อสังหาฯ ท่ามกลาง PM 2.5 มากกว่าฝุ่นคือกำลังซื้อ - Forbes Thailand

อสังหาฯ ท่ามกลาง PM 2.5 มากกว่าฝุ่นคือกำลังซื้อ

ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา พื้นที่กรุงเทพฯ – ปริมณฑล ต้องเผชิญกับฝุ่น PM 2.5 หรือ Particulate Matters ที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2.5 ไมครอน (Micron) ซึ่งเป็นฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กมาก ถ้าใครยังนึกภาพไม่ออก ว่าเล็กขนาดไหน ให้นึกถึงเส้นผมของคนเรา ที่สามารถวัดได้ระหว่าง 30 และ 120 ไมครอน

สำหรับสถานการณ์ฝุ่นPM 2.5 ที่มีผลกับสุขภาพของคนนั้น เกิดขึ้นต่อเนื่องในช่วงต้นปี หรือช่วงที่อากาศเย็นลงกว่าปกติของหลายปีมาแล้ว แต่ก่อนหน้านี้ อาจจะได้รับความสนใจน้อย เพราะสถานการณ์ไม่ได้รุนแรง หรือคนส่วนใหญ่ยังไม่ได้รู้สึกว่ามีผลกระทบ ด้วยเพราะฝุ่นPM 2.5 ที่มองด้วยตาเปล่าแทบไม่เห็น แต่ในปี 2562 นี้ รุนแรงกว่าทุกปี จนสังเกตเห็นว่ามีลักษณะคล้ายกับฝุ่นกระจายปกคลุมไปทั่ว คนส่วนใหญ่เริ่มรู้สึกได้ถึงอากาศที่ไม่สะอาด การหายใจที่ให้ความรู้สึกว่าสูดฝุ่นละอองเข้าสู่ร่างกายชัดเจน สะท้อนให้เห็นถึงความละเลยต่อปัญหานี้ที่สะสมมาเป็นเวลานาน

ภาคอุตสาหกรรมถูกจับตา

ทางภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทั้งการผลิตและการก่อสร้าง ถูกจับตาเป็นอันดับต้น ๆ เพราะเป็นกิจการที่หากป้องกันไม่ดี จะก่อให้เกิดฝุ่นพิษจำนวนมากอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งในภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างนั้น นอกจากโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าแล้ว แม้กระทั่งโครงการก่อสร้างอสังหาฯ ทุกรูปแบบก็ถูกเพ่งเล็งไปด้วย โดยเฉพาะการก่อสร้างอาคารสูงต่าง ๆ ทั้งอาคารสำนักงาน โครงการเชิงพาณิชย์ คอนโดมิเนียม ซึ่งผู้ประกอบการอสังหาฯ ต่างก็พยายามหาแนวทางป้องกัน คงไม่อาจหยุดการก่อสร้างได้ แต่ใช้วิธีที่ประเมินว่าอาจจะช่วยได้ เช่น การฉีดน้ำจากรั้วก่อสร้าง ฉีดน้ำจากชั้นดาดฟ้าของอาคาร ฯลฯ หวังเพื่อบรรเทาฝุ่นพิษให้ลดลง แต่การแก้ปัญหาเหล่านั้น ไม่ใช่การแก้ปัญหาระยะยาว เพียงแค่สะท้อนให้เห็นว่า ภาคเอกชนได้ลุกมาทำอะไรบางอย่าง เพื่อลดวิกฤตฝุ่นพิษ ส่วนการแก้ไขระยะยาว นักวิชาการหลายคนมองว่า ทุกคนต้องร่วมมือกัน และสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ที่รุนแรงอย่างชัดเจนในปีนี้ก็อาจเป็นข้อดีที่จะกระตุ้นเตือนให้ทุกคนหันมาให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม การควบคุมปริมาณฝุ่นพิษ นอกจากนี้ นักวิชาการฝั่งอสังหาฯ ยังมองว่า ไม่เพียงแต่ในกรุงเทพฯ หรือหลายจังหวัดในประเทศไทยเท่านั้นที่เผชิญกับฝุ่นพิษ แต่ในหลายเมืองใหญ่ของโลกก็เคยเผชิญปัญหาเหล่านี้มาแล้ว เช่น เยอรมัน จีน ฯลฯ ซึ่งเมื่อปัญหาเกิดขึ้นแล้ว หน่วยงานรัฐของประเทศก็เร่งแก้ไข อย่างกรณีของเยอรมัน เร่งปลูกต้นไม้ รณรงค์ให้ใช้จักรยาน ซึ่งในที่สุด ก็ช่วยลดปัญหาฝุ่นพิษได้ ส่วนหลายเมืองใหญ่ของประเทศไทยที่กำลังเติบโตและขยายตัว ก็ต้องหันมาให้ความสำคัญกับการวางแผนป้องกัน วางแผนให้กับเมือง ที่นอกจากจะต้องมีสาธารณูปโภครองรับประชาชนให้ครบ มีการใช้ประโยชน์พื้นที่อย่างเหมาะสม ยังต้องคิดเรื่องการป้องกันและลดฝุ่นพิษให้กับเมืองด้วย สำหรับการใช้ชีวิต หลายทำเลในเมือง ถูกกล่าวถึงว่าเป็น พื้นที่ที่มีฝุ่นพิษเป็นจำนวนมาก ซึ่งแน่นอนว่า ยิ่งพื้นที่ใดที่มีการก่อสร้างมาก กำลังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง พื้นที่นั้นย่อมมีฝุ่นพิษตามมา ข่าวเหล่านี้ มีผลต่อการใช้ชีวิตในพื้นที่เหล่านั้นหรือไม่? ทั้งในแง่การเข้าไปในแหล่งช้อปปิ้ง การมองหาที่อยู่อาศัย การซื้อคอนโดมิเนียม

ฝุ่นเป็นเพียงหนึ่งปัจจัย มากกว่านั้นคือ ‘กำลังซื้อ’

จากการสำรวจในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ปัญหาฝุ่นพิษในหลายพื้นที่ อาจจะมีผลในเชิงจิตวิทยาบ้าง แต่ไม่ได้มีผลกระทบต่อการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยในทำเลใดทำเลหนึ่งอย่างมีนัยยะ เพราะคนยังต้องอยู่ ต้องใช้ชีวิตในพื้นที่เหล่านั้น เพราะเป็นพื้นที่ของแหล่งงาน เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยที่คุ้นเคย แต่หากในระยะยาว ปัญหาเหล่านี้ใหญ่ขึ้นจนเห็นเป็นภาพที่ชัดเจน จนไม่สามารถออกไปใช้ชีวิตนอกบ้านได้อย่างสะดวก เหมือนเมื่อครั้งน้ำท่วมใหญ่ตอนปลายปี 2554 ที่ทุกอย่างหยุดชะงัก ส่งผลกระทบต่อการขายที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะพื้นที่ที่น้ำท่วม แม้กระทั่งน้ำท่วมผ่านพ้นไปหลายปี แต่ภาพจำยังคงอยู่ หลายพื้นที่จึงมียอดขายชะลอตัวอย่างชัดเจน แต่ภาพรวมตลาดอสังหาฯ เวลานี้ ไม่ได้เผชิญหน้าแค่ฝุ่น PM 2.5 ยังมีหลายปัจจัยต่อเนื่องที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อของลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นกำลังซื้อที่ยังชะลอตัว ราคาอสังหาฯ ที่ยังสูงเกินเอื้อม หนี้ครัวเรือนจากการใช้จ่ายเงินในอนาคตยังมีสัดส่วนสูง สถานการณ์การเมืองที่ทำให้คนไม่มั่นใจว่า เศรษฐกิจในอนาคตจะดีหรือแย่ลง คนซื้อไม่มั่นใจว่าเงินในกระเป๋าของตัวเองจะยังคล่องตัวอยู่หรือไม่ แม้ว่าจากการประเมินภาพรวมตลาดอสังหาฯ ในปี 2561 ที่ผ่านมา จะยังเติบโต และคาดการณ์กันว่าปี 2562 ก็จะเติบโตต่อเนื่อง แต่ผู้ประกอบการหลายรายก็ไม่กล้าฟันธงว่า จะเติบโตในตัวเลขที่สูงได้ และบางรายถึงกับกล่าวว่า เติบโตในแบบทรงตัว พร้อมกันนี้ หากดูจากการอัดแคมเปญแรง ให้ส่วนลด เสนอราคาพิเศษให้กับโครงการพร้อมอยู่ บ้าน-คอนโดฯ ที่สร้างเสร็จแล้วเป็นสต๊อกจมในมือ แต่กระแสการตอบรับกลับไม่หวือหวาอย่างที่คาดไว้ ไม่ว่าจะด้วยปัจจัยใด ตลาดอสังหาฯ ปีนี้ยังน่าเป็นห่วง ยิ่งมาตรการควบคุมการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยของทางธปท. จะบังคับใช้วันที่ 1 เมษายน 2562 ซึ่งเป็นมาตรการที่ส่งผลกระทบกับผู้ที่ผ่อนที่อยู่อาศัยพร้อมกัน 2 หลังขึ้นไป และที่อยู่อาศัยที่มีราคาตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป ก็ยิ่งน่าจับตามองว่า การเติบโตของตลาดในแต่ละเซกเมนต์จะยากขึ้นหรือไม่ แน่นอนว่า สิ่งที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่โฟกัส นั่นคือ เรื่องยอดขาย แต่ภายใต้สถานการณ์ฝุ่นพิษที่มากขึ้นแล้ว นอกจากยอดขายแล้ว ผู้ประกอบการอสังหาฯ  ในฐานะผู้ที่สร้างฝุ่นเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ ก็ต้องให้ความสำคัญกับฝุ่น PM 2.5 ด้วยเช่นกัน แต่มากกว่าฝุ่น คือ กำลังซื้อ DDproperty.com เว็บไซต์สื่อกลางอสังหาริมทรัพย์อันดับหนึ่ง ที่รวบรวม ทิปส์ในการซื้อขายอสังหาฯ และรีวิวโครงการใหม่ ทั้งไทยและอังกฤษ ไว้กว่า 10,000 บทความ