ถ้าพูดถึงฟินเทค (FinTech – financial technology) สำหรับผมมันคือ สัญญาณแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของอุตสาหกรรมการเงิน โดยผู้เล่นหลักในการสร้างความเปลี่ยนแปลงก็คงจะหนีไม่พ้น “ฟินเทคสตาร์ทอัพ” ซึ่งมักจะเป็นองค์กรรุ่นใหม่ที่มีการใช้เทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์ผสมผสานกันเป็นหลัก ในการพัฒนาอุตสาหกรรมการเงินให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
หลายๆ คนคาดการณ์ว่า การเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ที่กำลังเกิดขึ้นนี้จะเป็นดั่งเช่นการเข้ามาของเทคโนโลยีที่เคยทำให้อุตสาหกรรมเพลงทั้งอุตสาหกรรมต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด แต่สิ่งที่น่าตื่นเต้นยิ่งกว่าของฟินเทค คือ อุตสาหกรรมการเงินนั้นมีมูลค่ามหาศาล และที่สำคัญคือ ยังมีช่องว่างให้เทคโนโลยีเข้ามาเพิ่มมูลค่าได้อีกมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าทำให้ชีวิตความเป็นอยู่สะดวก รวดเร็ว และคุ้มค่ามากยิ่งขึ้น
ในฐานะที่ StockRadars เป็นฟินเทคสตาร์ทอัพที่ถูกพูดถึงค่อนข้างมาก จึงมีหลายคนสอบถามว่า เราเล็งเห็นโอกาสในอุตสาหกรรมฟินเทคได้อย่างไร หรือทำไมเรารู้เทรนด์เหล่านี้ได้ล่วงหน้า ผมขอสารภาพตรงนี้เลยว่า ตอนที่เริ่มทำ StockRadars เราไม่เคยรู้เหมือนกันว่ามันคือฟินเทค รู้เพียงแต่ว่าเราอยากให้ทุกๆ คนมีเทคโนโลยีที่ช่วยในการลงทุน แต่เมื่อเราได้ลงมือทำไปซักระยะหนึ่ง คนรอบๆ ตัวเริ่มพูดกับเราว่า สิ่งที่เราทำอยู่คือฟินเทค ซึ่งมันเจ๋งและอินเทรนด์มาก และทำให้ผมต้องเริ่มไปศึกษา แล้วก็พบว่า ใช่เลย! StockRadars คือฟินเทคแบบเต็มตัว ถึงแม้เราจะไม่เคยรู้มาก่อน แต่ใจความสำคัญคือ พวกเราต้องการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อให้การลงทุนมีประสิทธิภาพมากขึ้น ดีขึ้น เร็วขึ้น และที่สำคัญคือ เข้าถึงทุกคนได้มากยิ่งขึ้น
หลังจากที่รู้ตัวว่าเราเป็นฟินเทค จึงเร่งศึกษาจนพบว่า จริงๆ แล้วโอกาสยังมีอีกมากมายเหลือเกินสำหรับอุตสาหกรรมนี้เมื่อพูดถึงฟินเทค สิ่งแรกที่ทุกคนเอ่ยถึงคือ ฟินเทคจะเกิดมาเพื่อทำลายธุรกิจธนาคารที่มีอยู่ดั้งเดิม โดยส่วนตัวแล้ว ผมมองว่าโอกาสที่ฟินเทคจะไปฆ่าแบงค์นั้นน่าจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยากมาก ยกเว้นสตาร์ทอัพที่มีขนาดใหญ่มาก หรืออยู่ในตลาดระดับโลกอย่าง Alipay ที่เข้ามาเพื่อแข่งขันโดยตรงกับธนาคารอย่างเห็นได้ชัด แต่ถ้าในความหมายของฟินเทคที่เราจับต้องได้และอยู่ใกล้ตัว โดยส่วนตัวแล้ว ผมมองว่าโอกาสที่ฟินเทคจะฆ่าแบงค์นั้น แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย แต่ผมเชื่อว่าฟินเทคสามารถ “จับมือ” กับแบงค์ A เพื่อฆ่าแบงค์ B ได้ เรียกได้ว่าใครเห็นโอกาสก่อนและขยับตัวเร็วกว่า ย่อมได้เปรียบเมื่อไหร่ที่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น
