มาตรการติดปีก SMEs ไทยสู่สากล - Forbes Thailand

มาตรการติดปีก SMEs ไทยสู่สากล

FORBES THAILAND / ADMIN
11 Aug 2017 | 02:59 PM
READ 3700

SMEs ไทยมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการเพิ่มขึ้นของมูลค่าการส่งออก โดยเห็นได้จากในปี 2558 ที่มูลค่าการส่งออกได้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 27.40 ขยายตัวจากปี 2557 ที่ร้อยละ 2.98 และยังมีแนวโน้มในการขยายตัวอย่างต่อเนื่องในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสามารถในการแข่งขันของ SMEs ไทย

โดยรัฐบาลให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตและปรับปรุงมาตรฐานสู่สากลให้แก่ SMEs ซึ่งทุกวันนี้ปัญหาสำคัญที่ SMEs ประสบอยู่นั้น ได้แก่ แหล่งเงินทุน การขาดความรู้ด้านการบริหารธุรกิจ และความสามารถในการหาตลาด กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนและช่วยเหลือ SMEs ให้มีความเข้มแข็งซึ่งได้กำหนดกลยุทธ์ตามแนวนโยบาย “Thailand 4.0 และ SME 4.0” โดยบูรณาการความร่วมมือกับภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการเงิน และสถาบันการศึกษา ตามแนวทางประชารัฐมากกว่า 60 หน่วยงาน ซึ่งร่วมกันขับเคลื่อน SMEs อย่างมีเป้าหมายและทิศทางโดยผ่านคณะกรรมการสานพลังประชารัฐชุดส่งเสริม “SME Startup & Social Enterprise (D2)” ทั้งนี้ กรอบการส่งเสริมและพัฒนา SMEs ได้ถูกกำหนดตามช่วงวงจรชีวิตและการเติบโตของธุรกิจ โดยแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ 1) มาตรการช่วยเหลือ SMEs ด้านการเงิน และ 2) มาตรการช่วยเหลือ SMEs ที่ไม่ใช่ด้านการเงิน มาตรการช่วยเหลือ SMEs ด้านการเงินประกอบด้วย 4 กองทุน ได้แก่
  1. การจัดตั้งกองทุนพัฒนา SMEs ตามแนวประชารัฐในวงเงิน 2 หมื่นล้านบาท เพื่อช่วยเหลือ SMEs ในการเพิ่มมูลค่าให้สูงขึ้น
  2. กองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งมีวงเงิน 1 พันล้านบาท โดยเน้นการพลิกฟื้นธุรกิจในกลุ่มลูกค้าสถาบันการเงิน
  3. กองทุนส่งเสริม SMEs ตามมาตรการฟื้นฟูกิจการ วงเงิน 2 พันล้านบาท เพื่อเร่งฟื้นฟูธุรกิจ SMEs ที่เป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลที่มีปัญหาให้กลับมาประกอบธุรกิจต่อไปได้ โดยเป็นเงินอุดหนุน และเงินร่วมลงทุนในการจัดซื้อเครื่องจักร อุปกรณ์ รายละไม่เกิน 1 ล้านบาท
  4. สินเชื่อ SMEs Transformation Loan ของธนาคาร SME Development Bank เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน ขยาย ปรับปรุงกิจการ ในวงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท
นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมยังได้ออกมาตรการช่วยเหลือ กลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยขนาดเล็กมาก (micro) ที่เป็นผู้ประกอบการที่มีการจ้างงานไม่เกิน 5 คน โดยประกอบด้วย
  1. โครงการยกระดับมาตรฐานสินค้าของ micro SMEs และวิสาหกิจชุมชน ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดในวงเงิน 100 ล้านบาท
  2. สินเชื่อดอกเบี้ย 0% โดยจะจัดสรรให้ micro SMEs และวิสาหกิจชุมชนในวงเงิน 500 ล้านบาท ซึ่งจะปล่อยกู้ให้รายละไม่เกิน 200,000 บาท ระยะเวลาคืนเงิน 10 ปี โดยผู้ประกอบการที่เป็น NPL ก็สามารถกู้ได้
  3. สินเชื่อที่ดึงมาจากกองทุนช่วยเหลือ SMEs ตามแนวทางประชารัฐในวงเงิน 2 หมื่นล้านบาท โดยคิดอัตราดอกเบี้ย 1% ระยะเวลากู้ 7 ปี ปลอดเงินต้น 3 ปี โดยผ่อนปรนหลักประกัน ซึ่งวงเงินอนุมัติ/ราย จะไม่เกิน 600,000 บาท
สำหรับมาตรการช่วยเหลือ SMEs ที่ไม่ใช่ด้านการเงิน ประกอบไปด้วย
  1. การพัฒนา SMEs ที่มีแนวคิดสู่ผู้ประกอบการเชิงสร้างสรรค์ ที่มีนวัตกรรมผ่านโครงการ Academy โดยการอบรมถ่ายทอดความรู้การจัดตั้งธุรกิจ การบ่มเพาะ SMEs และการจัดทำระบบพี่เลี้ยงเพื่อให้มีขีดความสามารถการแข่งขันทุกด้าน อีกทั้งร่วมผลักดันต้นแบบงานวิจัยสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ พร้อมพัฒนา SMEs รายเดิม
  2. ศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่อนาคต โดยจัดกิจกรรมสร้างความตระหนักในการขับเคลื่อน SMEs สู่ Thailand 4.0 ร่วมกับศูนย์ออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ส่งเสริมให้ใช้ digital content และ digital solution เพื่อปรับธุรกิจสู่ยุค 4.0
  3. การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและในระดับภูมิภาค ดำเนินการผ่านนโยบายการพัฒนาหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์เพื่อสร้างรากฐานทางเศรษฐกิจในระดับชุมชน และสร้างระบบการพัฒนาให้กับชุมชนในเชิงธุรกิจที่เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว
  4. การมุ่งเน้นการตลาด โดยสนับสนุนให้ SMEs ขยายธุรกิจไปยังตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อถ่ายทอดความรู้ จัดฝึกอบรม สร้างเครือข่ายหน่วยงานในการส่งเสริม SMEs และให้คำปรึกษาแนะนำในการทำธุรกิจและการจับคู่ธุรกิจเป็นต้น อีกทั้งยังสนับสนุนด้านอี-คอมเมิร์ซ โดยส่งเสริมให้ SMEs ใช้ digital media ในการดำเนินธุรกิจ
ทั้งนี้ ในปัจจุบันนั้น SMEs ไทยมีศักยภาพและความสามารถอยู่แล้ว โดยมาตรการต่างๆ ที่กระทรวงอุตสาหกรรมสนับสนุนผู้ประกอบการนี้จะเป็นอีกหนึ่งแรงผลักดันเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ SMEs ไทยได้ครอบคลุมทุกมิติ ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นการช่วยเหลือด้านการเงิน แต่ยังมุ่งเน้นการให้ความรู้ในการนำเงินทุนที่ได้รับไปใช้ต่อยอด จนนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับสากลได้อย่างแข็งแกร่งสืบไป   อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม   ขอบคุณภาพทั้งหมดจาก Bangkok Post
คลิกอ่านบทความที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่ Forbes Thailand Magazine ฉบับ กรกฎาคม 2560 ในรูปแบบ e-Magazine