อาชญากรรมแฝงของ "เงินดิจิทัล" ปัญหาที่ทุกฝ่ายต้องหาทางป้องกัน - Forbes Thailand

อาชญากรรมแฝงของ "เงินดิจิทัล" ปัญหาที่ทุกฝ่ายต้องหาทางป้องกัน

FORBES THAILAND / ADMIN
05 Jan 2019 | 10:30 AM
READ 11123

การเข้ามาของเทคโนโลยีมีทั้งผลบวกและลบต่อชีวิตของผู้คนในสังคม แม้เทคโนโลยีจะทำให้เกิดการพัฒนาในด้านต่างๆ แต่ถ้าคนทั่วไปยังไม่เข้าใจเทคโนโลยีดีพอ ก็อาจถูกผู้ประสงค์ร้ายฉ้อฉลได้ โดยเฉพาะอาชญากรรมแฝงที่มากับ "เงินดิจิทัล" 

เมื่อเร็วๆ นี้ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ได้ร่วมกับ สำนักงานสหประชาชาติว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรม (UNODC) จัดการเสวนาเรื่องกระบวนการยุติธรรมกับการตอบสนองต่ออาชญากรรมที่อาศัย Cryptocurrency” โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญจากหลายภาคส่วนทั้งในและต่างประเทศ ร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลที่น่าสนใจหลายประการ ซึ่งจะขอนำมาแบ่งปันในที่นี้

 

เงินดิจิทัลคืออะไร?

ในยุคไทยแลนด์ 4.0 ระบบสกุลเงินดิจิทัลหรือ cryptocurrency ทำให้เกิดทางเลือกใหม่ในการเก็บรักษาเงิน การลงทุน และการชำระค่าใช้จ่ายหรือค่าสินค้าและบริการ จากเดิมที่ต้องผ่านสถาบันการเงิน มาสู่สิ่งที่ทันสมัยและรวดเร็วกว่าโดยใช้ เทคโนโลยีบล็อกเชน (blockchain)

การแลกเปลี่ยนสินทรัพย์แบบนี้ทำได้โดยไม่ต้องมีหน่วยงานกลางควบคุมการทำธุรกรรม ไม่มีการแสดงตัวตนเจ้าของ แต่สามารถตรวจสอบและระบุตัวตนได้ ทั้งนี้ ในระบบจะแสดงเพียงบันทึกประวัติธุรกรรมการเงินเท่านั้น

ช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมา มีการสร้างเงินสกุลดิจิทัลขึ้นมามากมาย โดยหากเรียงตามมูลค่าตามราคาตลาด คำนวณจากจำนวนเหรียญคูณด้วยอัตราซื้อขาย เงินสกุลดิจิทัล 5 อันดับแรก ได้แก่ Bitcoin, Ethereum, Ripple, Bitcoin Cash และ Litecoin อย่างไรก็ดี ในความเป็นจริงเงินสกุลดิจิทัลที่มีการสร้างขึ้นมานั้น มีมากกว่า 1,900 สกุล ซึ่งแต่ละสกุลเงินก็มีระดับความนิยมและความน่าเชื่อถือแตกต่างกันไป

ราคาหรือมูลค่าของเงินสกุลดิจิทัลจะขึ้นลงตามกลไกตลาด ผู้สนใจเงินสกุลดิจิทัลหลากหลาย ตั้งแต่ผู้ที่ต้องการทดลองเล่นกับนวัตกรรมเทคโนโลยีการเงินด้วยความอยากรู้อยากเห็น ต้องการสร้างผลประโยชน์ทางการเงินจากการร่วมตรวจสอบข้อมูลธุรกรรมของเงินสกุลดิจิทัล หรือที่เรียกว่า ขุดเหมือง (mining) ต้องการใช้เงินสกุลดิจิทัลเป็นทางเลือกในการเก็บเงิน ต้องการการลงทุนระยะสั้นและระยะยาวเพื่อหวังกำไร หรือแม้แต่กรลงทุนใน Initial Coin Offering (ICO) ของกลุ่มสตาร์ทอัพ

นักวิเคราะห์จำนวนมากระบุว่า ตลาดเงินสกุลดิจิทัลถือเป็นตลาดที่มีความเสี่ยงสูง เนื่องจากมีเงินลงทุนไหลเข้ามามาก ทำให้ราคาเกิดความผันผวน และตลาดมีความอ่อนไหวสูง จนมีการมองว่าระบบเงินสกุลดิจิทัลจะไม่มีความยั่งยืน เพราะไม่ได้ถูกสร้างขึ้นโดยมีสินทรัพย์ที่มีค่ารองรับมูลค่าของสกุลเงิน และยังมองว่าปริมาณเงินที่สร้างขึ้น ก็อาจไม่สามารถควบคุมให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจที่แท้จริงได้

 

เงินดิจิทัล ช่องโหว่อาชญากรรม

ในอีกด้านหนึ่ง ลักษณะเด่นของ cryptocurrency ที่ช่วยให้ทำธุรกรรมได้อย่างรวดเร็ว ผ่านเทคโนโลยีบล็อกเชนที่ไม่ต้องแสดงตัวตน ได้ดึงดูดกลุ่มอาชญากรให้ฉวยโอกาสเข้ามาก่อ อาชญากรรมไซเบอร์ มีการโจมตี ขโมย หรือเกิดการหลอกลวงเกิดขึ้นเป็นระยะ รวมทั้งเกิดอาชญากรรมข้ามชาติหลายรูปแบบ เช่น การขู่เงินเรียกค่าไถ่ผ่าน ransomware การลักพาตัวเรียกค่าไถ่ การซื้อขายสินค้าผิดกฎหมาย ไปจนถึงการฟอกเงิน และการสนับสนุนทางการเงินแก่กลุ่มก่อการร้าย

ผู้แทนจากสำนักงานสหประชาชาติว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรม (UNODC) ให้ข้อมูลว่า อาชญากรรมไซเบอร์ได้สร้างความเสียหายให้แก่เศรษฐกิจโลกราว 6 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี ในภูมิภาคอาเซียนได้ก่อความเสียหาย 1.2-2 แสนล้านเหรียญต่อปี ขณะเดียวกันสกุลเงินดิจิทัลก็ได้สร้างผลกำไรให้ผู้ประกอบการในประเทศแถบนี้ถึง 1.5 ล้านล้านเหรียญต่อปีด้วยเช่นกัน

ในประเทศไทย สกุลเงินดิจิทัลยังเป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจ และมีความเสี่ยงสูงที่จะถูกล่อลวงให้ตกเป็นเหยื่อของอาชญากร ตั้งแต่การหลอกให้ใช้สกุลเงินดิจิทัลร่วมลงทุน ไปจนถึงการเปิดเงินสกุลดิจิทัลขึ้นใหม่และหลอกให้เข้าร่วมในลักษณะคล้ายแชร์ลูกโซ่

 

ดราก้อนคอยน์ คำเตือนการก่ออาชญากรรมไซเบอร์

เมื่อเร็วๆ นี้ มีคดีฉ้อโกงที่กลายเป็นข่าวดังคือนักธุรกิจชาวฟินแลนด์ถูกหลอกลวงให้ลงทุนในเงินดิจิทัลสกุลดราก้อนคอยน์และซื้อหุ้นบริษัท DNA 2002 โดยได้โอนเงินบิทคอยน์มูลค่าถึง 797 ล้านบาทไปยังกระเป๋าเงิน e-wallet ของกลุ่มผู้ต้องหา

คดีดังกล่าวนี้ มีการโยงไปถึงคนดังในวงการตลาดหุ้นหลายคน และสะเทือนวงการ cryptocurrency อย่างมาก เพราะสกุลเงินดิจิทัลยังถือเป็นสิ่งใหม่ของสังคมไทย และยังขาดกฎหมายที่ควบคุมอย่างชัดเจน คดีนี้เปรียบเสมือนเสียงเตือนให้หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะภาครัฐรีบหาทางควบคุมและป้องกันปัญหาที่อาจเกิดจากการใช้สกุลเงินดิจิทัลโดยมิชอบที่คาดการณ์ว่าจะมีมากขึ้นในอนาคต

