ทุกการลงทุนคือความเสี่ยง ยิ่งใส่เงินใน “สตาร์ทอัพ” ก็ย่อมเสี่ยงมากเป็นเท่าตัว โดยเฉพาะสตาร์ทอัพสายแข็งอย่าง Deep Tech
สหรัฐอเมริกา ยุโรป สิงคโปร์ ไต้หวัน อิสราเอลและจีน เป็นประเทศที่ Deep Tech Startup มีการเติบโตในแง่ของเม็ดเงินลงทุนแซงหน้าสตาร์ทอัพกลุ่มอื่นๆ ไปแล้วหลายช่วงตัว เพราะพวกเขาคือผู้กล้าคิดค้น วิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีที่สร้างความแตกต่าง แก้ปัญหาของโลกได้ด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ที่พิสูจน์ได้ รวมถึงต่อยอดสร้างประโยชน์ให้วงการธุรกิจและอุตสาหกรรม
หลายบริษัทวิจัยชั้นนำของโลกฟันธงคล้ายๆ กันว่าสตาร์ทอัพที่จะเติบโตปีนี้และมีศักยภาพเปลี่ยนแปลงโลก เกือบ 100% เป็น Deep Tech Startup ไม่ว่าจะเป็นบริษัทด้านการแพทย์ เทคโนโลยีระบบประสาท เทคโนโลยีก่อสร้าง เกษตรเชิงสังเคราะห์ เทคโนโลยีจรวด ไมโครชิปปัญญาประดิษฐ์ ควอนตัมคอมพิวเตอร์ และกลุ่มนักลงทุนในไทย หรือเวนเจอร์แคปปิตอลหลายรายให้ความสนใจลงทุนใน Deep Tech Startup มากขึ้นแล้ว
UbiQD: ชู “ควอนตัมดอท”
Hunter McDaniel ผู้ก่อตั้ง และซีอีโอ
UbiQD Deep Tech Startup ชั้นนำในประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้พัฒนาเทคโนโลยีควอนตัมดอทบนวัสดุต่างๆ เช่น กระจกและฟิล์มพลาสติก เป้าหมายคืออุตสาหกรรมการเกษตร อาคารและตึกสูงๆ ทั่วโลกที่กระจกรอบตัวอาคารสามารถเป็นแหล่งพลังงานได้
UbiQD ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ
Forbes Thailand ในโอกาสเดินทางมาร่วมงาน Techsauce Global Summit 2018 เมื่อเร็วๆ นี้ พวกเขาเป็นสตาร์ทอัพระดับ Series A ที่ได้รับเงินระดมทุนจากนักลงทุนในสหรัฐฯ มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ในระดับ 5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จนถึง 15 ล้านเหรียญ เป็นผู้พัฒนาวัสดุจากเทคโนโลยีควอนตัมดอทที่ผ่านการรับรองจาก Los Alamos National Laboratory (LANL) หนึ่งในห้องปฏิบัติการวิจัยที่ใหญ่ที่สุดในโลกของกระทรวงพลังงานสหรัฐฯ
“ผู้ประกอบการหลายรายอาจมองว่า Deep Tech Startup ‘ยาก’ ซึ่งผมก็ว่ายากจริงๆ ไหนจะต้องเขียนแผนธุรกิจที่ต้องทำให้นักลงทุนสนใจ ...หากคุณจะเป็น Deep Tech Startup ข้อแรกคุณต้องมุ่งพัฒนาโปรดักส์ให้ลูกค้าชอบ จากนั้นหาพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจเก่งๆ มาช่วยทำให้เห็นว่าโปรดักส์หรือบริการของคุณทำให้โลกเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร แล้วค่อยเดินไปหานักลงทุน”
ควอนตัมดอท คือ ผลึกนาโน (nanocrystal) เป็นผลึกอนุภาคที่มีขนาดเพียงระดับนาโนเมตร (2-10 นาโนเมตร) หรือ 10-50 อะตอม ลักษณะการใช้งานของควอนตัมดอทมีมากมาย ไม่เฉพาะแต่ในวงการเซมิคอนดักเตอร์เท่านั้น แต่ควอนตัมดอทยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในด้านอื่นได้อีกด้วย เช่น ใช้ผลิตเซลล์แสงอาทิตย์ อุปกรณ์สื่อสารทางไกล เป็นต้น
ปัจจุบันตลาดใหญ่ของ UbiQD คืออุตสาหกรรมการเกษตรแถบยุโรป โดยเฉพาะในเรือนเพาะชำทางการเกษตร เทคโนโลยีควอนตัมดอทที่จดสิทธิบัตรเฉพาะของ UbiQD จะช่วยเพิ่มสเปกตรัมของแสงอาทิตย์เพื่อเพิ่มผลผลิต ควอนตัมดอทสามารถเปลี่ยนสเปรกตรัมแสงอาทิตย์ให้เหมาะกับการปลูกพืชแต่ละชนิด พืชจึงโตเร็วขึ้นและได้ผลผลิตมากขึ้นกว่าเดิม
อีกตลาดใหญ่ที่เน้นเป็นพิเศษ คือกระจกที่ใช้เทคโนโลยีควอนตัมดอททำหน้าที่ผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์ ตอบโจทย์แนวโน้มเมืองแห่งอนาคต (smart city) ที่หลายๆ ประเทศทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญ ขณะที่สเต็ปการโตต่อไปของ UbiQDคือ การขยายตลาดออกนอกสหรัฐฯ และยุโรป พุ่งเป้ามาที่ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทย เพราะเป็นประเทศเกษตรกรรมขนาดใหญ่ และเป็นตลาดที่มีศักยภาพในเรื่องของเทคโนโลยี ซึ่งแน่นอนว่าเขาต้องหาพาร์ทเนอร์ผู้ผลิตกระจกหรือฟิล์มในไทยด้วย
CibusDX: แจ้งเกิด Food Safety
อีกหนึ่ง Deep Tech Startup ในแถบ Silicon Valley ได้ชื่อว่าเป็น Deep Tech Startup ที่เชี่ยวชาญการตรวจเชื้อโรคที่ปนเปื้อนในอาหาร
Craig Mosman ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ
CibusDX ผู้พัฒนาระบบตรวจสอบความปลอดภัยในอาหาร สตาร์ทอัพระดับ Series A ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ
Forbes Thailand
“มันสำคัญมาก ที่เราควรมีระบบการตรวจสอบเชื้อโรคในอาหารที่ให้ผลแม่นยำเพราะอาจส่งผลต่อสุขภาพของคน และส่งผลกระทบต่อธุรกิจอาหารทั้งระบบ”
Mosman ต้องการพัฒนาระบบตรวจจับและวิเคราะห์เชื้อโรคในอาหารได้อย่างเรียลไทม์ สามารถตรวจสอบเชื้อโรคใน “กุ้ง” โดยเฉพาะในกลุ่มผู้เลี้ยงกุ้งในฟาร์ม และอาหารสดประเภทอื่นๆ โดยผู้ที่อยู่ในซัพพลายเชนด้านอาหาร รวมถึงพ่อค้าคนกลาง คือเป้าหมายที่จะใช้ระบบนี้
เครื่อง CibusDX สามารถตรวจสอบเชื้อโรคในประเภท Listeria, Salmonella, และ E.Coli รวมถึงอาหารอื่นๆ ที่เป็นพาหะนำโรค และรู้ผลได้รวดเร็วภายใน 30 นาที จากปกติที่ต้องใช้เวลาในการตรวจสอบมากกว่า 24-72 ชั่วโมง ระบบใช้เทคโนโลยีขั้นสูงด้านเคมีไฟฟ้าและเทคโนโลยีเฉพาะด้านวางบนแถบทดสอบ โดยเครื่อง CibusDX จะทำงานคล้ายๆ กับเครื่องวัดระดับน้ำตาลในเลือดไร้สาย ทำงานร่วมกับสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต ซึ่งผลที่ได้จะถูกส่งอย่างเรียลไทม์ไปยังระบบควบคุมคุณภาพ ทำให้ผู้ผลิตอาหารสามารถตัดสินใจแก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงที
Mosman บอกว่า เส้นทาง Deep Tech Startup อย่างเขาไม่ง่ายเลย เพราะด้วยเทคโนโลยีที่ต้องผ่านการรับรองอย่างเป็นทางการจากหน่วยงานที่ดูแลเรื่องคุณภาพและความปลอดภัยของอาหาร
ทั้งนี้ ปัจจุบันภูมิภาคเอเชียก็เป็นเป้าหมายสำคัญเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจ และเสาะหานักลงทุนที่อาจจะสนใจร่วมลงทุนด้วย บริษัทมีแผนที่จะเข้ามาตั้งบริษัทในไทยภายในปีนี้ พร้อมหาช่องทางการระดมทุนเพิ่มจุดเด่นของตลาดในประเทศไทยคือการเป็นฮับด้านอาหารของโลก ดังนั้นความปลอดภัยของอาหารจึงเป็นเรื่องสำคัญ
“ความท้าทายของ Deep Tech Startup คือ regulatory process ซึ่งเทคโนโลยีลักษณะนี้ต้องใช้เวลามาก รวมถึงต้องใช้ทุนไม่น้อย คุณต้องเจอกับคำถามจากนักลงทุนและพาร์ทเนอร์ ว่าระบบที่คุณพัฒนาใช้งานได้จริงหรือไม่ เพราะเป็นเรื่องของความปลอดภัยเกี่ยวพันไปถึงเรื่องของสุขภาพ คุณต้องเข้าใจว่าการที่สตาร์ทอัพจะพัฒนาอะไรขึ้นมาสักอย่าง โดยเฉพาะ Deep Tech มันคือการเดิมพันอย่างหนึ่ง เพราะคุณอาจต้องใช้เวลาทดสอบโปรดักส์ของคุณนานกว่า 6 เดือน และในตอนจบมันอาจจะได้ผลลัพธ์ที่ดีเยี่ยมหรืออาจกลายเป็นหายนะก็ได้ เป็นความท้าทายที่ Deep Tech Startup ต้องเจอ” Mosman กล่าวทิ้งท้าย
“ต๊อบ” เถ้าแก่น้อย ตั้งกองทุนหนุน Deep Tech
อิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู๊ด แอนด์มาร์เก็ตติ้ง จาก “เถ้าแก่น้อย” ที่ทำรายได้ระดับ 5 พันล้านบาทต่อปี โตปีละ 15% ให้สัมภาษณ์
Forbes Thailand ว่าเขาเตรียมตั้งกองทุนของตัวเองขึ้นมาโดยใช้เงินลงทุนส่วนตัวไม่เกี่ยวข้องกับเถ้าแก่น้อยเพื่อลงทุนใน Deep Tech Startup อย่างจริงจังในปี 2562 ไม่ใช่เป็นเพียงแค่ Angel Investor เท่านั้น
เขามองว่า Deep Tech จะมีบทบาทสำคัญที่จะช่วยพัฒนาอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่เขาเรียกว่าอุตสาหกรรมมือเปื้อน หรืออุตสาหกรรมด้านการเกษตร รวมถึงโรงงานผลิตสาหร่ายเถ้าแก่น้อยของเขาด้วย กลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มใหญ่ที่ Deep Tech จะเข้ามาช่วยเสริมศักยภาพได้มาก
“จะสร้าง Deep Tech ขึ้นมาได้อย่างไร ผมคิดว่ามันจะเป็นเรื่องของ AI, big data และ IoT ซึ่งทั้งหมดนี้จะทำให้อุตสาหกรรมเกษตรมีศักยภาพเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล Deep Tech จะสำคัญเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งคนทำธุรกิจต้องตามเทคให้ทัน และนำมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ ไม่เช่นนั้นเราจะกลายเป็นคนที่หลงโลก”