริษัท ยกตัวอย่าง หากเราติดอินเทอร์เน็ตในทุกสรรพสิ่งในโรงพยาบาล ข้อมูลจากเซ็นเซอร์มาจากทั้งตัวคนไข้ และอุปกรณ์ต่างๆ จะถูกส่งมารวมกันเพื่อให้โรงพยาบาลสามารถนำข้อมูลเหล่านั้นมาสร้างการบริหารจัดการที่ดี นั่นคือเหตุผลว่าทำไมองค์กรธุรกิจจึงจำเป็นต้องจริงจังเรื่องการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการใช้งานผ่านอุปกรณ์ เพราะโดยปกติแล้ว การจัดการอุปกรณ์ปลายทางทั้งหมดอย่างละเอียดถี่ถ้วน ต้องอาศัยเครื่องมือจัดการเฉพาะต่างหาก ซึ่งอาจทำให้เกิดค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการเพิ่มตามมา ดังนั้น จึงต้องเข้าใจว่าข้อมูลระดับไหนที่จำเป็นมากที่สุด เพื่อจะได้รวบรวมและกลั่นเป็นองค์ความรู้ที่ตรงต่อความต้องการเฉพาะสำหรับธุรกิจได้
3) สร้างระเบียบข้อบังคับ (compliance) ให้สอดคล้องการบริหารจัดการ ข้อบังคับของบริษัท และกฎหมาย
ในโลกของอินเทอร์เน็ตในทุกสรรพสิ่ง สิ่งจำเป็นสำหรับองค์กรธุรกิจคือการให้ความใส่ใจอย่างยิ่งกับเรื่องของลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ เพราะหากพบว่าองค์กรของคุณไม่ได้ปฏิบัติตามกฎระเบียบข้อบังคับ ในระหว่างการตรวจสอบการใช้ซอฟต์แวร์ อาจทำให้เสียทั้งค่าใช้จ่าย และเสียเวลาโดยใช่เหตุ และเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ต้องดำดิ่งอยู่กับข้อมูลมหาศาลที่เกิดจากการมาของอินเทอร์เน็ตในทุกสรรพสิ่ง องค์กรธุรกิจควรมองหาวิธีในการควบรวมระบบงาน และรวมศูนย์การออกรายงานเกี่ยวกับการบริหารจัดการระบบได้จากส่วนกลาง
4) ยกระดับการรักษาความปลอดภัย พร้อมเปิดทางให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสม
เมื่อมาถึงเรื่องการรักษาความปลอดภัย ไม่มีโซลูชั่นใดที่สามารถจัดการได้ทุกสิ่ง ผู้ดูแลระบบไอทีต้องติดตามเรื่องนโยบายรักษาความปลอดภัยใหม่ล่าสุดอย่างใกล้ชิด พร้อมคอยคิดแผนงานใหม่ โดยแยกในส่วนของเครือข่ายและสภาพแวดล้อมการทำงานออกจากกัน เพื่อปกป้องระบบธุรกิจสำคัญ ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบกับประสิทธิผลของงานหรือประสิทธิภาพการดำเนินงาน
การรักษาความปลอดภัยในการใช้งานด้านโมบายจะยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้น เนื่องจากองค์กรธุรกิจต่างพยายามลดความเสี่ยงให้อยู่ในจุดที่ต่ำที่สุด หนึ่งในวิธีปฏิบัติที่ดีที่สุดคือ องค์กรต้องพยายามรักษาสมดุลระหว่างการจัดการผู้ใช้ และการจัดการอุปกรณ์ทั้งหมด
5) ให้ตระหนักว่าทุกอุปกรณ์ที่ต่อเชื่อมอินเทอร์เน็ตในทุกสรรพสิ่ง ไม่ได้ถูกสร้างมาเหมือนกัน
อุปกรณ์ทุกประเภทกลายเป็นสิ่งที่เราพบเห็นกันดาษดื่นในชีวิตประจำวัน และมีโอกาสนับไม่ถ้วนที่อุปกรณ์เหล่านี้จะเกิดการเสียหายจากอุบัติเหตุ และจากการที่ความขัดข้องสามารถเกิดขึ้นได้หลากหลาย รวมทั้งราคาอุปกรณ์ก็ดึงดูดใจให้ซื้อหา จึงมีแนวโน้มที่ทั้งองค์กรและพนักงานจะเปลี่ยน หรืออัพเกรดสมาร์ตโฟน แท็บเล็ต หรืออื่นๆ ได้บ่อยขึ้น นั่นหมายความว่าองค์กรจะต้องมีการปรับกลยุทธ์ในเรื่องของการซ่อม หรือเปลี่ยนอุปกรณ์ทดแทนให้สอดคล้องไปด้วยกัน
การเตรียมพร้อมสำหรับอินเทอร์เน็ตในทุกสรรพสิ่ง
วิธีที่ดีที่สุดในการเตรียมพร้อมสำหรับอินเทอร์เน็ตในทุกสรรพสิ่ง คือการตรวจดูว่าปัจจุบันมีการจัดการอุปกรณ์ปลายทางอย่างไรบ้าง การจัดการที่รองรับแพลตฟอร์มอุปกรณ์ได้หลากหลายไม่ว่าจะเป็น Windows, Mac OSX, Linus, iOS และ Android นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ความสามารถในการมองเห็นช่องว่างในการจัดการนับเป็นสิ่งสำคัญ เพราะทั้งเครื่องพิมพ์ จอมอนิเตอร์ สแกนเนอร์ และอุปกรณ์เชื่อมต่ออื่นๆ มีบทบาทสำคัญในโลกของอินเทอร์เน็ตในทุกสรรพสิ่ง
ผู้ดูแลระบบไอทีควรมองหาโอกาสในการผสานรวมด้านการจัดการระบบ endpoint ร่วมกัน เนื่องจากการจัดการโซลูชั่นเฉพาะทางที่ใช้งานกระจัดกระจายกันอยู่ จะทำให้เกิดความลำบากเพราะอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกันอยู่มีจำนวนมหาศาล ฉะนั้นผู้ดูแลระบบไอทีต้องมองหาวิธีการที่ยืดหยุ่นในการบริหารจัดการระบบงานด้าน endpoint เพราะอินเทอร์เน็ตในทุกสรรพสิ่งถือเป็นโลกใหม่ที่ต่างออกไป และต้องนำวิธีปฏิบัติและโซลูชั่นที่ดีที่สุดมาช่วยรับมือกับความการต้องการของผู้ใช้ที่พัฒนาไปเรื่อยๆ พร้อมกับต้องผลักดันให้เกิดคุณค่าทางธุรกิจได้สูงสุดเช่นกัน
และจากการที่ตระหนักอย่างชัดเจนถึงความปลอดภัย และมาตรฐานที่อินเทอร์เน็ตในทุกสรรพสิ่งควรมีเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับทั้งผู้ผลิต และผู้ใช้งาน Dell และพันธมิตรได้แก่ Intel, Samsung, Atmel, Broadcom และ Wind River ผนึกกำลังจัดตั้งเครือข่ายใหม่ ชื่อ “Open Interconnect Consortium” เพื่อร่วมกันกำหนดความต้องการเรื่องความสามารถในการเชื่อมต่อสำหรับอุปกรณ์จำนวนหลายพันล้านชิ้น ที่หลอมรวมเป็นอินเทอร์เน็ตในทุกสรรพสิ่ง รวมถึงการจัดการการโฟลว์ของข้อมูลระหว่างอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล และอุปกรณ์ของอินเทอร์เน็ตในทุกสรรพสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ได้อย่างชาญฉลาดโดยไม่จำกัดรูปแบบ ระบบปฎิบัติการ หรือผู้ให้บริการอีกด้วย

อโณทัย เวทยากร กรรมการผู้จัดการ บริษัท เดลล์ คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) และผู้จัดการทั่วไปภาคพื้นอินโดจีน