วิกฤตธุรกิจ ช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราได้เห็นการปรับตัวของธุรกิจที่ปรึกษาการประชาสัมพันธ์ เพื่อรับมือกับกระแส Digital Disruption โดยผสมผสานการใช้สื่อออฟไลน์ - สื่อออนไลน์ เพื่อเพิ่มผลลัพธ์ด้านการสื่อสารให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย และตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่มีพฤติกรรมการเสพสื่อผ่านดิจิทัลเพิ่มขึ้น
ปี 2020 เป็นปีแห่งความท้าทายของธุรกิจที่ปรึกษาการประชาสัมพันธ์ ในการวางแผนสื่อสารแก่ลูกค้าอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ท่ามกลางสถานการณ์แพร่ระบาดของ COVID-19 ทั้งการสื่อสารในเชิงกลยุทธ์ (Strategy) หรือการสื่อสารในช่วงวิกฤติ (Crisis Management) ขององค์กร เพื่อส่งต่อข้อมูลที่ถูกต้องไปยังกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้รับข่าวสาร ทั้งนี้ มีคำกล่าวว่า ‘การสื่อสารที่ดี มีชัยไปกว่าครึ่ง’ เป็นประโยคสุดคลาสิคที่ใช้ได้ในทุกสถานการณ์ โดยเฉพาะเมื่อธุรกิจต้องตกอยู่ในวงล้อมของปัจจัยลบต่างๆ เช่น ภาวการณ์แข่งขัน ปัญหาการเมือง เป็นต้น นอกจากการวางกลยุทธ์ขององค์กรแล้ว การส่งข้อมูลข่าวสารจาก Corporate Brand และ Product Brand ไปหากลุ่มเป้าหมายที่เป็นลูกค้า พนักงาน คู่ค้า พันธมิตรทางธุรกิจ และสื่อมวลชน ให้ได้รับทราบ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง จะเรียกความเชื่อมั่น ควบคู่กับการสร้างพลังบวกให้แก่แบรนด์และองค์กรได้ในระยะยาวและก้าวข้าม วิกฤตธุรกิจ ในท้ายที่สุด สื่อสารดี...รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง ช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา หลายธุรกิจได้รับผลกระทบและต้องปรับกลยุทธ์ เพื่อบริหารต้นทุนและนำพาองค์กรผ่านวิกฤตครั้งนี้ให้ได้ ขณะที่หากกลยุทธ์ทางธุรกิจไม่ได้ถูกสื่อสารออกไป อาจสร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนต่อทั้งองค์กรและแบรนด์สินค้า สะท้อนว่าการสื่อสารประชาสัมพันธ์เชิงรุกในช่วงวิกฤต มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าช่วงเวลาปกติ Key Message หลักที่ต้องเร่งสื่อสารสร้างความเข้าใจให้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย คือ กลยุทธ์การนำพาองค์กรให้รอดพ้นจากวิกฤตในครั้งนี้ และแนวทางการดำเนินงานที่ทำให้องค์กรกลับมาเข้มแข็งอีกครั้งหลังจากปัญหาต่างๆ ได้เริ่มคลี่คลายลง โดยใช้จังหวะนี้ปรับกลยุทธ์ ปรับแนวคิดการดำเนินธุรกิจ สร้างสรรค์วิธีการทำงานที่ต่างจากเดิม เพื่อให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ในการขับเคลื่อนแบรนด์และองค์กรต่อไป พร้อมเร่งสื่อสารประชาสัมพันธ์ไปยังกลุ่มเป้าหมาย เพื่อทำให้แบรนด์แข็งแรงและเป็นที่จดจำอยู่เสมอ โควิด-19 พลิกธุรกิจพีอาร์ สิ่งใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นหลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 สิ้นสุดลง คือ แนวทางการทำงานของหลายๆ ธุรกิจจะไม่เหมือนเดิม คาดว่าเราจะได้เห็นธุรกิจบริการใหม่ๆ เกิดขึ้น เพื่อตอบสนองความพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป หรือ “New Normal” ที่ผู้บริโภคมีความคุ้นชินกับเทคโนโลยี ใส่ใจคุณภาพของสินค้าหรือบริการมากขึ้น ซึ่งธุรกิจที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์ (Public Relations Consultancy) แม้ไม่ได้รับผลกระทบจากดิจิทัลดิสรัปชั่นตรงๆ เหมือนหลายธุรกิจ เนื่องจากเป็นธุรกิจบริการที่ต้องใช้ประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญพิเศษ ผสมผสานศาสตร์และศิลป์เข้าด้วยกันเพื่อตอบโจทย์ลูกค้า โดยการนำเสนอ Key Message ผ่านช่องทางเผยแพร่ที่หลากหลายทั้ง Offline และ Online เพื่อเจาะกลุ่มเป้าหมายได้อย่างตรงกลุ่ม แต่อย่างไรก็ตาม ก็ต้องปรับวิธีทำงาน เปลี่ยนวิธีคิด และต้องทำงานอย่างรวดเร็ว พร้อมเป็นพาร์ทเนอร์ที่ดีแก่ลูกค้า สามารถให้คำปรึกษา แนะนำ และพร้อมเป็นกลไกสำคัญในการผลักดันและสนับสนุนให้ธุรกิจของลูกค้ายืนต่ออย่างแข็งแรง ไม่ใช่แค่สื่อสารแต่ต้องยิงให้ถูกทิศ ขณะที่รูปแบบสื่อสาร ต้องสร้างสรรค์ Content และ Key Message ที่ชัดเจน ผ่านการทำประชาสัมพันธ์ ที่ช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่องค์กรและแบรนด์สินค้าได้ ภายใต้ค่าใช้จ่ายต่ำกว่าการสื่อสารรูปแบบอื่นๆ แต่มีประสิทธิภาพสูง สื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมายทั้งภายในและภายนอกองค์กรได้ดี และสามารถสร้าง Call to Action (CTA) ให้เกิดผลลัพธ์ด้านยอดขายได้ ด้วยการผสมผสานการทำประชาสัมพันธ์ควบคู่การใช้สื่อออนไลน์ อาทิ โซเซียลมีเดีย อินฟลูเอนเซอร์ ฯลฯ ตลอดจน Own Media เช่น Corporate Website, Facebook Page ที่กลุ่มเป้าหมายสามารถเข้าถึงได้ เพื่อรองรับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป การสร้างสรรค์ Content ให้โดนใจ กระชับ และชัดเจน ผสมผสานกับรูปแบบการนำเสนอที่หลากหลาย เช่น การอินโฟกราฟฟิก คลิปวีดีโอ จะทำให้สามารถดึงดูดความสนใจจากผู้อ่านและผู้ชมได้มากยิ่งขึ้น และที่สำคัญต้องค้นหากลุ่มเป้าหมาย ที่ต้องการจะสื่อสารให้ชัดเจน การมาเยือนของ โควิด-19 สร้างความท้าทายใหม่ให้แก่ธุรกิจพีอาร์ ที่จะต้องปรับตัว เพื่อยืนเคียงข้าง สร้างมิติใหม่ในการสื่อสารให้แก่ลูกค้า รองรับกับสถานการณ์ที่แตกต่างไปจากการสื่อสารในภาวะปกติ บทความโดย ยงยุทธ ฟูพงศ์ศิริพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็ม ที มัลติมีเดีย จำกัด
ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine