ผู้ก่อตั้งที่สร้างธุรกิจมากับมือ ทั้งล้มลุกคลุกคลานและขยันอดทนทำงานหามรุ่งหามค่ำกว่าจะได้เห็นการเติบโตของธุรกิจเพื่อให้ครอบครัวและบุตรหลานมีความเป็นอยู่ที่สบาย หรือมีการศึกษาที่ดี แต่เมื่อถึงเวลาที่ต้องส่งผ่านความเป็นเจ้าของสู่ "ทายาทธุรกิจ" ในรุ่นต่อไปกลับต้องเผชิญกับความยากลำบากว่า บุตรแต่ละคนจะสามารถสานต่อธุรกิจให้มีความรุ่งเรืองเหมือนที่ตัวเองสร้างไว้หรือไม่ โดยเฉพาะครอบครัวขนาดใหญ่ที่มีสมาชิกครอบครัวจำนวนมาก
สำหรับความยากง่ายของการส่งผ่านความเป็นเจ้าของหรือหุ้นให้ ทายาทธุรกิจ ซึ่งเป็นรุ่นต่อไปจะขึ้นอยู่กับโครงสร้างครอบครัวว่า มีความสลับซับซ้อนมากแค่ไหน โดยธรรมชาติครอบครัวไม่สามารถกำหนดได้ว่าจะมีบุตรชายกี่คน บุตรสาวกี่คน และใครมีความสามารถที่จะมาสานต่อธุรกิจได้ หรือแม้แต่บุตรชายคนโตก็ใช่ว่าจะดูแลหรือเป็นผู้นำธุรกิจได้เสมอไป ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องของการปลูกฝัง อย่างไรก็ตาม ผลลัพธ์ที่ออกมาอาจจะไม่ได้ดังใจหวัง ดังนั้น ครอบครัวส่วนใหญ่มักจะใช้วิธีการจัดสรรหุ้นธุรกิจครอบครัวโดยหารเท่ากันเพื่อความยุติธรรมกับทุกฝ่าย และไม่ก่อให้เกิดความไม่พอใจหรือน้อยเนื้อต่ำใจ ภาระทั้งหมดได้ยกออกไปจากผู้ก่อตั้งธุรกิจแล้วที่เหลือเป็นหน้าที่ของทายาทที่ต้องบริหารจัดการกันเอง ซึ่งนั่นคือจุดเริ่มต้นของการบริหารจัดการความเป็นเจ้าของที่ไม่ใช่เจ้าของคนเดียวแล้ว และภาระจะตกไปที่ทายาท เมื่อทุกคนมีสิทธิ์มีเสียงเท่าๆ กัน พี่น้องอาจมีการรวมกลุ่มจับคู่กันเพื่อตัดสินใจโหวตบางอย่างที่อีกกลุ่มไม่เห็นด้วยก็ได้ถ้าไม่มีการวางแผนเรื่องบทบาทหน้าที่ดีๆ ตั้งคณะกรรมการด้านธุรกิจที่เป็นกิจจะลักษณะหรือไม่มีพื้นฐานที่สำาคัญในเรื่องความรักความสามัคคี ปัญหาการพิพาทก็เกิดขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์ที่พบในกรณีการแบ่งหุ้นเท่ากันได้ก่อให้เกิดปัญหาตามมาคือ การไม่มีเจ้าภาพ เพราะทุกคนได้ผลประโยชน์เท่ากัน ทำให้สมาชิกที่ทำงานและถือหุ้นอาจรู้สึกถึงการเอาเปรียบของสมาชิกที่ถือหุ้นอย่างเดียว และมักจะมองสมาชิกที่ถือหุ้นอย่างเดียวว่า ไม่ทำอะไรแต่พอกำไรหารเท่ากัน หรือบางครอบครัวสมาชิกที่ทำงานจะเริ่มลดบทบาทตัวเองลงเพราะทำไปก็ได้เท่ากัน และมองหาธุรกิจส่วนตัว บางครอบครัวสมาชิกที่ทำงานและถือหุ้นกลับมีจำนวนหุ้นที่น้อยกว่าสมาชิกที่ถือหุ้นอย่างเดียวจึงหาวิธีเข้าไปขอซื้อหุ้นกับสมาชิกคนอื่น เป็นต้น สำหรับการตัดสินใจเรื่องการถ่ายทอดความเป็นเจ้าของย่อมเป็นสิทธิของผู้ก่อตั้งในการจัดสรรแบ่งปันหุ้นให้ทายาท ทั้งรูปแบบ วิธีการ และเวลาที่เหมาะสม ซึ่งในแต่ละครอบครัวมีการจัดการเรื่องดังกล่าวแตกต่างกัน โดยแบ่งเป็นครอบครัวที่โอนหุ้นให้ทายาทตามความสมัครใจและเหตุการณ์บังคับ หรือครอบครัวที่ยังไม่โอนหุ้นให้ทายาทจากเหตุผลต่างๆ ดังนี้ ครอบครัวที่โอนหุ้นให้ทายาท ผู้ก่อตั้งที่เกษียณตัวเองจากอายุที่มากขึ้นหรือต้องการวางมือปล่อยให้ทายาทเข้าดูแลธุรกิจต่อไป เพราะเห็นว่าทายาทมีความสามารถและความพร้อมที่จะสานต่อธุรกิจแล้ว ซึ่งหลายครอบครัวได้มีการส่งมอบอย่างราบรื่น และทายาทก็สามารถนำพาธุรกิจได้เป็นอย่างดี โดยหลายครอบครัวทายาทได้โชว์ศักยภาพออกมาให้เห็น แต่ในบางเรื่อง เช่น ความเชื่อถือของคู่ค้าที่ทำการค้ากับผู้ก่อตั้งมานาน หลังจากส่งต่อทุกอย่างให้กับทายาทอาจทำให้ความไว้วางใจหรือเครดิตลดลง โดยเฉพาะถ้าเป็นคู่ค้าจากต่างประเทศยิ่งต้องสร้างความเชื่อถือกันพอสมควร หรือธุรกิจที่มีผู้ถือหุ้นหลายพาร์ตเนอร์อาจเป็นคนนอกหรือแม้แต่พี่น้อง เมื่อมีการเปลี่ยนมือของพาร์ตเนอร์ไปอาจต้องหาข้อตกลงกันใหม่ ดังนั้น การส่งต่อธุรกิจที่ดีควรมีการวางแผนให้มีความชัดเจน และกำหนดกฎเกณฑ์ว่าอยากให้ธุรกิจที่สร้างขึ้นมาเดินไปในทิศทางใด เพื่ออย่างน้อยเมื่อวางมือแล้วก็ยังสามารถอยู่หลังฉากคอยให้คำปรึกษาแก่ลูกๆ ได้ บางครอบครัวผู้ก่อตั้งก็ปล่อยและไม่เข้าไปยุ่งเลยโดยให้เหตุผลว่า ธุรกิจสมัยใหม่นี้ไม่เหมือนกับสมัยก่อน ตามไม่ทันปล่อยให้ลูกๆ บริหารกันเองดีกว่า นอกจากนั้นการส่งต่อความเป็นเจ้าของด้วยเหตุการณ์บังคับ เช่น ผู้ก่อตั้งจากไปด้วยสาเหตุต่างๆ ทั้งปัญหาสุขภาพโรคภัยไข้เจ็บ อุบัติเหตุ ถ้าครอบครัวที่ผู้ก่อตั้งวางแผนไว้แล้วโดยทำพินัยกรรม และมีการสร้างข้อตกลงกันไว้แล้วว่า ทายาทคนใดเป็นผู้รับช่วงต่อ หรือยกให้ใคร อย่างไร ผู้รับช่วงจะสามารถรับมือกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างไม่มีปัญหา สำหรับครอบครัวที่ไม่มีการเตรียมการไว้ล่วงหน้า หรือไม่มีการคุยตกลงกันเกี่ยวกับการจัดการเรื่องดังกล่าว บางครอบครัวอาจจะใช้กฎหมายเป็นตัวตัดสินและเกิดการอ้างสิทธิต่างๆ ขึ้น ซึ่งถ้าผู้ก่อตั้งยังมีชีวิตอยู่ก็อาจไม่มีเรื่องราวอะไร แต่เมื่อผู้ก่อตั้งจากไปอาจทำให้เกิดความขัดแย้งเป็นศึกสายเลือดดังเช่นที่เคยเกิดเหตุการณ์ต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศมากมาย ซึ่งความเสี่ยงจากเหตุการณ์ไม่คาดคิดทำให้ธุรกิจครอบครัวควรเตรียมการวางแผนล่วงหน้า ครอบครัวที่ยังไม่ได้โอนหุ้นให้ทายาท ผู้ก่อตั้งที่เป็นผู้นำคนเดียว หรือก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาด้วยความยากลำบากทำให้เป็นผู้นำที่ไม่ค่อยเชื่อใจใคร โดยทายาทที่เข้ามาสานต่อธุรกิจมักจะได้รับการเคี่ยวเข็ญให้ทำงานตามสั่ง โดยส่วนใหญ่จะเห็นผู้นำในลักษณะดังกล่าวในหลายครอบครัวทั้งในและต่างประเทศ เพราะผู้ก่อตั้งล้วนคาดหวังให้ทายาทมีความสามารถเช่นเดียวกัน และมีความรู้สึกหวงแหนธุรกิจที่สร้างขึ้น รวมถึงต้องการรักษาสิ่งนี้ไว้ให้ยาวนานที่สุด ซึ่งการส่งมอบหุ้นให้ทายาทยังมีความกังวลว่า ผู้รับช่วงต่ออาจจะไม่สามารถรักษาธุรกิจไว้ได้ หรืออาจจะทิ้งโดยไม่สนใจพ่อแม่ผู้ก่อตั้งอีกต่อไป ด้านหลักการบริหารจัดการในกรณีดังกล่าวสามารถใช้กฎหมายเข้ามาช่วยได้เช่น การจัดการสิทธิ การรักษาอำนาจการตัดสินใจด้วยหุ้นบุริมสิทธิ รวมถึงการเขียนข้อบังคับบริษัท สัญญาผู้ถือหุ้นก็เป็นทางออกในเรื่องการวางแผนการสืบทอดที่ดีได้ ส่วนผู้ก่อตั้งที่เป็นผู้บริหารและกำกับนโยบายโดยมีลักษณะเหมือนคอนดักเตอร์หรือผู้นำที่สร้างธุรกิจและบริหารด้วยความรอบรู้ เข้าใจในธุรกิจ ในขณะเดียวกันก็พยายามสร้างทีมงานและสอนงานไปในตัวด้วย ทำให้ทายาทที่เข้ามาในธุรกิจสามารถเรียนรู้งานไปพร้อมกัน โดยบางคนอาจจะส่งทายาทเข้ามาฝึกงานตั้งแต่เรียน พอเริ่มเข้ามาทำงานก็ให้ไปฝึกงานแผนกต่างๆ จนทายาทมีความสามารถ และพร้อมรับช่วงต่อผู้ก่อตั้งจึงพิจารณาถ่ายโอนหุ้นเพื่อให้ธุรกิจสืบต่อไป นอกจากนี้ ผู้นำแฝงที่อยู่เบื้องหลัง (behind the scene) ที่มีบทบาทกำกับดูแลอยู่เบื้องหลังคือ ภรรยาหรือคู่ชีวิต เท่าที่ได้สัมผัสมาหลายครอบครัวภรรยาหรือคู่ชีวิตก็มีบทบาทสำคัญในการตัดสินใจแทนสามีในหลายเรื่อง และมีครอบครัวที่ภรรยาได้เข้ามามีบทบาทการเป็นผู้นำแทนสามีเมื่อสามีจากไป ซึ่งหลายครอบครัวภรรยาจะเป็นคนตัดสินใจให้ทายาทสร้างข้อตกลงกันเพราะสามียุ่งกับงาน โดยสังเกตได้จากการจัดสัมมนาเรื่องธรรมนูญครอบครัวที่ผ่านมาหลายครั้งทายาทส่วนใหญ่จะมากับมารดาและมารดามักจะแสดงความเป็นห่วงเรื่องต่างๆ ขณะที่บิดาสนใจแต่เรื่องงาน ซึ่งในต่างประเทศได้ยกตำแหน่งให้ภรรยาเป็น CEO ซึ่งย่อมาจาก chief emotional officer ท้ายที่สุดการถ่ายทอดความเป็นเจ้าของลงไปสู่ทายาทจะเห็นได้ว่า แต่ละครอบครัวมีวิธีการที่แตกต่างกัน ซึ่งขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ตั้งแต่โครงสร้างครอบครัว โครงสร้างธุรกิจ ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ พี่น้อง ความสามารถของทายาทแต่ละคน ซึ่งการส่งมอบความเป็นเจ้าของควรจะวางแผนล่วงหน้าเพื่อให้ทายาทได้เข้ามารู้จักธุรกิจตั้งแต่ยังศึกษาอยู่ และวางแผนจัดโครงสร้างธุรกิจเพื่อรองรับการเติบโต รวมทั้งวางแผนการสืบทอด วางแผนการส่งมอบให้เป็นกิจจะลักษณะ โดยหลายครอบครัวมีการส่งต่อความเป็นเจ้าของได้อย่างราบรื่น นิรัต กาญจนาคพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท เฟิร์ม จำกัดคลิกอ่านบทความทางด้านธุรกิจ ได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนตุลาคม 2563 ในรูปแบบ e-magazine