อนาคตธุรกิจเอเจนซี่ในไทย แบรนด์ยังต้องพึ่ง หรือ เอเจนซี่ต้องปรับกลยุทธ์เพื่อรับมือ - Forbes Thailand

อนาคตธุรกิจเอเจนซี่ในไทย แบรนด์ยังต้องพึ่ง หรือ เอเจนซี่ต้องปรับกลยุทธ์เพื่อรับมือ

FORBES THAILAND / ADMIN
14 Jun 2018 | 05:39 PM
READ 3514

คำว่าดิจิทัลสำหรับทุกคนในวันนี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่และไม่ใช่เรื่องยากที่จะเรียนรู้และทำความเข้าใจอีกต่อไป ไม่ว่าวงการไหนก็ดูเหมือนผู้คนจะคุ้นเคยกับการใช้เครื่องไม้เครื่องมือ ด้านฝั่ง 'แบรนด์' ที่แต่เดิมมักจะจับมือกับเอเจนซี่ช่วยกันหาหนทางสื่อสารทางการตลาดเพื่อเอาชนะใจกลุ่มเป้าหมาย ก็ดูเหมือนจะเริ่ม 'ฉายเดี่ยว'

คำถามชวนสงสัยคือ “เอเจนซี่ยังจำเป็นสำหรับแบรนด์อยู่ไหม” “ถ้าทำเองได้ทำไมต้องพึ่งคนอื่น” หรือ “วันนี้เอเจนซี่เองควรปรับตัวเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงนี้อย่างไร”  รุ่งโรจน์ ตันเจริญ CEO แห่ง Rabbit Digital Group ได้เผยมุมมองในอุตสาหกรรมยุคดิจิทัลกำลังก้าวผ่านการสื่อสารในยุคใหม่ ภายในเค้กก้อนใหญ่วงการโฆษณาดิจิทัล “ย้อนไปประมาณ 20 ปีที่แล้ว การทำโฆษณาเป็นธุรกิจที่มีอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดสูง ยากมากที่คนคนหนึ่งจะมาถ่ายงานเองได้ อัดเสียงเองได้ ต้องใช้ความเชี่ยวชาญหลายด้าน หรือแม้แต่การซื้อสื่อเองก็ตาม แต่เพราะดิจิทัลเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในปัจจุบัน เราจึงเห็นฟรีแลนซ์ หรือดิจิทัลเอเจนซี่ขนาดเล็กเกิดขึ้นมากมาย หรือแม้กระทั่งแบรนด์ลงมาผลิตโฆษณาเอง” รุ่งโรจน์ ตันเจริญ กล่าว “มันเป็นเค้กชิ้นใหญ่ที่มีคนเข้ามาอยู่ตลอด” รุ่งโรจน์ มองว่าในยุคดิจิทัลทุกวันนี้ ทุกคนต่างมีเทคโนโลยีเครื่องไม้เครื่องมือในการสร้างสรรค์งานต่างๆ ได้สะดวกและง่ายมากขึ้น ไม่ว่าใครก็สามารถทำได้ ในอุตสาหกรรมเองก็มีการเติบโตและเป็นโอกาสที่ดีของใครหลายคน ซึ่งปัจจุบันอุตสาหกรรมโฆษณาดิจิทัลยังคงเติบโตสูงอย่างต่อเนื่อง เห็นได้ทั้งจากตัวเลขผลสำรวจของสมาคมโฆษณาดิจิทัล (DAAT) ในสองสามปีที่ผ่านมา และดูได้จากโฆษณาต่างๆ บนหน้าจอสมาร์ทโฟนในมือเราเอง แต่แท้ที่จริงแล้วบทบาทสำคัญของธุรกิจเอเจนซี่คืออะไร โดย รุ่งโรจน์ อธิบายเพิ่มว่า บทบาทสำคัญของธุรกิจเอเจนซี่การเข้าใจคนและเข้าใจแบรนด์ซึ่งเป็นศาสตร์ที่ต้องอาศัยความเข้าใจ การสังเกต และคิดวิเคราะห์ รวมทั้งความสามารถในการร้อยเรียงสิ่งที่แบรนด์ต้องการจะสื่อสารมาตั้งแต่ต้นให้เป็นไปตามกลยุทธ์ เจาะลึกเข้าไปถึงหัวใจสำคัญที่คนจะจดจำแบรนด์ได้ ตรงนี้นับเป็นจุดแข็งของเอเจนซี่ เพราะจะทำให้เห็นภาพสุดท้ายได้ชัดเจนว่างานนั้นส่งเสริมแบรนด์อย่างไร เป็นสิ่งที่ทำตามกันได้ยาก “มี 2 คำถามที่คนเอเจนซี่ต้องตอบให้ได้ คำถามแรก วันนี้เรารู้จริงหรือยัง การรู้ลึกรู้จริงในสิ่งที่เราทำว่าแบบไหนเวิร์คไม่เวิร์ค ทำวิดีโอคลิปแล้วกลายเป็นไวรัล ไม่ได้แปลว่าสำเร็จแล้วนะ สุดท้ายแล้ว คนจำชื่อแบรนด์ได้หรือไม่ รู้สึกต่อแบรนด์นั้นๆ ยังไง เราแปลงเม็ดเงินได้ตรงตามวัตถุประสงค์ของแบรนด์หรือไม่ คำถามที่สองคือ เรารู้ลึกรู้จริงไปถึงอนาคตหรือยัง อันนี้สำคัญ” ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทุกคนกระโดดเข้าหา Internet film มากขึ้นเรื่อยๆ จะเห็นว่ามี Hero video ใหม่ๆ สนุกๆ มาทุกสัปดาห์และจะเยอะขึ้นเรื่อยๆ ไม่ใช่ไม่ดีนะ แต่สุดท้ายแล้วมันก็จะมีวีดีโอแบบนี้เต็มไปหมด แล้วอะไรคือสิ่งถัดไป ยิ่งอุตสาหกรรมโฆษณาดิจิทัล ทุกสามเดือนจะมีอะไรใหม่ๆ เสมอ อย่างปีที่แล้ว การทำ Live มาแรง ทุกคนหันมาทำ Live กันหมด หรือทุกคนอยากมีแอปพลิเคชัน ก็หันมาทำแอปฯ หมด มันเยอะเกินไป ต้องคิดต่อไปให้ได้ แล้วยังไงต่อ ทุกวันนี้เกิดภาวะ Information Overload หรือ การเสพข้อมูลข่าวสารมากเกินไปจนเกิดความสับสน เราต้องตอบได้ว่า เมื่อ Overload ไปถึงจุดหนึ่งแล้วยังไงต่อ อะไรคือจุดเปลี่ยน อะไรที่จะ Disrupt หรือเข้ามาแทรกแซงต่อไป ทุกวันนี้เราเสพสื่อกันเยอะมากและจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไม่ใช่แค่โฆษณาอย่างเดียว ตอนนี้มีหนังน่าดู มีซีรีย์สนุกๆ เยอะแยะเต็มไปหมด ทุกคนแย่งชิงเวลากัน ทุกคนแย่งชิงความสนใจของกลุ่มเป้าหมายกัน ผมว่าความเป็นไปนี้เกิดขึ้นกับทุกอย่าง เอเจนซี่ต้องคาดการณ์ให้ได้จะเกิดอะไรขึ้นหลังจากนั้น เพราะว่าสิ่งที่เราทำทุกอย่างมันมีมูลค่า เรื่องบางเรื่องไปปรับตัวทีหลังไม่ทัน เราต้องวางแผนตั้งแต่ตอนนี้ รุ่งโรจน์ ตันเจริญ CEO ของ Rabbit Digital Group แนวคิด Digital Ecosystem รุ่งโรจน์ ตันเจริญ ในฐานะ CEO ของ Rabbit Digital Group กลุ่มบริษัทที่มี 3 บริษัทภายในเครือ บริษัท Rabbit’s Tale (Full-Service Advertising Agency), บริษัท Moonshot (Digital PR & Content Agency) และบริษัท Code & Craft (Creative Technology Solutions) เผยถึงแผนปรับตัวสำหรับกลุ่มบริษัท RDG ภายใต้การทำงานที่เชื่อมโยงในแนวคิด Digital Ecosystem "เราเกิดจากหนึ่งในความเชื่อที่เราให้ความสำคัญมาตลอดคือ ดิจิทัล วิถีชีวิตของคนในยุคปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป การทำความเข้าใจ Digital Journey หรือ เส้นทางการรับรู้และเข้าถึงแบรนด์และสินค้าในโลกดิจิทัล ของคนในยุคดิจิทัลว่า เขาเหล่านั้นเสพสื่อจากช่องทางใด มีพฤติกรรมอย่างไร จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก” รุ่งโรจน์ กล่าวและเสริมว่า ไม่ใช่ทุกครั้งที่ดิจิทัลแพลตฟอร์มจะเป็นคำตอบของทุกสิ่ง เช่น หากกลุ่มเป้าหมายเราดูทีวี การใช้ช่องทางดิจิทัลก็ไม่จำเป็น หรือเราจะใช้สื่อ Out of Home อย่างไรให้มีประสิทธิภาพในเมื่อทุกวันนี้พฤติกรรมของคนยุคปัจจุบัน คือก้มหน้าเล่นสมาร์ทโฟนตลอดเวลา สังเกตได้ว่าวันนี้สิ่งที่เอเจนซี่ทำ ไม่ได้ทำการสื่อสารการตลาดเพียงอย่างเดียวอีกต่อไปแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นข้างหน้าคือ เอเจนซี่จะต้องเข้าใจว่าดิจิทัลเข้ามามีบทบาทในกระบวนการทำงานตรงนี้อย่างไร แล้วเราจะเรียงร้อยให้เกิดประสบการณ์เดียวกัน วิ่งไปสู่เป้าหมายซึ่งก็คือ “แบรนด์” ได้อย่างไร “วันนี้ RDG เองกำลังจะก้าวข้ามออกจากการทำการสื่อสารการตลาดเพียงอย่างเดียว เพราะเราไม่ได้ทำแค่นั้น เราต้องเข้าใจตั้งแต่ต้นจนจบ เข้าใจว่าจะสร้าง Journey ที่ดีอย่างไร และจะต้องสร้างอะไรเพื่อให้เป็น Asset ของลูกค้าของเราในระยะยาว เช่น ข้อมูลอะไรบ้างที่ควรจะต้องเก็บ และจะต้องวางโครงสร้างการเก็บข้อมูลอย่างไร เอาข้อมูลเหล่านี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างไร กลุ่มเป้าหมายมีพฤติกรรมอย่างไรบ้าง ต้องร้อยเรียงข้อมูลต่างๆ เข้าด้วยกัน จากนั้นจึงนำมาคิดวิเคราะห์ เพราะไม่ใช่แค่การสื่อสารแคมเปญออกไปแล้วจบ แต่ต้องมุ่งสู่ระยะยาว ต้องทำให้เกิดการ Synchronize และ Synergy ไปด้วยกันทั้งองค์กร ความพยายามสร้าง Ecosystem ของ RDG จึงไม่ได้ใช้คำว่า ครบวงจร เพียงอย่างเดียวเพราะครบวงจรใครก็ทำได้ แต่เราจะร้อยเรียงข้อมูลเหล่านี้เข้าด้วยกัน และถามตัวเองว่า เราจะเพิ่มมูลค่าในงานให้มากขึ้นในปัจจุบันและอนาคตอย่างไรได้บ้าง” รุ่งโรจน์กล่าวและทิ้งท้ายคำถามให้คิด เมื่อโลกหมุนเร็วและมีสิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้น ทั้งยังเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ไม่ว่าฝั่งแบรนด์หรือเอเจนซี่ต่างต้องปรับตัวให้ทันและเตรียมพร้อมเสมอที่จะรับมือกับความท้าทายใหม่ๆ ที่เข้ามา เพราะฉะนั้นเมื่อแบรนด์ต้องการทำการสื่อสารการตลาดไปยังผู้บริโภคในยุคนี้ จึงต้องมองหาวิธีการที่จะสื่อสารอย่างไรให้รวดเร็ว เข้าถึงและโดนใจผู้บริโภค ในขณะที่เอเจนซี่เองก็สามารถมีส่วนช่วยแบรนด์อีกแรงในฐานะที่ปรึกษา และเมื่อเกิดการทำงานร่วมกันบนพื้นฐานของความเข้าใจในการสื่อสารการตลาดยุคดิจิทัล จะช่วยทำให้แบรนด์บรรลุเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างแน่นอน

TAGGED ON