กรณีดราก้อนคอยน์นี้เป็นการหลอกลวงโดยสร้างความโลภให้นักลงทุน โน้มน้าวให้ลงทุนใน cryptocurrency เพื่อผลตอบแทนที่ดีหรือกำไรสูงๆ ซึ่งคดีแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในประเทศไทย ในประเทศอื่น เช่น สหรัฐอเมริกาและหลายประเทศในยุโรปก็มีอาชญากรรมในลักษณะนี้มาก่อน และมีมูลค่าความเสียหายสูงมาก

 

ภาครัฐควรเร่งรับมือ

สิ่งแรกที่ประเทศไทยควรเร่งทำเพื่อรับมือกับอาชญากรรมที่อาศัยเงินสกุลดิจิทัล คือต้องให้ควมรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับเรื่อง cryptocurrency อย่างจริงจัง และสร้างภูมิคุ้มกันทางความคิด ที่เรียกว่า Digital Intelligence ไม่ให้หลงเชื่อกับคำชักชวนที่เกินจริง

แม้ฝ่ายกฎหมายของไทยจะพยายามสร้างกฎระเบียบเพื่อกำกับดูแลการทำธุรกรรมดังกล่าว หาทางป้องกันและอุดช่องโหว่ แต่อาชญากรก็สามารถใช้โอกาสความล้ำหน้าทางเทคโนโลยีในการกระทำผิดได้เช่นกัน ดังนั้น สิ่งที่ทำได้คือการเตรียมความพร้อมแก่เจ้าหน้าที่และผู้เกี่ยวข้องในทุกภาคส่วนให้มีความรู้ ความเข้ใจ และทักษะที่พร้อมปรับตัวใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ รับมือกับอาชญากรรมที่เปลี่ยนรูปแบบไปอย่างรวดเร็วได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ประเทศไทยควรจะต้องทำงานประสานใกล้ชิดกับประเทศต่างๆ ในระดับภูมิภาค เพื่อแบ่งปันประสบการณ์ แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และวิธีปฏิบัติในกระบวนการยุติธรรม เพื่อรับมือกับอาชญากรรมที่อาศัยสกุลเงินดิจิทัล โดยเฉพาะคดีที่เป็นอาชญากรรมข้ามชาติที่ผ่านมา กลไกของรัฐมีความล่าช้าและบุคลากรมีความรู้ไม่เท่าทันเทคโนโลยี

อาชญากรรมดิจิทัลที่เกิดขึ้นส่วนมากเกิดขึ้นในลักษณะที่ยังไม่มีกฎหมายรองรับ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งพัฒนาองค์ความรู้ ทักษะ และหลักปฏิบัติที่ดีเพื่อนำมาใช้ในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมดิจิทัลในไทย

การจะจับอาชญากรได้ ผู้พิทักษ์กฎหมายต้องรู้จักและเข้าใจเทคโนโลยีที่อาชญากรใช้เป็นเครื่องมือ ในขณะเดียวกันก็ต้องพยายามคาดเดาว่าอาชญากรคิดอย่างไร

สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่จะช่วยให้ประเทศไทยต่อต้านอาชญากรรมดิจิทัลได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น คือการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัย มาใช้ร่วมกับการสืบสวนสอบสวนแบบดั้งเดิม เช่น การสร้างกระเป๋าเงินดิจิทัล (e-wallet) เพื่อยึดหลักฐานสกุลเงินดิจิทัลมาเข้ากระเป๋ากลางของรัฐได้อย่างทันท่วงที ไม่เปิดโอกาสให้อาชญากรเคลื่อนย้ายเงินอิเล็กทรอนิกส์หลังเจ้าหน้าที่เข้าจับกุม เป็นต้น

 

.พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ)