การล้มหายตายจากของหลายธุรกิจท่ามกลางเทคโนโลยีที่พัฒนาไม่หยุดยั้ง และพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว สะท้อนว่า “การปรับตัว” เป็นเพียงทางรอดเดียวในการดำเนินธุรกิจยุคดิสรัปชั่น
และแน่นอนว่า การเริ่มต้นศักราชใหม่นี้จะมีการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ เกิดขึ้น โดยเฉพาะเทรนด์เทคโนโลยีที่จะส่งผลกระทบต่อการทำธุรกิจในปี 2020 สำหรับ เมกะเทรนด์ ที่จะเข้ามาท้าทายและสร้างโอกาสทางธุรกิจในศักราชนี้ ได้แก่
Hyper Personalization
การตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะตัวด้วยบริการและผลิตภัณฑ์ที่มากกว่าลูกค้าต้องการ โดยแนวทางนำเสนอสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ในปีนี้ ไม่สามารถทำแบบ one-size-fits-all ได้อีกต่อไป และควรตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะตัวของลูกค้าก่อนที่ลูกค้าจะแสดงความต้องการออกมาเสียอีกด้วยซ้ำ
เช่น ธุรกิจประกันภัยที่ออกผลิตภัณฑ์ตามพฤติกรรมของลูกค้ารายบุคคลผ่านบริการประกันรถยนต์แบบเปิดปิด (on-off insurance) ที่อาศัยอุปกรณ์ telematics ในการติดตามพฤติกรรมของลูกค้ารายบุคคล เพื่อคำนวณส่วนลดเบี้ยประกันตามความเสี่ยงของบุคคล โดยอุปกรณ์จะตรวจจับพฤติกรรมการขับรถ จากการเหยียบเบรก หรือเหยียบคันเร่งของลูกค้า เพื่อประเมินว่าลูกค้ามีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุมากน้อยเพียงใด ประกันแบบนี้สามารถลดค่าใช้จ่ายเบี้ยประกันของลูกค้าได้ถึง 40% เมื่อเทียบกับประกันแบบปกติ ทำให้มีโอกาสเติบโตมากกว่าคู่แข่งในกลุ่มเดียวกัน
นอกจากนั้น หนึ่งในเทรนด์ที่น่าจับตามองในปีหน้าคือ biotech ที่จะเข้ามายกระดับการดูแลสุขภาพให้ดีขึ้นกว่าที่เคย อาทิ precision medicine หรือการแพทย์แบบเฉพาะเจาะจง ที่นำ big data analytics เข้ามาวิเคราะห์ประมวลผลตามข้อมูลพันธุกรรมของแต่ละบุคคล ทำให้สามารถจ่ายยา ผลิตยา ไปจนถึงการออกแบบแนวทางป้องกันการเกิดโรคที่ตรงกับสุขภาพเฉพาะของแต่ละบุคคล ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการรักษาโรค แต่จะเปลี่ยนไปให้ความสำคัญกับการใช้จ่ายในการดูแลตัวเองเพื่อป้องกันโรคแทน
Intelligent Automation
RPA และ AI จะฉลาดขึ้นและเข้ามาแทนที่แรงงาน โดยแนวโน้มการใช้หุ่นยนต์ทำงานแทนคนจะเห็นได้ชัดเจนมากขึ้นในปีนี้ จากเดิมหุ่นยนต์ถูกใช้ในงานหลังบ้าน (back-end) ช่วยจัดการงานระบบง่ายๆ เพื่อลดภาระงานของมนุษย์เท่านั้น แต่ในปีนี้ RPA (robotic process automation) จะฉลาดขึ้น และสามารถทำหน้าที่ในส่วนหน้าบ้าน (front-end) เพื่อเชื่อมโยงกับลูกค้ามากขึ้น
ตัวอย่างเช่น เมื่อลูกค้าส่งคำสั่งบนสมาร์ทโฟน คำสั่งจะวิ่งไปที่ระบบหลังบ้านของธุรกิจ พร้อมกระจายงานต่อให้พนักงานหรือโดรนให้บริการทันที ซึ่งกระบวนการทางเทคโนโลยีลักษณะนี้จะขับเคลื่อนให้เกิดธุรกิจรูปแบบใหม่ที่ลดการพึ่งพาแรงงานคน เช่น แท็กซี่ไร้คนขับ เห็นได้จากการเปิดตัวโดรนแท็กซี่ไร้คนขับในรูปแบบเฮลิคอปเตอร์ หรือ Uber Eats ที่ใช้โดรนส่งอาหารแทนมนุษย์ โดยเริ่มเห็นระบบอัตโนมัติเข้ามาแทนที่การทำงานของมนุษย์มากยิ่งขึ้น
Frictionless World
การเชื่อมโยงธุรกิจให้ใกล้ชิดผู้บริโภค โดยเทคโนโลยีจะสามารถเชื่อมต่อและสั่งการได้แบบเรียลไทม์มากขึ้น เป็นการตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ที่ไม่มีเวลาจัดการกับสินค้าที่ต้องสั่งซื้อซ้ำอยู่เป็นประจำหรือของใช้ที่กำลังจะหมดไป โดยนำ AI (artificial intelligence) และ IoT (internet of things) เข้ามาเชื่อมต่อกับระบบเพื่อทำการสั่งซื้ออัตโนมัติ ณ จุดการใช้งานของลูกค้า (point-of-use) แบบไร้รอยต่อ
ตัวอย่างที่ชัดเจนคือเทคโนโลยีด้าน smart living/smart home ที่มีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตกับเครื่องใช้ภายในบ้านให้สามารถสั่งงานผ่านโทรศัพท์มือถือหรือเสียงผ่าน voicebot อีกทั้งยังสามารถติดตามสถานะการทำงานของอุปกรณ์ภายในบ้านได้แบบเรียลไทม์ผ่านระบบ inventory tracking ด้วยเซนเซอร์ที่ติดตั้งไว้ที่ตัวเครื่องใช้ภายในบ้าน โดยตรวจจับได้ว่าของใช้นั้นๆ กำลังจะหมด ซึ่งระบบจะทำหน้าที่ส่งคำสั่งซื้อไปยังร้านค้าแบบอัตโนมัติ
เทคโนโลยีดังกล่าวเป็นการตอบสนองความต้องการของลูกค้าโดยลูกค้าไม่ทันรู้ตัว ถือเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าในยุคดิจิทัล ฉะนั้น ธุรกิจที่หวังเพียงตอบสนองความต้องการของลูกค้า ณ จุดขาย คงไม่เพียงพออีกต่อไปในศักราชนี้ และถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งยิ่งใหญ่ของธุรกิจค้าปลีกที่ต้องปรับให้ทันความเปลี่ยนแปลงให้มีความใกล้ชิดกับลูกค้ามากขึ้น
As-a-Service Economy
หนึ่งในเทรนด์ที่คาดว่าจะมีอิทธิพลในปีนี้คือ การ sharing ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงสินค้าและการบริการได้ โดยไม่จำเป็นต้องซื้ออีกต่อไป เนื่องจากการพัฒนาของเทคโนโลยี cloud และ IoT ผลักดันให้เกิดเทรนด์การชำระเงินรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า subscription หรือ pay-per-use ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ลูกค้าสามารถชำระเงินตามจำนวนการใช้งาน และสามารถเข้าถึงสินค้าหรือการบริการได้แม้ไม่ได้เป็นเจ้าของสินค้านั้นๆ
ขณะเดียวกัน ธุรกิจก็ได้รับประโยชน์จากการชำระเงินรูปแบบนี้เช่นกัน เนื่องจากสามารถเปลี่ยนภาระค่าใช้จ่ายจาก capital expenditure เป็น operating expense ที่ช่วยเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินให้ธุรกิจ ซึ่งปัจจุบัน service economy ได้รับการนำมาใช้อย่างแพร่หลาย เช่น บริการ scooter sharing, bike sharing ของ Uber ในสหรัฐอเมริกา ที่เปิดโอกาสให้ใครก็ตามสามารถเช่าสกูตเตอร์และจักรยานไปใช้งานได้ เพียงแค่สแกนและปลดล็อกผ่านแอปพลิเคชันเท่านั้น ทั้งยังสามารถทิ้งรถไว้ในจุดหมายปลายทางต่างๆ ได้ตามต้องการโดยไม่ต้องนำกลับมาคืนที่เดิม
Ecosystem
การเชื่อมต่อระบบนิเวศธุรกิจ เอื้อธุรกิจต้องเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน โดยเทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทกับการทำธุรกิจทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็น AI at scale (ปัญญาประดิษฐ์ระดับองค์กร), big data, cloud storage, internet of things (IoT) ทำให้ระบบนิเวศทางธุรกิจขยายตัวในรูปแบบที่ต่างจากไปจากเดิม นั่นคือเส้นแบ่งระหว่างกลุ่มธุรกิจที่มีการเชื่อมโยงในลักษณะที่เกื้อกูลกันมากขึ้น
สำหรับ attention economy นับเป็นยุคที่ธุรกิจจะสามารถทำกำไรได้จากการแย่งชิงเวลาของลูกค้าให้ได้มากที่สุด ทำให้ธุรกิจต้องหันมาจับมือกับพาร์ทเนอร์ที่เกี่ยวข้องกับไลฟ์สไตล์ของลูกค้าแบบข้ามอุตสาหกรรมมากขึ้น เพื่อสร้างความภักดีของลูกค้า (customer loyalty)
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ “Grab” สตาร์ทอัพที่เริ่มต้นให้บริการรถแท็กซี่ จนขยายอุตสาหกรรมไปสู่บริการส่งอาหาร บริการจองโรงแรม ฯลฯ ส่งผลให้มีบริการครอบคลุมตอบโจทย์ลูกค้าที่ใช้งาน Grab อยู่เป็นประจำ ยิ่งไปกว่านั้น การสะสมคะแนนจากการใช้งาน Grab ถือเป็นกำแพงที่สร้างต้นทุนในการเปลี่ยนแปลง (switching cost) ไม่ให้เปลี่ยนไปใช้บริการเจ้าอื่น
อีกหนึ่งเทรนด์ที่เกื้อหนุนคนทำธุรกิจ คือ การปล่อยสินเชื่อแบบ peer-to-peer lending และ crowdfunding ซึ่งเพิ่มตัวเลือกทางการเงินให้ผู้ประกอบการ และ finance ได้ในอัตราที่ถูกลง โดยเป็นหนึ่งในโอกาสในการขับเคลื่อนและขยายธุรกิจของผู้ประกอบการทั้งขนาดเล็กหรือขนาดกลางที่สามารถมีต้นทุนเข้ามาแข่งขันในตลาดใหญ่ได้ และเป็นผลดีต่อผู้บริโภคในการเลือกใช้บริการที่ตรงกับความต้องการของตัวเองได้มากขึ้น
ทั้ง 5 เมกะเทรนด์ ล้วนสะท้อนว่า การนำเทคโนโลยีมาใช้ในธุรกิจนอกจากจะช่วยสร้างความสะดวกสบายให้กับผู้บริโภคแล้ว ยังช่วยเชื่อมโยงความต้องการของลูกค้ากับสินค้าหรือบริการได้อย่างตรงจุด ซึ่งช่วยเปิดโอกาสใหม่ๆ สำหรับธุรกิจปรับตัว และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอย่างชาญฉลาดให้มีโอกาสเข้าใกล้ความสำเร็จมากยิ่งขึ้น
- อ่านเพิ่มเติม แนวโน้มเทคโนโลยีที่ต้องจับตามองในปี 2020
คลิกอ่านบทความทางธุรกิจที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับ มีนาคม 2563 ในรูปแบบ e-magazine