อะไรคือทางรอดของ "คนชั้นกลาง" ในยุคดิจิทัล - Forbes Thailand

อะไรคือทางรอดของ "คนชั้นกลาง" ในยุคดิจิทัล

ทางรอดของ "คนชั้นกลาง" ในยุคปัจจุบัน ถ้าจะเปรียบเทียบแบบง่ายๆ เราสามารถจัดกลุ่มคนที่มีรายได้ได้ 3 กลุ่ม คือ กลุ่มชนชั้นคนรวย คนชั้นกลาง และคนชายขอบ

กลุ่มชนชั้นคนรวย คนรวยส่วนใหญ่ในประเทศไทย มีทั้งกลุ่มศักดินา กลุ่มแลนด์ลอร์ด กลุ่มเจ้าของธุรกิจทั้งที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์และนอกตลาดหลักทรัพย์ นักการเมือง ข้าราชการระดับสูงกลุ่มผู้บริหารระดับสูงในบริษัทใหญ่ๆ กลุ่มเศรษฐกิจสีเทา (บ่อน หวย เงินกู้ดอกเบี้ยโหด) และบางทีก็เป็นกลุ่มเศรษฐกิจสีดำ (ยาเสพติด) กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบทางการถดถอยทางเศรษฐกิจ ค่อนข้างน้อย ถ้าไม่ทำอะไรเกินตัว เพราะถ้านับเฉพาะ asset class ที่มี คนพวกนี้ส่วนใหญ่ใช้เงินทำงาน และหลายคนมีรายได้แบบ passive income จากสินทรัพย์อยู่แล้ว (ที่ดิน อาคาร อสังหาริมทรัพย์ กองทุน หุ้น financial product) อาจจะมีบ้างที่จะล้ม เพราะปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีไม่ทัน แต่เป็นในลักษณะที่องค์กรล้ม แต่เข้าใจว่าส่วนตัวก็ยังยืนอยู่ได้สบายๆ คนชั้นกลาง กลุ่มนี้ประกอบไปด้วย พนักงานบริษัทเอกชน ข้าราชการระดับซี 4 ขึ้นไป เจ้าของธุรกิจขนาดเล็กและกลาง เทรดเดอร์อิสระ ฟรีแลนซ์ คนขายของออนไลน์ คนว่างงานที่ยังพอมีเงินเก็บ กลุ่มนี้แต่เดิมมีความเป็น variance (การกระจายของชุดข้อมูล) สูงมาก มีทั้งกลุ่มคนที่สามารถเขยิบฐานะเป็นคนรวยในอนาคตได้ ในขณะที่บางคนหลุดลงไปกลายเป็นคนชายขอบ แต่จากการปฏิวัติทางดิจิทัล (digital revolution) การที่ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงได้ กลุ่มนี้อีกจำนวนมากมีแนวโน้มว่าจะโดนกระแสการเปลี่ยนแปลงรอบนี้ ถีบลงไปให้กลายเป็นคนชายขอบแบบไม่รู้ตัว คนชายขอบ สาเหตุที่ผมไม่อยากใช้คำว่า คนจน เพราะเป็นการวัดในเชิงปริมาณแต่เพียงอย่างเดียว แต่ผมอยากชี้ให้เห็นว่า การที่คนจน ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากการขาดโอกาส - ขาดโอกาสทางการศึกษา - ขาดโอกาสทางอาชีพ - ขาดโอกาสทางการเข้าถึงแหล่งเงินทุน - ขาดโอกาสเนื่องจากประสบภาวะหนี้สินพะรุงพะรัง - ขาดโอกาสเพราะมีทัศนคติที่ยังพึ่งพาโชคชะตาหรือวัวสามขาเป็นหลัก กลุ่มนี้หนักอยู่แล้วในปัจจุบัน ดังนั้นการปฏิวัติทางดิจิทัล ก็เลยไม่ได้ทำให้พวกเขาแย่ลงไปเท่าไหร่ เพราะตอนนี้ก็เหนื่อยและหนักอยู่แล้ว 1.การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ ผมมีความเห็นว่า คนชั้นกลางกำลังจะถูกผลักให้เป็นคนชายขอบ (หรือเรียกง่ายๆ ว่า กำลังจะกลายเป็นคนจน) เนื่องจาก 2.เกิดการเลิกจ้างงานในหลายอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อุตสาหกรรมที่ถูก disruption 3.ทุนใหญ่ผูกขาด platform ลองไปขายออนไลน์แข่งกับ Lazada หรือ Shopee บริษัทเหล่านั้นยอมขาดทุนหลายพันล้านบาทต่อปี เพื่อเปลี่ยน consumer behavior 4.AI เข้ามาแทนที่มนุษย์ในทุกภาคส่วน 5.การไม่สามารถเรียนรู้เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงได้ทัน ทำให้ธุรกิจที่ทำอยู่ไม่สามารถแข่งขันได้ ถ้าใครเห็นความเปลี่ยนแปลงตรงนี้ ต่อไปเราจะเห็นโครงสร้างของชนชั้นแค่สองกลุ่ม กลุ่มที่ปรับตัวทัน หรือมี asset class อยู่แล้ว เป็นคนคุมระบบ กลุ่มที่ปรับตัวไม่ทัน กลายเป็นทาสของระบบ

แล้วเราจะมีทางรอดได้อย่างไร ซึ่งทางรอดก็คือ

1. เรียนรู้ทุกเทคโนโลยีที่กำลังจะเกิดขึ้น ไม่ต้องถึงขั้นรู้ทั้งหมด แต่ต้องรู้ว่าเรากำลังต้องเจอกับอะไร Artificial Intelligence? Quantum Computing ? Big Data Analysis ? Blockchain ? High Frequencies Trading ? เอาคำพวกนี้ไปพิมพ์ใน google แล้วลองอ่านดู ใช้เวลาไม่นานหรอก 2. หลังจากพอรู้ว่าตอนนี้กำลังจะเกิดอะไรขึ้น ให้หันมาพิจารณาตัวเองว่า ในธุรกิจที่เราทำอยู่ ในงานที่เราทำอยู่ ในอาชีพที่เราหาเลี้ยงตัวเองอยู่ เราจะรอดมั้ย ?????? งานบางอาชีพ ผมคิดว่ารอดแน่ๆ โดยเฉพาะงานที่เป็น humanity touch เพราะ AI มันยังทำแทนเราไม่ได้ แต่งานที่ถูกผลิตซ้ำ อันนั้นเรียบร้อยก่อน งานที่ใช้ creativity thinking ยังรอด เพราะ AI ยังไม่สามารถประเมินผลข้อมูลเพื่อตัดสินใจในทุกๆ scenario ทีดีที่สุดได้ แต่ต่อไป ถ้ามีข้อมูลมากพอ มีเวลาไม่พอ ผมเชื่อว่างานที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ เราก็อาจถูกแทนที่โดย AI สำหรับผม ผมเลือกอาชีพเทรดเดอร์และนักลงทุน ถึงแม้จะเจอ high frequencies trade ในปัจจุบัน (มีอยู่แล้ว ไม้ใหญ่แย่ง order ในระดับ millisecond) ผมคิดว่าผมสู้มันได้โดยการกระจายคำสั่งที่ส่ง order และถ้าเรามีหุ้นหรือมีเงินมากพอ เรา convince ให้มันทำตามเกมส์เราได้ด้วยซ้ำ แม้ในอนาคตจะมี Artificial intelligence เข้ามา ผมก็ไม่กลัว เพราะผมคิดว่า ผมยังใช้ time-frames ที่กว้างขึ้น และไม่ไปแข่งในระยะสั้นกับมัน (ระยะสั้นเราสู้มันยาก แต่เราใช้ระยะเวลาและ money management ช่วย) คุณต้องไปพิจารณาความเสี่ยงในธุรกิจของคุณเอง ในงานของคุณเอง ว่า New entrant ที่กำลังจะเข้ามา มีระบบการประมวลผลที่เร็วกว่า มีชุดข้อมูลที่ครบกว่า เราจะรับมือกับมันได้อย่างไรในอาชีพของเรา 3. ถ้านึกไม่ออก ผมพูดจริงๆ นะ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที 9 คือทางรอดให้กับทุกคน ลองไปอ่านให้ตกผลึก จะรู้ว่า back to basic ถ้าเราปรับตัวตามระบบไม่ได้ เราก็ต้องออกจากระบบไปเลย โดยการอยู่ให้ได้ในจุดที่ตัวเองยืนอยู่ 4. งานฝีมือ เลือกมาสักอย่างหนึ่งแล้วทำให้ดีที่สุด ผมไม่เชื่อว่า คนอยากกินอาหารที่ถูกปรุงโดย robot เรายังอยากกินจากฝีมือของเชฟที่เป็นมนุษย์มากกว่า ผมคิดว่า งานที่ต้องสื่อสารกับมนุษย์ เราต้องการมนุษย์ที่มีประสิทธิภาพมากกว่า หุ่นยนต์ ภาพเขียน จิตรกรรม ประติมากรรม ของสะสมเราคงไม่ประมูลงานจากหุ่นยนต์ที่ผลิดซ้ำได้เรื่อยๆ ดูหุ่นยนต์เตะฟุตบอล แข่งกีฬา ร้องเพลง แสดงละคร เรายังต้องการมนุษย์ เราไม่ได้ต้องการหุ่นยนต์ ถ้าให้ผมมีภรรยาเป็นหุ่นยนต์ ผมยอมอยู่เป็นโสดดีกว่า งานบางอย่าง หุ่นยนต์ไม่มีวันแทนที่มนุษย์ได้ 5. ปรับตัวตามระบบโดยการเรียนรู้ทางเทคโนโลยี ผมว่าอาชีพ developer หรือ data scientists กำลังจะถูกสร้างในตลาดแรงงานจำนวนมาก เพราะเทรนด์มันชัดแล้ว แต่อาชีพอื่นๆ คุณจำเป็นต้องเรียนรู้ว่ามีเทคโนโลยีอะไร ที่จะเข้ามาช่วยในการทำงานได้บ้าง อะไรที่จะมาช่วยในธุรกิจของเราได้บ้าง ไม่จำเป็นต้องไปต่อต้านมัน แต่ให้เรียนรู้ไปกับมัน 6. ต่อต้านไม่ได้ เข้าร่วมเลยละกัน แทนที่เราจะเป็น b2c เราอาจต้องหาธุรกิจที่เป็น b2b โดยการเป็นคู่ค้ากับคนที่ชนะในอุตสาหกรรม ผมเชื่อว่า platform e-commerce ที่ชนะ ยังต้องการสินค้าที่มีคุณภาพที่สุด หรือ cost saving ที่สุด ผมเชื่อว่า เราจะหาหุ้น super stock ได้จากผู้ชนะในการปฏิวัติครั้งนี้ ผมมั่นใจว่า ตลาดแรงงานยังต้องการ มนุษย์ที่มีความสามารถอยู่เสมอ ขอให้โชคดีครับทุกท่านกับทศวรรษหน้า   โดย กระทรวง จารุศิระ ซุปเปอร์เทรดเดอร์รีพับบลิค
ไม่พลาดบทความด้านธุรกิจ กดติดตามได้ที่ Facebook Fanpage: Forbes Thailand Magazine