“ธุรกิจครอบครัว (Family Business)” มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจโลกและต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย ปัจจุบันจำนวนของธุรกิจครอบครัวมีมากถึง 75% ของธุรกิจทั่วโลก โดยธุรกิจครอบครัวที่จดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชนจำนวน 3,568 แห่ง จากทั้งสิ้น 10 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย พบว่ามีมูลค่าสูงกว่า 50 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ
สำหรับในประเทศไทยนั้นธุรกิจครอบครัวมีมูลค่ารวมประมาณ 28 ล้านล้านบาท จากธุรกิจรวม 39 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 72% ของระบบเศรษฐกิจ และถ้าหากนับเฉพาะบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่เป็นธุรกิจครอบครัว หรือควบคุมกิจการโดยบุคคลในครอบครัว พบว่ามีมากถึง 50.4%ธุรกิจครอบครัวไทยพร้อมรับมือ
The Economist Intelligence Unit (EIU) ภายใต้การสนับสนุนจาก เอสเอพี (SAP) ได้จัดทำผลวิจัยการประเมินความพร้อมของธุรกิจครอบครัวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมถึงเอเชียใต้ พบข้อมูลที่น่าสนใจว่า กลุ่มธุรกิจครอบครัวในไทยและฟิลิปปินส์มีความเชื่อมั่นสูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในด้านการเตรียมพร้อมสำหรับอนาคต โดยในงานวิจัยครั้งนี้ได้ประเมินความพร้อมของธุรกิจครอบครัวใน 4 ด้านด้วยกัน ได้แก่ บุคลากร สภาพแวดล้อม กระบวนการและเทคโนโลยี จากงานวิจัยพบว่า ธุรกิจครอบครัวในไทยมีผลตอบรับในทางที่ดีในการจัดการกับเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น ระบบคลาวด์คอมพิวติ้ง โดยมีคะแนนอยู่ที่ 8.3 จากคะแนนเต็ม 10 ซึ่งไทยมีคะแนนเท่าฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย ในด้านการเรียนรู้ด้านเครื่องจักรที่ 8.2 คะแนน อีกทั้งยังได้รับความเชื่อมั่นสูงสุดในด้านความสามารถในการคัดเลือกพนักงานอยู่ที่ 8.6 รวมถึงความสามารถและการพัฒนาศักยภาพของพนักงานอยู่ที่ 8.6 เท่ากับฟิลิปปินส์ นอกจากนี้ ธุรกิจครอบครัวในไทยยังมีทัศนคติไปในเชิงบวกต่อสภาพของธุรกิจ และมีความเชื่อมั่นว่าจะสามารถเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จึงไม่ค่อยมีความกังวลต่อปัจจัยคุกคามเกี่ยวกับปัจจัยภายนอกที่เป็นทางลบ เช่น เรื่องของกฎหมาย การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และปัจจัยเสี่ยงด้านภูมิศาสตร์ การเมือง เป็นต้น เป็นสัญญาณว่าการลงทุนของรัฐบาลและการเริ่มต้นนโยบายประเทศไทย 4.0 กำลังเป็นที่น่าจับตามอง ธุรกิจครอบครัวในไทยส่วนใหญ่ประเมินค่าสูงในเรื่องคุณภาพระบบการศึกษาในการอบรมพนักงานใหม่และคุณภาพโครงสร้างระบบ ICT ตามความเห็นของ Andrew Staples ซึ่งเป็น Global Editorial Director แห่ง The Economist Corporate Network ยังเห็นว่าธุรกิจครอบครัวในประเทศไทยได้คะแนนเกินค่าเฉลี่ยทั้ง 4 ด้าน ไม่ว่าจะเป็น ด้านบุคลากรที่เชื่อมั่นว่ามีความสามารถด้านดิจิทัล ด้านเทคโนโลยีมีความมั่นใจในการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ รวมถึงความพร้อมในการเปิดรับพันธมิตรใหม่ๆ ซึ่งจากเดิมจะเป็นองค์กรขนาดใหญ่เป็นส่วนใหญ่ จึงนับเป็นสัญญาณที่ดี และเพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งของสิ่งที่มีอยู่และโอกาสในการเติบโตของธุรกิจ พวกเขาไม่สามารถที่จะหวังพึ่งเส้นสายหรือลูกค้าคนสำคัญได้ตลอดไป ธุรกิจครอบครัวและธุรกิจเอสเอ็มอี ต้องพิสูจน์ตัวเองกับเทคโนโลยีดิจิทัล และจำเป็นที่จะต้องรู้ถึงวิธีการทำงาน รวมถึงวิวัฒนาการต่างๆ เพื่อที่จะแข่งขันกับธุรกิจในระดับนานาชาติได้ เช่นเดียวกับความเห็นของ ดร.ภวิดา ปานะนนท์ รองศาสตราจารย์คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เห็นว่าในยุคดิจิทัล องค์กรธุรกิจครอบครัวไทยเผชิญความท้าทายจากดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นในหลายมิติ เช่น โครงสร้างธุรกิจครอบครัวที่มีการขยายไปในหลายธุรกิจ การใช้กลยุทธ์ราคาเป็นหลัก การสร้างสมดุลระหว่างคนในครอบครัวและมืออาชีพจากภายนอก และสภาพแวดล้อมที่มีเครือข่ายจากความเป็นครอบครัว ความท้าทายของกลุ่มธุรกิจครอบครัวนั้นคือการเกิดช่องว่างของระบบเทคโนโลยีที่บางกลุ่มอาจไม่ยอมเปิดรับปรับตัวสู่ความยั่งยืน
แม้ว่า 60% ของครอบครัวที่เป็นเจ้าของธุรกิจจะไม่กังวลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีใหม่ๆ แต่ผลวิจัยระบุว่าผู้บริหาร 7 ใน 10 คนยอมรับว่าบริษัทของตนจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อเอาชนะความสำเร็จและความท้าทายในอีก 3 ปีข้างหน้า การปรับตัวของธุรกิจครอบครัวจึงมีความจำเป็นอย่างมากในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล การเข้ามาของดิจิทัลดิสรัปชั่นส่งผลให้ทุกภาคส่วนต้องเตรียมพร้อมรับมือและพร้อมเปลี่ยนผ่านเพื่อก้าวสู่อนาคตที่เทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทสำคัญมากขึ้นทุกขณะ นั่นหมายความว่าจะต้องเผชิญหน้าทั้งการคว้าโอกาสที่จะมาพร้อมกับเทคโนโลยีใหม่ๆ และเผชิญความท้าทาย รวมถึงการขจัดปัญหาอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้นได้ จากอัตราการเติบโตที่รวดเร็วของเศรษฐกิจดิจิทัลในปัจจุบัน ประกอบกับผู้เล่นระดับโลกลงมาแข่งขันในตลาดท้องถิ่นมากขึ้น ธุรกิจครอบครัวจึงต้องฉลาดทันเกมการแข่งขันและเตรียมพร้อมอยู่เสมอกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ความสำเร็จของธุรกิจครอบครัวในการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น คือ การจับคนรุ่นใหม่มาผสมผสานกับภูมิปัญญาของคนรุ่นเก่าได้อย่างลงตัว มีการอบรมพนักงานให้ก้าวทันยุค และสิ่งสำคัญคือต้องเปิดกว้างรับเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น การปรับใช้โซลูชั่น ERP ที่ชาญฉลาด ซึ่งเป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่อีกขั้น เข้าไปในทุกๆ ด้านของธุรกิจ เพื่อเพิ่มมูลค่าและรายได้ ผ่านการใช้ประโยชน์ของฐานข้อมูลจากระบบอัตโนมัติที่ทันสมัย ที่ท้ายสุดแล้วจะเข้ามาหนุนธุรกิจให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนใช้เทคโนโลยีขับเคลื่อนธุรกิจ
ผลวิจัยที่น่าสนใจอีกส่วนหนึ่งยังระบุว่า ธุรกิจครอบครัวของไทยกำลังมองหาตลาดใหม่ๆ เตรียมเพิ่มสินค้าใหม่ และเตรียมเปิดรับแผนธุรกิจใหม่ในอีก 3 ปีข้างหน้า และเพื่อที่จะไปให้ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ พวกเขากำลังแสวงหาความร่วมมือกับบริษัทอื่นๆ เพื่อเร่งขยายการเติบโตในตลาดใหม่ๆ และพัฒนาสินค้าและบริการใหม่ ธุรกิจครอบครัวในประเทศไทยมีความต้องการที่จะร่วมมือกับบริษัทขนาดใหญ่ในประเทศเป็นอย่างมากเพื่อช่วยกระตุ้นการเติบโตของธุรกิจ ที่ผ่านมา SAP ได้ร่วมมือกับหลากหลายองค์กรในประเทศไทยในการปรับใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น การขยายตัวของธุรกิจไปยังตลาดต่างประเทศ นอกจากจะต้องมีความแข็งแกร่งด้านผลิตภัณฑ์ที่ดีแล้ว ระบบไอทีหลังบ้านยังมีความจำเป็นอย่างมาก ต้องสามารถทางานได้แบบเรียลไทม์ เชื่อมโยงการทำงานทุกสาขา ให้สามารถทำงานได้รวดเร็วขึ้น เพิ่มประสิทธิผลการทำงานที่แม่นยำ ระบบที่ทันสมัย รวมถึงยังต้องมีมาตรฐานความปลอดภัยสูง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจและประสิทธิภาพการดำเนินงานโดยรวม และเสริมศักยภาพธุรกิจให้สามารถตอบโจทย์การดำเนินธุรกิจและการบริหารจัดการธุรกิจในยุค 4.0 ได้อย่างครบถ้วน เอสเอ็มอีและธุรกิจครอบครัวมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย การปรับตัวของธุรกิจครอบครัวจึงมีความจำเป็นอย่างมากในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล Verena Siow กรรมการผู้จัดการ SAP ประจำภูมิภาคอินโดไชน่า อ่านเพิ่มเติม- ศูนย์ STEWARDSHIP ASIA เผยแพร่ 7 คุณลักษณะสร้างธุรกิจครอบครัวที่ยั่งยืน
- โจทย์ท้าทายของธุรกิจครอบครัวยุคดิจิทัล
คลิกอ่านบทความทางธุรกิจที่น่าสนใจอื่นๆ ได้จากนิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2561