เตรียมพร้อมรับความผันผวน - Forbes Thailand

เตรียมพร้อมรับความผันผวน

FORBES THAILAND / ADMIN
04 Jan 2016 | 05:16 PM
READ 5166
  ตลาดการเงินทั่วโลกมีความผันผวนเพิ่มขึ้นในช่วงสองสามเดือนที่ผ่านมา และคาดว่าความเสี่ยงน่าจะยังคงอยู่กับเราต่อไปอีกสักระยะหนึ่ง แล้วเราควรจะรับมืออย่างไรกับความเสี่ยงที่อาจมีผลกระทบต่อการลงทุนของเรา? เรายังเชื่อว่าการลงทุนในหุ้นยังคงเป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่ดีที่สุดในระยะยาว แต่ก็มีความผันผวนในระยะสั้นด้วย การกระจายความเสี่ยงและตรวจดูระดับความเสี่ยงของพอร์ตให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่นักลงทุนสามารถรับได้เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก จากปัจจัยเสี่ยงในภาวะปัจจุบัน นักลงทุนอาจจะต้องใช้ความระมัดระวังมากขึ้นในการลงทุน และเน้นการลงทุนที่สร้างผลตอบแทนสม่ำเสมอ นอกจากนี้เพื่อรับมือกับความผันผวนในส่วนของหุ้น นักลงทุนอาจพิจารณากระจายความเสี่ยงไปยังตลาดหุ้นต่างประเทศที่มีปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งและ valuation น่าสนใจ โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว อย่างเช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และยุโรป ในขณะเดียวกันก็ควรระมัดระวังการลงทุนในหุ้นประเทศกำลังพัฒนา และประเทศที่มีความเสี่ยงจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ (ซึ่งรวมถึงประเทศไทย) ด้วย ผมคิดว่าประเด็นหลักที่ต้องจับตาในปัจจุบัน มีสองเรื่องที่สำคัญ คือ 1) แนวโน้มเศรษฐกิจโลก และ 2) แนวโน้มการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ รวมถึงนโยบายการเงินของธนาคารกลางอื่นๆ ความเสี่ยงต่อแนวโน้มเศรษฐกิจโลก ปัจจุบันเศรษฐกิจโลกน่าจะมีแนวโน้มฟื้นตัวแบบช้าๆ เศรษฐกิจประเทศที่พัฒนาแล้วเริ่มมีแนวโน้มดีขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน ประเทศกำลังพัฒนามีความเสี่ยงที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการค้าโลกที่ชะลอตัวอีกทั้งยังอาจจะได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ที่มีผลต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์หลายประเภท (ทั้งพลังงาน โลหะ และสินค้าเกษตร) ซึ่งเป็นแหล่งรายได้สำคัญของประเทศกำลังพัฒนา และอาจจะส่งผลให้เศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการเข้าสู่ภาวะชะลอตัวอีกรอบก็ได้ ถ้าเราแบ่งอาการของเศรษฐกิจของโลกออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ กลุ่มแรกคือคนที่นอนให้น้ำเกลือ ฉีดมอร์ฟีนมาสักระยะหนึ่งแล้ว วันนี้หมอกำลังเริ่มคิดว่าจะอนุญาตให้ออกจากโรงพยาบาลได้แล้ว กลุ่มนี้ได้แก่ประเทศอย่างสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ ที่พร้อมออกจากโรงพยาบาลและปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหลังจากอยู่แถวๆ ศูนย์มานานหลายปี กลุ่มที่สอง คือคนที่นอนป่วยให้น้ำเกลืออยู่ และยังต้องฉีดยากระตุ้นอยู่เรื่อยๆ และอาจจะต้องเร่งโดสของยาอีกด้วย ได้แก่ประเทศในยุโรปและญี่ปุ่น ในขณะที่ส่วนกลุ่มที่สาม เพิ่งเริ่มออกอาการป่วย และดูเหมือนอาการจะไม่เบาเลยทีเดียว กลุ่มนี้ได้แก่จีนและประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายที่หมอเพิ่งจะรับเข้ามาอยู่ในโรงพยาบาล ตอนนี้คุณหมอกำลังตั้งคำถามว่า ถ้าคนกลุ่มที่สามกำลังจามอย่างหนัก คนสองกลุ่มแรกจะกลับไปป่วยด้วยอีกรอบหรือไม่ และคนกลุ่มแรกจะออกจากโรงพยาบาลได้หรือไม่? มุมมองของเราในวันนี้ แม้จะมีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจีนอาจจะชะลอตัวมากกว่าที่คาด จากปัญหาศักยภาพการผลิตส่วนเกินและปัญหาหนี้เอกชนที่มีอยู่มาก แต่เรายังเชื่อว่าจีนน่าจะสามารถบริหารจัดการให้เศรษฐกิจค่อยๆ ชะลอตัวลงแบบค่อยเป็นค่อยไป และหลีกเลี่ยงภาวะวิกฤตไปได้ แต่ถ้าความต้องการบริโภคในจีนลดลงตามการชะลอตัวลงของการลงทุนในประเทศจีน ก็ย่อมจะก่อให้เกิดกระทบต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทั้งโลหะ สินค้าเกษตรและพลังงานอย่างหลีกเลี่ยงได้ลำบาก เพราะจีนเป็นผู้ใช้รายใหญ่ของสินค้าเหล่านี้ แต่คนที่น่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุดจึงเป็นประเทศกำลังพัฒนา ที่พึ่งพาการส่งออกโดยเฉพาะการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ ยกตัวอย่างเช่นประเทศไทย ราคายางที่อยู่ในระดับต่ำ สร้างปัญหาทั้งกับรายได้จากการส่งออก และรายได้ของเกษตรกร ซึ่งส่งผลกระทบต่อการบริโภคอีกต่อหนึ่ง ทำให้การฟื้นตัวอย่างรวดเร็วเป็นไปได้ยาก หากการส่งออกและราคาสินค้าเกษตรยังไม่ดีขึ้น ประเทศอื่นๆ ที่ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์เช่น บราซิล มาเลเซีย หรือรัสเซีย ก็ได้รับผลกระทบต่อเศรษฐกิจไม่น้อยเลยทีเดียว อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังได้รับผลดีจากราคาน้ำมันที่ลดลง ทำให้การนำเข้าของเราลดลงไปอย่างมาก อีกทั้งรายจ่ายด้านพลังงานของผู้บริโภคก็ลดลงไปด้วย ซึ่งน่าจะทำให้การบริโภคด้านอื่นๆ ได้รับอานิสงส์ไปบ้าง ความเสี่ยงการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐ ประเด็นที่สองคือเรื่องแนวโน้มนโยบายการเงินของประเทศใหญ่ๆ ซึ่งยังคงเป็นประเด็นที่ต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิด เพราะมีผลสำคัญต่อการตัดสินใจลงทุน ธนาคารกลางสหรัฐฯ ส่งสัญญาณค่อนข้างชัดเจนมาสักระยะหนึ่งแล้วว่ามีความเป็นไปได้ที่จะปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นเร็วๆ นี้ (แม้มีการคาดการณ์ว่าอาจจะเลื่อนออกไปอีกก็ได้) ถ้าตลาดแรงงานและเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่ายังคงความเสี่ยงจากแนวโน้มเศรษฐกิจภายนอกประเทศอยู่บ้าง หลังจากปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นเป็นครั้งแรกแล้ว ธนาคารกลางสหรัฐฯ ก็น่าจะค่อยๆ ปรับดอกเบี้ยขึ้นอย่างช้าๆ เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากเสถียรภาพทางการเงินจากการที่ดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน ในขณะที่ธนาคารกลางยุโรปและญี่ปุ่น ก็ส่งสัญญาณว่าอาจจะยังมีความจำเป็นที่จะต้องกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม เพราะเศรษฐกิจและเงินเฟ้อมีแนวโน้มแย่กว่าที่คาด อัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น ช่วงปี 2007 - 2015 จะเห็นได้ชัดว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น อยู่ในระดับต่ำใกล้ศูนย์มาตั้งแต่ปลายปี 2008 แนวโน้มแบบนี้น่าจะทำให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินยูโร และเงินเยน ซึ่งน่าจะเป็นผลดีต่อตลาดหุ้นญี่ปุ่นและยุโรป ที่ valuation กลับมาน่าสนใจมากขึ้นหลังระดับราคาปรับลดลงมาก่อนหน้านี้ แต่หากอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐปรับขึ้นเร็วกว่าที่ตลาดคาด ก็อาจจะส่งผลต่อราคาสินทรัพย์เสี่ยงได้ เพราะราคาสินทรัพย์ทุกชนิดถูกเปรียบเทียบกับอัตราดอกเบี้ย ถ้าอัตราดอกเบี้ยถูกปรับขึ้น ความน่าสนใจของสินทรัพย์เหล่านั้นก็อาจจะลดลง นอกจากนี้ การปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังอาจจะทำให้เกิดความผันผวนจากการเคลื่อนย้ายเงินทุน โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา ที่ได้รับประโยชน์จากการทำ QE ในช่วงที่ผ่านมา ประเทศที่มีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอ เช่น ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด มีปัญหาเงินเฟ้อสูง มีหนี้ โดยเฉพาะหนี้ในเงินสกุลต่างประเทศสูง หรือมีเงินทุนสำรองไม่เพียงพอ อาจจะเป็นประเทศที่ถูกเพ่งเล็งค่อนข้างมาก เพราะต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น อาจจะทำให้ประเทศเหล่านี้มีปัญหาสภาพคล่องได้ สำหรับประเทศไทย แม้เราจะมีภูมิคุ้มกันที่ค่อนข้างแข็งแรง จากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด เงินเฟ้อต่ำ และทุนสำรองที่มีอยู่ปริมาณมาก แต่ในระยะสั้นเศรษฐกิจไทยอาจจะได้รับผลกระทบจากแนวโน้มและปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่พึ่งพาการส่งออกเป็นเครื่องจักรสำคัญทางเศรษฐกิจ อาจจะทำให้ได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ลดต่ำลง และอาจจะได้รับกระทบจากการเคลื่อนย้ายเงินทุนที่อาจจะมีความผันผวนมากขึ้นด้วย มุมมองการลงทุน การลงทุนในหุ้นเป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนดีที่สุดในระยะยาว แต่ก็เป็นไปได้ว่าอาจจะมีความผันผวนเกิดขึ้นในระยะสั้น การลงทุนจึงควรเป็นไปอย่างระมัดระวัง และอาจจะใช้โอกาสที่มีความผันผวนเข้าลงทุนในตลาดหุ้นที่แข็งแกร่งและมีความน่าสนใจ ในภาวะเศรษฐกิจและการลงทุนในหุ้นไทยอาจจะยังมีความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกและการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศอาจยังมีข้อจำกัด นักลงทุนควรกระจายความเสี่ยงไปยังตลาดหุ้นต่างประเทศบ้าง โดยเฉพาะตลาดหุ้นของประเทศที่พัฒนาแล้ว เพราะถึงแม้จะได้รับผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้บ้าง แต่ก็น่าจะน้อยกว่า เนื่องจากพื้นฐานเศรษฐกิจภายในประเทศแข็งแกร่ง โดยเฉพาะถ้าได้รับแรงสนับสนุนจากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและผลกำไรด้วย ตลาดหุ้นที่เราชอบได้แก่ 1) ตลาดหุ้นญี่ปุ่นที่น่าจะได้รับผลดีจากมาตรการปฏิรูปและกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล และการปฏิรูปบริษัทที่เน้นผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้นมากขึ้น 2) ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่ยังคงมีความแข็งแกร่งด้านพื้นฐานทางเศรษฐกิจ และน่าจะได้รับผลดีจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และ 3) ตลาดหุ้นยุโรป ที่กำลังอยู่ในภาวะค่อยๆ ฟื้นตัว และอาจจะได้รับประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมจากธนาคารกลางยุโรปด้วย ช่วงนี้อาจจะเป็นช่วงที่ต้องระมัดระวังการลงทุนที่มีความเสี่ยงเรื่องของเครดิตมากๆ การลงทุนที่เกี่ยวเนื่องกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับตลาดเกิดใหม่ไปก่อน รอให้คลื่นลมสงบแล้วค่อยกลับมาดูกันใหม่ครับ
ดร. พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ช่วยกรรมการผู้จัดการและหัวหน้าทีมวิจัยลูกค้าบุคคล บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน)