ตามยุทธศาสตร์ “ไทยแลนด์ 4.0” ของรัฐบาล และ “แผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม” ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ไม่เพียงทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในธุรกิจด้านการสื่อสารและเทคโนโลยี แต่ยังส่งผลให้ไปรษณีย์ไทยเดินทางมาถึงการปรับตัวครั้งใหญ่เพื่อก้าวสู่ตำแหน่งผู้เชื่อมโยงที่ดีที่สุดของคนไทย
จากเมื่อก่อนที่ไปรษณีย์ไทยเน้นเพียงงานส่งจดหมาย ขายแสตมป์ ทุกวันนี้การเติบโตของธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ ทำให้ไปรษณีย์ไทยต้องปรับตัวเพื่อรองรับปริมาณการส่งพัสดุหรือกล่องที่เพิ่มขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นความท้าทายที่กระตุ้นให้ไปรษณีย์ไทยมีการพัฒนาด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ครอบคลุมด้านการบริการ ด้านการตลาด ด้านการเงินการลงทุน ด้านบุคลากร และด้านการบริหารจัดการ
เมื่อพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ไปรษณีย์ไทยหน่วยงานที่ให้บริการด้านขนส่งและโลจิสติกส์ของคนไทยพร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนองค์กรภายใต้ยุทธศาสตร์ “ไปรษณีย์ไทย...เครือข่ายเพื่อชีวิตดิจิทัล” ผ่านการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ เข้ามาประยุกต์เข้ากับระบบให้บริการไปรษณีย์ให้มีคุณภาพมาตรฐานมากขึ้น เพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ และตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่
นอกเหนือจากผู้ใช้บริการจะเป็นโจทย์สำคัญที่เป็นแรงกระตุ้นให้ไปรษณีย์ไทยต้องปรับตัวอยู่เสมอ อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไปรษณีย์ไทยต้องตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา คือ บริษัทเอกชนในกลุ่มธุรกิจเดียวกัน ที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุนี้ไปรษณีย์ไทยจึงต้องคิดค้นและพัฒนาบริการใหม่เพื่อรองรับและตอบโจทย์ทุกความต้องการของผู้ใช้บริการ เพื่อการเป็นผู้เชื่อมโยงที่ดีที่สุดของคนไทย ด้วยการเปิดให้บริการเพิ่มแก่ผู้ใช้บริการใน 3 กลุ่มบริการหลักในปี 2559 ดังนี้
- เพิ่มช่องทางรับฝาก ในที่ทำการไปรษณีย์ต่างๆ จะเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการแบบครบวงจร ผ่านระบบเคาน์เตอร์ไปรษณีย์อัตโนมัติ (New CA POS) ที่ทันสมัยมากขึ้นโดยจะทยอยปรับเปลี่ยนระบบใหม่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ระดับจังหวัด จนครบทุกแห่งทั่วประเทศ พร้อมจัดทำเว็บไซต์หรือแอพพลิเคชั่นพร้อมโพสต์ (Prompt Post) ระบบช่วยจัดการการฝากส่งล่วงหน้า พร้อมสั่งซื้อกล่องพร้อมส่งกล่องพัสดุเหมาจ่าย ไม่ต้องชั่งน้ำหนัก ไม่ต้องรอนาน ฝากส่งได้ทันที
- เพิ่มศักยภาพการส่งต่อ พัฒนาระบบปฏิบัติการให้รองรับกับปริมาณงานที่เพิ่มขึ้นและเพิ่มความสะดวกรวดเร็ว ปลอดภัยแก่สิ่งของที่ฝากส่ง รวมทั้งปรับปรุงกระบวนการรับ-ส่ง โดยติดตั้งระบบ RFID เพื่อสามารถติดตามรถขนส่งไปรษณีย์ได้อัตโนมัติ
- เพิ่มความสะดวกทุกช่องทางการนำจ่าย เพื่อมุ่งตอบโจทย์ชีวิตคนรุ่นใหม่ยุคดิจิทัลที่เร่งรีบ หรือไม่สะดวกรับสิ่งของที่บ้านสามารถเลือกรับสิ่งของได้ในจุดที่สะดวกผ่าน ไอบ็อกซ์ (iBox) ตู้ไปรษณีย์อัจฉริยะรับพัสดุสะดวกง่าย เพียงลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ไปรษณีย์ไทย เซมเดย์โพสต์ (Same Day Post) บริการรับ-ส่งสิ่งของ/สินค้าด่วนที่มีถึงกันในพื้นที่กรุงเทพฯ ภายในวันเดียวจุดนำจ่าย (Drop Station) ที่อยู่ใกล้บ้านที่ไปรษณีย์ไทยได้ตกลงเอาไว้ ตลอดจนแอพพลิเคชั่นแมสเซนเจอร์โพสต์ (Messenger Post) ระบบเรียกพนักงานรับส่งสิ่งของเร่งด่วน
นอกจากบริการต่างๆ ข้างต้น ไปรษณีย์ไทยยังได้จัดทำ THP Card บัตรเงินสดที่ผู้ใช้บริการสามารถใช้ในการชำระสินค้า และบริการไปรษณีย์ได้ ณ ที่ทำการไปรษณีย์ทุกแห่ง รวมไปถึงการติดตั้งเครื่องเอพีเอ็ม (Automatic Post Machine) ให้บริการรับฝากอัตโนมัติสำหรับพัสดุที่มีน้ำหนักไม่เกิน 500 กรัม นำร่อง ณ สนามบินสุวรรณภูมิ
ภายใต้โจทย์ของไปรษณีย์ไทยที่มุ่งเน้นการทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการขับเคลื่อนความเติบโตทางเศรษฐกิจของชาติ ด้วยนวัตกรรมและเป็นช่องทางให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการภาครัฐในระบบดิจิทัล พร้อมกับต้องยึดหลักในการดำเนินงานที่ต้องเติบโตคู่ชุมชนสังคม และประเทศชาติ รวมถึงเป้าหมายการเป็นผู้นำในธุรกิจไปรษณีย์และโลจิสติกส์แบบครบวงจรในภูมิภาคอาเซียน ไปรษณีย์ไทยได้เน้นการสร้างความเป็นเลิศตามนโยบาย POST Excellence ยกระดับมาตรฐานคุณภาพบริการและมุ่งสร้างความพึงพอใจให้ผู้ใช้บริการจากการดำเนินงานในสี่มิติ ประกอบด้วย
P-Product and Service มุ่งเน้นพัฒนาสินค้าและบริการที่ตอบสนองความต้องการผู้ใช้อย่างมีประสิทธิภาพ O-Operation ปรับปรุงและยกระดับระบบการปฏิบัติการให้ได้มาตรฐาน S-Sustainability เดินหน้าพัฒนาองค์กรให้มีการเติบโตอย่างยั่งยืน T-Teamwork มุ่งเน้นการทำงานเป็นทีมผ่านการพัฒนาบุคลากรของไปรษณีย์ไทยทั่วประเทศให้มีคุณภาพ
โดยมีเป้าหมายที่จะเป็นศูนย์กลางด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ในภูมิภาคอาเซียนในอนาคต
สมร เทิดธรรมพิบูล
กรรมการผู้จัดการใหญ่
บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด