วางแผนการลงทุน ผ่านการประกันชีวิตและสุขภาพ - Forbes Thailand

วางแผนการลงทุน ผ่านการประกันชีวิตและสุขภาพ

FORBES THAILAND / ADMIN
13 Jul 2020 | 04:04 PM
READ 4447

วางแผนการลงทุน ยุคที่มนุษยชาติต้องเผชิญความเสี่ยงด้านสุขภาพและด้านการเงินไปพร้อมกันทำให้ผลิตภัณฑ์ประกันเป็นหนึ่งในทางเลือกมาแรง เพราะนอกจากจะได้รับความคุ้มครองทางการเงินจากเหตุไม่คาดฝันกรมธรรม์ประกันชีวิตยังสามารถนำมาใช้ในการวางแผนทางการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพยามวิกฤต

บรรยากาศในการ วางแผนการลงทุน ในตลาดทุนและตลาดเงินนับตั้งแต่ต้นปี 2563 ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าซึ่งยอดผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตเพิ่มขึ้น สวนทางกับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นดัชนีหุ้นไทยที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ความมั่งคั่งของนักลงทุนลดน้อยลง หรืออัตราดอกเบี้ยที่ลดต่ำเป็นประวัติการณ์ จนผลตอบแทนการฝากเงินไม่น่าจูงใจ อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางวิกฤตยังมีโอกาสการออมและการลงทุนในกรมธรรม์ประกันซึ่งได้รับการพิจารณาเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่น่าสนใจ ด้วยความสามารถในการอุดช่องโหว่จากสถานการณ์ในยุคโรคระบาด หุ้นตก ดอกเบี้ยลด พร้อมใช้ในการวางแผนทางการเงินและการบริหารความเสี่ยงได้   บริหารความเสี่ยงการเงิน ในมุมของการวางแผนทางการเงิน และการบริหารความเสี่ยงในช่วงการระบาดของโควิด-19 ที่เศรษฐกิจตกต่ำอย่างรุนแรงราคาสินทรัพย์ลงทุนตกลงอย่างหนัก ทว่าสำหรับการออมและการลงทุนในกรมธรรม์ประกันชีวิตแล้ว จะได้ประโยชน์สูงกว่าในช่วงเวลาปกติ “วันนี้ประกันชีวิตยังค้ำประกันการจ่ายผลตอบแทนที่ร้อยละ 2 ต่อปี ในขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีได้ผลตอบแทนร้อยละ 1.3-1.5 ต่อปี โดยอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้มั่นใจว่าเงินออมก้อนนี้ยังได้ผลตอบแทนที่ดีในอีก 10-20 ปีข้างหน้า และมูลค่าเงินสดก็เพิ่มขึ้นทุกปี” ปรัชญา กุลวณิชพิสิฐ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฟิลลิปประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ให้ความเห็นเกี่ยวกับการใช้ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตล็อกต้นทุนทางการเงินในอนาคต และผลตอบแทนทางการเงินในระยะยาวได้ นอกจากนี้ ประกันชีวิตยังเป็นทรัพย์สินเงาในช่วงระหว่างการสร้างทรัพย์สินจริงยังไม่ถึงเป้าหมาย ซึ่งมีความสำคัญสำหรับผู้เริ่มต้นวางแผนทางการเงินจากความไม่แน่นอนระหว่างการเดินทางสู่อิสระภาพทางการเงินเช่น การระบาดของโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจตกต่ำในปัจจุบัน โดยความสำคัญของประกันชีวิตจะลดลงเมื่อใกล้ถึงเป้าหมายทางการเงินที่วางไว้ ขณะที่ทรัพย์สินจริงจะทยอยเติบโตขึ้นจนสามารถดูแลตัวเองได้ ซีอีโอฟิลลิปประกันชีวิตยังกล่าวถึงประโยชน์ของประกันชีวิตในด้านการลดภาระความรับผิดชอบทางการเงินที่ผู้ทำประกันภัยแบกรับอยู่ ไม่ว่าจะเป็นค่าผ่อนรถผ่อนบ้าน การศึกษาลูก เช่น ปัจจุบันหากเกิดการเจ็บป่วยด้วยโควิด-19 หรือโรคอื่นๆ คนที่มีประกันชีวิตและสุขภาพจะสามารถเรียกค่ารักษาพยาบาลจากบริษัทประกันได้ หรือหากมีอันเป็นไปก่อน ก็ยังมั่นใจว่ายังจะมีบ้านให้ลูกได้อยู่ มีทุนการศึกษาให้ลูกได้เรียนจนจบ ขณะเดียวกันยังสามารถใช้เป็นเงินฉุกเฉินในยามที่ต้องเผชิญวิกฤตทางการเงิน เพราะกรมธรรม์ประกันชีวิตสะสมทรัพย์ หรือประกันชีวิตแบบบำนาญจะมีมูลค่าเงินสดสะสมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สามารถไปกู้เงินได้ถึงร้อยละ 90 ของมูลค่าเงินสด ซึ่งบริษัทประกันชีวิตมีบริการเงินกู้จากกรมธรรม์อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 8 แต่สุทธิแล้วลูกค้าจ่ายเพียงร้อยละ 2 เท่านั้น เพราะอีกร้อยละ 3-4 บริษัทจะนำกลับไปคืนผลตอบแทนให้ลูกค้าตามที่สัญญาไว้ตามกรมธรรม์ “ช่วงที่ตลาดหุ้นได้รับผลกระทบจากโควิด-19 หากมีประกันชีวิต ก็สามารถนำกรมธรรม์ไปขอกู้เงินมาใช้ก่อนได้ ไม่ต้องขายหุ้นให้ขาดทุน ทุกบริษัทมีบริการเงินกู้จากกรมธรรม์” นอกจากนี้ ประกันชีวิตยังเป็นตัวช่วยลดหย่อนภาษี โดยประกันสะสมทรัพย์ ประกันสุขภาพ สามารถนำไปลดหย่อนภาษีรวมกันได้ 100,000 บาท ประกันบำนาญ ลดหย่อนภาษีได้ 200,000 บาท และเมื่อรวมกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) และกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) ไม่เกิน 500,000 บาท หากเป็นไปได้ อยากให้ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีให้เต็มจำนวน สำหรับการซื้อประกันชีวิต หรือประกันสุขภาพ จำเป็นต้องพิจารณาความสามารถของตัวเอง โดยเฉพาะรายรับต่อเดือน ซึ่งควรใช้เงินประมาณร้อยละ 5-10 ของรายได้ เช่น เริ่มต้นทำงาน เงินเดือน 10,000 บาท ควรจะนำมาซื้อประกันเดือนละ 1,000 บาท 1 ปี ก็ 12,000 บาท และลงทุนเพิ่มขึ้นเมื่อรายได้เพิ่มขึ้น โดยประกันชีวิตจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้มีรายได้น้อย ขณะที่ผู้มีรายได้มากจะมีเงินเพียงพอในการดูแลตัวเองได้ “เวลาเป็นเรื่องสำคัญมาก และซื้อไม่ได้โดยประกันชีวิตเป็นผลิตภัณฑ์เดียวที่มีเวลามากำหนดราคา ถ้าคนอายุ 1-15 ปี 60-70 ปี เบี้ยจะสูงมาก แต่ถ้าอายุ 16-40 ปี สุขภาพยังดี ต้นทุนทางการเงินของผู้ซื้อจะถูกลงลดหลั่นกันไป” อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงผู้ที่สามารถออมได้ส่วนใหญ่จะเป็นวัยทำงาน 25-40 ปี โดยช่วงที่จำเป็นต้องออมคือ 30-40 ปี เพราะเป็นวัยมีครอบครัว ช่วงสร้างฐานะมีภาระเลี้ยงดูครอบครัว ผ่อนบ้าน ผ่อนรถวางแผนเกษียณ ซึ่งหากซื้อประกันหลังอายุ 40 ปี อาจจะต้องใช้เงินจำนวนมากขึ้น เนื่องจากหากมองในมุมของการบริหารการเงินส่วนบุคคลเพื่อไปสู่อิสรภาพทางการเงิน จะต้องใช้เวลา 20-30 ปี   วางแผนประกันระยะยาว ด้าน พรประภา สุกรีภิรมย์ นักวางแผนการเงินและการประกันชีวิต และประธาน MDRT ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชี้ให้เห็นภาพการลงทุนในยุคภาวะวิกฤตของการแพร่ระบาดของโควิด-19ซึ่งดัชนีหุ้นไทยลดลงไปกว่าร้อยละ 30 เช่นเดียวกับตลาดตราสารหนี้ที่มีการขายหน่วยลงทุนอย่างมาก (Panic Sell) ดังนั้น การวางแผนกระจายความเสี่ยงโดยใช้เครื่องมือด้านการประกันชีวิตและประกันสุขภาพเป็นสิ่งจำเป็น เพราะค่าใช้จ่ายในการตรวจเพื่อหาเชื้อไวรัสและค่าใช้จ่ายในการรักษาสูง ซึ่งหากไม่มีการใช้ประกันชีวิตและประกันสุขภาพเข้ามาบริหารความเสี่ยง หรือเตรียมเงินสำรองไว้ ก็จะกระทบกับเงินออมที่เก็บสะสมมาเพื่อใช้ในโครงการต่างๆ ที่วางแผนไว้ สำหรับในช่วงที่ผ่านมา มีประชาชนให้ความสนใจซื้อกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 ในกลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคม 2563 มากถึง 7.06 ล้านกรมธรรม์ หรือคิดเป็นเบี้ยประกัน 3.04 พันล้านบาท รวมถึงการวางแผนการประกันสุขภาพ และกรมธรรม์ประกันชีวิต ส่งผลให้ในเดือนมีนาคมมีเบี้ยประกันรับปีแรกทั้งระบบเติบโตมากถึงร้อยละ 20 “ราคาของการป้องกันความเสี่ยงที่เรากำหนดได้ ย่อมถูกกว่าค่าใช้จ่ายของการรักษาที่ไม่อาจรู้ได้เลย” พรประภากล่าวถึงการทำประกันเพื่อบริหารความเสี่ยงในอนาคต ซึ่งกรมธรรม์ประกันชีวิตและแบบประกันต่างๆ ยังได้รับการออกแบบมาเพื่อประโยชน์ในการวางแผนที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับความจำเป็นและความเหมาะสม โดยการวางแผนการเงินควรทำควบคู่กับการวางแผนประกันความเสี่ยงภัย ขณะเดียวกันการลงทุนในประกันชีวิตหรือประกันสุขภาพ ยังเหมาะสำหรับการวางแผนเกษียณ เพื่อให้มีเงินออมเพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายเรื่องของการดูแลสุขภาพและค่ารักษาจากการเจ็บป่วยต่างๆ ที่มีความจำเป็นมากกว่าค่าใช้จ่ายเรื่องการกินอยู่ พักผ่อน รวมทั้งทางภาครัฐก็สนับสนุนให้นำเงินลงทุนและการซื้อกรมธรรม์ประกันชีวิตสะสมทรัพย์ กรมธรรม์ประกันชีวิตแบบบำนาญนำไปลดหย่อนภาษีได้ นอกจากนี้ กรมธรรม์ประกันชีวิตยังสามารถเป็นหลักประกันให้กับผู้ถือกรมธรรม์ หรือส่งต่อเป็นมรดกให้กับคนสำคัญในครอบครัวกรณีที่เกิดเหตุเสียชีวิต รวมถึงการคำนวณมูลค่าเงินในกรมธรรม์ที่ระบุชัดเจนในแต่ละปี ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องการใช้เงินเพื่อวัตถุประสงค์เร่งด่วน ซึ่งแตกต่างจากการลงทุนอื่นๆ เช่น หุ้นหรือสินทรัพย์ประเภทอื่น ที่มูลค่าหุ้นหรือมูลค่าสินทรัพย์เหล่านั้นอาจขายไม่ได้ในราคาที่ต้องการ ทั้งนี้ ความสำเร็จในการบรรลุเป้าหมายของการวางแผนทางการเงินระยะยาวยังต้องขึ้นอยู่กับวินัยทางการเงินของนักลงทุนด้วย บทความโดย วารุณี อินวันนา อ่านเพิ่มเติม: ภาพรวมการลงทุน เพื่อก้าวข้าม Great Depression
คลิกอ่านบทความทางด้านธุรกิจการลงทุนได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับพิเศษ "Wealth Management & Investing 2020" ในรูปแบบ e-magazine ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย