รู้เขารู้เรากับ Cryptocurrency - Forbes Thailand

รู้เขารู้เรากับ Cryptocurrency

FORBES THAILAND / ADMIN
16 Oct 2018 | 06:17 PM
READ 1293

ในปัจจุบันเราคงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) จัดว่าเป็นสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset) ที่น่าจับตามองตัวหนึ่ง โดยเฉพาะในประเทศไทยที่ทาง ก.ล.ต. ได้ออกพระราชกำหนดมาเป็นแนวทางในการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องได้แก่ Digital Asset Exchange, Broker, Dealer รวมไปถึงกิจกรรมการระดมทุนอย่าง Initial Coin Offering (ICO) หากเราจะเลือกตัวแทนของ Cryptocurrency สักตัว Bitcoin ก็คงเป็นตัวแทนที่พอจะกล่าวได้ว่าเป็น Cryptocurrency ที่เป็นจุดเริ่มต้นของสินทรัพย์ดิจิทัลทั้งหมด

เดือนพฤศจิกายน ปี 2008 Satoshi Nakamoto (นามแฝง) ได้นำเสนอ White Paper ออกสู่สายตาชาวโลกเป็นครั้งแรกลงบน The Cryptography Mailing ที่มีชื่อว่า Bitcoin: A Peer to Peer Electronic Cash System โดยยึดถือในความคิดที่ว่า ไม่ต้องการให้ค่าเงินถูกควบคุมโดยรัฐบาลหรือสถาบันการเงินใดๆ ก็ตาม วันที่ 3 มกราคม ปี 2009 เป็นวันแรกที่ block แรกของ Bitcoin ได้ถูกขุดออกมาบนโลกครั้งแรก ซึ่งผู้ที่ได้รับการโอนเงินผ่าน Bitcoin คนแรก คือนาย Hal Finney เป็นจำนวน 10 BTC โดยหลังจากนั้น Satoshi Nakamoto ยังคงพัฒนา Software Bitcoin ต่อไปเรื่อยๆ ให้สามารถใช้งานได้จริง Bitcoin มีราคา 0.0006 เหรียญ ในเดือน ตุลาคม ปี 2009 เมื่อ Website New Liberty Standard เปิดการรับซื้อขาย Bitcoin ขึ้นเป็นครั้งแรกของโลก ในเดือนพฤษภาคม ปี 2010 Laszlo Hanyecz ได้ทำการตั้งกระทู้ขอซื้อพิซซ่าโดยแลกกับเงินจำนวน 10,000 BTC โดยในเวลาต่อมาก็มีคนซื้อมาส่งให้เขาจริงๆ จึงถือเป็นวันแรกที่มีการใช้ Bitcoin ซื้อของจริงๆ ซึ่ง Bitcoin มีราคาเทียบเท่า 0.004 เหรียญ เมื่อเทียบกับราคาพิซซ่าที่เขาได้รับ หลังจากนั้นก็ได้มีการเปิดเว็บไซต์ขึ้นมามากมายเพื่อทำการแลกเปลี่ยนซื้อขาย Bitcoin ขึ้นมาโดยมีหลายๆ คนเข้าร่วมในการขุด (Mining) Bitcoin ขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง พฤษภาคมปี 2017 เป็นครั้งแรกที่ Bitcoin มีราคามากกว่า 2,000 เหรียญ และทะลุ 3,000 เหรียญในเดือนมิถุนายนปี 2017 ทำให้มูลค่าโดยรวมมากกว่า 1 แสนล้านเหรียญและมีจำนวนมากกว่า Cryptocurrency และ Crypto Asset ที่ถูก list ในตลาดซื้อขายมากกว่า 1,000 ตัว และยังเป็นช่วงเวลาแห่งการเริ่มต้นสู่จุดสูงสุดของราคา Bitcoin ในเวลาต่อมา สิงหาคม ปี 2017 ถึงแม้ว่าจะมีข้อจำกัดของ Bitcoin ทำให้สามารถรองรับธุรกรรมได้เพียง 4 ธุรกรรมต่อวินาที ซึ่งไม่เหมาะสมที่จะนำมาใช้แทนเงินจริงๆ ในรูปแบบของเงินสดดิจิทัล (Digital Cash) ส่งผลให้มีการสร้าง Bitcoin Cash แตกสายขึ้นมาจาก Bitcoin เพื่อแก้ไขปัญหานี้ ทำให้เวลานั้น Bitcoin มีราคา 4,000 เหรียญ หลังจากนั้นราคาของ Bitcoin ก็เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม จนแตะจุดสูงสุดที่ 19,783 เหรียญในเดือนธันวาคม ปี 2017 ถือเป็นปีทองของสินทรัพย์ดิจิทัลต่างๆ ที่เกิดเป็นกระแสไปทั่วโลกดังที่เห็นได้ในปีที่ผ่านมาว่าทุกๆ คนต่างพูดถึง ICO, Bitcoin หรือ blockchain ซึ่งกลายเป็นกระแสหลักของหลายๆ ธุรกิจในเวลาอันสั้นส่งผลกระทบโดยตรงต่อราคาที่พุ่งทะยานขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม หลังจากนั้นราคาของ Bitcoin