จักมีคนอยู่สองประเภท ประเภทแรกคือ คนที่เลือกจะไม่รับรู้และวางตัวเพิกเฉย กับคนอีกประเภทที่ลุกขึ้นมาคิดว่าจะจัดการยังไงกับการเปลี่ยนแปลงนั้น ซึ่งแน่นอนที่สุด หากโลกเปลี่ยนแล้วเราปฏิเสธที่จะเปลี่ยนตามก็ย่อมมีคนมาเปลี่ยนให้ในที่สุด ด้วยโครงสร้างของธนาคารคงทำให้สามารถขยับได้ช้ากว่าอุตสาหกรรมสตาร์ท-อัพแน่นอน แต่ธนาคารมีฐานลูกค้าใหญ่ และมีทรัพยากรมหาศาลที่สามารถร่วมมือกับสตาร์ทอัพได้ เพราะฉะนั้นการจับมือกันของคนทั้งสองฝั่งน่าจะทำให้เกิดคุณค่าเพิ่มอย่างก้าวกระโดด ซึ่งเทรนด์ที่สำคัญในฟากองค์กรขนาดใหญ่ คือการสร้างหน่วยงานพิเศษที่มีหน้าที่ดูแลด้านนวัตกรรมที่ขึ้นตรงกับ CEO โดยตรง ด้วยเหตุผลที่ว่าไอเดียดีๆ ที่จะเปลี่ยนโลกจะไม่ถูกฆ่าตายไประหว่างการเดินทางที่ซับซ้อนและยืดยาวในองค์กรขนาดใหญ่
ผมเชื่อว่าอุตสาหกรรมการเงินจะไม่เหมือนอุตสาหกรรมเพลง เพราะสิ่งที่ต่างกันอย่างชัดเจนคือ ทุกวันนี้เกือบทุกแบงค์ขยับตัวกันอย่างรวดเร็ว แถมบุคลากรระดับหัวกะทิของประเทศต่างก็พร้อมปรับตัวเพื่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างฟินเทคกับแบงค์อีกเช่นกันอุปสรรคที่สำคัญของการเติบโตของฟินเทคหรือความผิดพลาดที่จะเกิดขึ้น มักจะเกิดจากการที่ไปทำผิดกฎบางอย่างที่ผู้กำกับดูแล หรือ regulator เคยกำหนดไว้แต่อดีต เนื่องจากอุตสาหกรรมการเงินนั้น จำเป็นต้องมีความปลอดภัยที่สูงมาก กฎเกณฑ์ต่างๆ มากมายจึงถูกสร้างขึ้นมาเพื่อความปลอดภัยของระบบเศรษฐกิจ แต่กฎเกณฑ์บางข้อนั้นเอง ท้ายที่สุดกลายเป็นอุปสรรคต่อความเปลี่ยนแปลงที่จะนำไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น ซึ่งตรงนี้ต้องช่วยกันมองหาจุดสมดุล ว่าอะไรเป็นจุดที่เราสามารถสร้างนวัตกรรม (innovation) ได้ และแน่นอนที่สุด เมื่อมีนวัตกรรมเกิดใหม่ทุกครั้งมักจะไม่ถูกต้องตามกฎเกณฑ์เดิม ซึ่งทำให้ตอนนี้มีการพูดคุยถึงการนำเทคโนโลยีฟินเทค
มาให้เหล่าผู้กำกับดูแลได้เรียนรู้ ก่อนที่จะนำออกสู่ผู้คน เพื่อพัฒนาบริการให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ผมต้องขอชมเชยหน่วยงานกำกับดูแลในไทยว่า มีการขยับตัวปรับเปลี่ยนได้อย่างรวดเร็ว โดยปกติที่อ้างอิงถึงหน่วยงานกำกับดูแล ไม่ว่าจะเป็นธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ก็มักจะคิดว่า หน่วยงานเหล่านี้ไม่น่าจะเข้าใจเรื่องเทคโนโลยีหรือสตาร์ทอัพ แต่จากการที่ผมได้สัมผัสมาทั้งสองหน่วยงานนี้ เรียกได้ว่าต่างก็เดินหน้าอย่างเต็มกำลัง เกินความคาดหมายของผมมาก ล่าสุดได้มีการพูดถึง sandbox หรือสนามทดลอง เพื่อช่วยให้นวัตกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้นได้โดยไม่ขัดต่อกฎระเบียบในอดีต ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดียิ่งสำหรับการสร้างนวัตกรรมให้เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมการเงินไทย
คลิ๊กเพื่ออ่าน Forbes Thailand ฉบับ October 2016 ในรูปแบบ e-Magazine
ความเคลื่อนไหวของฟินเทคในไทย
ก่อนหน้านี้ ประเทศไทยมีเพียงค่ายมือถือยักษ์ใหญ่เพียงสามรายเท่านั้นที่มีบทบาทในการสนับสนุนสตาร์ทอัพ แต่เมื่อไม่นานมานี้มีการเคลื่อนไหวครั้งสำคัญของธนาคารพาณิชย์ ที่เริ่มขยับเข้ามาเป็นผู้เล่นที่มีบทบาทสำคัญในการร่วมมือกับสตาร์ทอัพและแน่นอนเมื่อผู้เล่นรายใหญ่อย่างธนาคารกระโดดเข้าสู่เกมส์นี้ ย่อมสร้างแรงกระเพื่อมให้กับทั้งอุตสาหกรรมสตาร์ทอัพ ดังเช่น ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารกรุงศรีอยุธยา หลายรายได้ริเริ่มมีการสร้าง accelerator program ของตัวเอง รวมถึงเริ่มมีการตั้งบริษัทลูกเพื่อทำให้องค์กรสามารถเคลื่อนที่ได้เร็วขึ้น ซึ่งคงเป็นโมเดลเดียวกับแบงค์ต่างชาติที่มักจะสร้าง innovation arms เพื่อลดข้อจำกัดขององค์กรขนาดใหญ่ และอีกด้านไม่ว่าจะเป็นทาง ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารกรุงไทย ที่มีการริเริ่มตั้งกองทุนที่จะลงทุนในสตาร์ทอัพมากขึ้น จุดร่วมกันที่สำคัญขององค์กรขนาดใหญ่กับฟินเทคคงเป็นสิ่งอื่นไม่ได้ นอกจากการที่พยายามจะช่วยกันหานวัตกรรมดีๆ เพื่อจะทำให้ชีวิตของทุกคนง่ายขึ้น ในปัจจุบันประเทศไทยเองได้มีการตั้งชมรมฟินเทคขึ้นมาแล้ว โดยมีคุณกรณ์ จาติกวณิช เป็นประธานชมรมฟินเทค และมีทีมงานอาสาสมัครจากบริษัทที่อยู่ในแวดวงฟินเทคในประเทศ ซึ่งตัวเลขล่าสุดมีมากกว่า 60 ทีม เพื่อที่จะสะท้อน message หลัก ซึ่งคือฟินเทคต้องการมีนวัตกรรม และคงต้องขอความร่วมมือกับทุกส่วน หมายความรวมถึง policy maker ชมรมฟินเทคจึงเป็นนิมิตหมายอันดีเพื่อช่วยกันสื่อสารออกไปให้เกิดการพัฒนาได้อย่างยั่งยืนในอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าติดตาม เพราะถึงแม้ว่าประเทศไทยออกตัวช้ากว่าประเทศอื่นๆ แต่ที่จริงแล้ว ผมเชื่อว่ายังไม่ช้าเกินไปที่เราจะริเริ่มให้เกิดการพัฒนาฟินเทคอย่างจริงจัง แน่นอนผลกระทบในวงกว้างจะทำให้ประชาชนทุกคนได้เข้าถึงสินค้าหรือบริการที่ดีขึ้นของอุตสาหกรรมการเงิน ซึ่งมีมูลค่าการใช้บริการต่อหัวสูงกว่า อุตสาหกรรมอื่นๆ และถ้าหากเราสามารถสร้างสินค้าหรือบริการที่ดียิ่งๆ ขึ้นไป ก็จะทำให้ชีวิตของทุกคนดีขึ้นตามไปด้วย ล่าสุดเป็นที่น่าตื่นเต้นยิ่ง เมื่อ ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้บอกเล่าถึงความจริงอย่างหนึ่งที่น่าสนใจมากว่า ปีนี้เป็นปีแรกที่มีคำขอจากธนาคารเพื่อปิดสาขามากกว่าเปิดสาขาใหม่ และสิ่งนี้น่าจะเป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่า “การเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ได้เริ่มขึ้นแล้ว” ธีระชาติ ก่อตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ก่อตั้ง บริษัท สยามสแควร์ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัดคลิ๊กเพื่ออ่าน Forbes Thailand ฉบับ October 2016 ในรูปแบบ e-Magazine