ก็ได้ปรับตัวในขาลงจนกลับมาอยู่ราวๆ 4,200 เหรียญ ต่อ Bitcoin ในเดือนกรกฎาคม 2018 ซึ่ง เทรนด์แบบนี้ก็เกือบจะเหมือนกับ Crypto Asset อื่นๆ เช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น Etherium หรือ XRP ของ Ripple หากเราจะลองหาเหตุผลว่าปัจจัยใดบ้างที่ส่งผลกระทบต่อราคาของสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นต้องขอบอกว่ามีปัจจัยนับไม่ถ้วนที่จะส่งผลกระทบต่อราคา และยากต่อการคาดเดาถึงราคาที่เหมาะสมในอนาคต แต่หากเราลองมองหาปัจจัยหลักๆ นั้นก็อาจจะบอกได้ว่าปัจจัยต่อไปนี้ส่งผลอย่างมากต่อราคาของสินทรัพย์ดิจิทัล • อุปสงค์/อุปทาน เป็นเรื่องปกติที่ราคาสินค้าจะขึ้นกับปริมาณของอุปสงค์/อุปทาน สำหรับสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นก็เช่นเดียวกันบางตัวมีปริมาณของอุปทานที่จำกัด เช่น Bitcoin ซึ่งถูกกำหนดไว้แล้วว่าจะมีอยู่อย่างจำกัดและไม่สามารถสร้างเพิ่มได้ (Infinite) ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับทองมากกว่าธนบัตรที่อาจจะสร้างเพิ่มได้อย่างไม่จำกัด แต่ก็มีสินทรัพย์ดิจิทัลบางตัวที่อาจจะถูกสร้างเพิ่มเติมได้เช่นเดียวกัน เช่นเดียวกับหุ้น กระแสข่าวต่างๆ จากสื่อทั่วโลก และอุปสงค์ของแรงซื้อขายก็ส่งผลกระทบต่อราคาและภาพรวมของตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลของโลกนี้ด้วย ไม่ต่างจากราคาของทอง หรือสินทรัพย์อื่นๆ • การยอมรับของทางรัฐบาลรวมไปถึงแนวทางการกำกับดูแล อาจดูเป็นเรื่องตลกที่สิ่งที่ออกแบบมาให้เป็น decentralized system นั้น มีราคาเพิ่มขึ้นจากการยอมรับของรัฐบาลหรือหน่วยงานกำกับดูแลต่างๆ ที่ถือเป็น centralized system ยกตัวอย่างเช่นในเดือนมกราคม ปี 2018 ที่ทางรัฐบาลของเกาหลีใต้ประกาศว่าจะแบนเงินดิจิทัลและห้ามไม่ให้มีการซื้อขายกันบน Digital Asset Exchange ส่งผลให้ราคาของ Bitcoin ลดลง 2,000 เหรียญในวันเดียว ซึ่งในขณะนั้นตลาดของเกาหลีใต้มี Trading Volume ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก สำหรับประเทศไทยแล้ว ทาง ก.ล.ต. ก็ได้ออก พ.ร.ก. การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ครอบคลุมถึงเรื่องของการร่วมลงทุนใน ลักษณะของ ICO ด้วยเช่นเดียวกัน โดยการที่จะทำ ICO นั้นจะต้องกระทำผ่านICO Portal และได้รับการรับรองจากทาง ก.ล.ต. ก่อนที่จะสามารถออก White Paper เพื่อทำารระดมทุนได้ ซึ่งนี่เป็นการวางหมากที่ดีจากทาง ก.ล.ต. เพราะนอกจากจะไม่ปิดกั้นสินทรัพย์ดิจิทัลแล้ว ยังออกแนวทางการกำกับที่ยืดหยุ่นเพียงพอที่จะลองให้ผู้เล่นในประเทศสามารถทดลองใช้เครืองมือใหม่ๆ ได้อย่างถูกต้องและสามารถป้องกัน ICO ที่เข้าข่ายหลอกหลวงประชาชนได้ในเวลาเดียวกัน สำหรับทิศทางในอนาคตของสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น ก็ยังต้องตอบว่ายังไม่สามารถตอบได้ว่าจะเป็นไปในทิศทางใด แต่อยากให้ประชาชนคอยจับตามองอย่างใกล้ชิด ทั้งข่าวในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งทำการศึกษาถึงสินทรัพย์นั้นๆ อย่างถี่ถ้วนถึงปัจจัยต่างๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อราคาและความเป็นไปได้ต่างๆ ที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงที่ทำให้ราคามีความผันผวนมาก รวมไปถึง Use Case ที่เราสามารถใช้งานได้ก่อนที่จะตัดสินใจถือครองสินทรัพย์ดิจิทัลตัวใดตัวหนึ่ง กัมพล จันทวิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด