ผลลัพธ์ทางธุรกิจที่แตกต่าง เมื่อระบบ Computing มีความสามารถในการเรียนรู้ - Forbes Thailand

ผลลัพธ์ทางธุรกิจที่แตกต่าง เมื่อระบบ Computing มีความสามารถในการเรียนรู้

FORBES THAILAND / ADMIN
23 Feb 2016 | 11:34 AM
READ 4940
เมื่อกล่าวถึงระบบ computing ที่สามารถสื่อสารกับคนได้ด้วยภาษามนุษย์ มีความคิดในการตั้งสมมติฐาน หรือเรียนรู้ได้ด้วยการสอนจากคน หลายคนอาจรู้สึกเหมือนอยู่ในภาพยนตร์แนววิทยาศาสตร์ล้ำยุค แต่ดิฉันอยากขอจะเล่าตัวอย่างสักสองสามเรื่อง เพื่อให้ท่านได้เห็นถึงศักยภาพที่มาพร้อมกับความอัจฉริยะนี้ ขอเริ่มจากตัวอย่างเรื่องการไปพบแพทย์ ที่หากผู้ป่วยคนหนึ่งตรวจพบว่าเป็นโรคมะเร็งปอด ทั้งที่ในชีวิตไม่เคยสูบบุหรี่ และไม่มีพฤติกรรมเสี่ยง โดยทั่วไปผู้ป่วยมักจะได้รับการรักษาตามอาการ แต่หากแพทย์สามารถที่จะเข้าถึงคลังข้อมูลที่รวบรวมเอาประสบการณ์การรักษาของผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลก ตลอดจนผลงานวิจัยทางการแพทย์ล่าสุดได้เพียงปลายนิ้ว แพทย์จะสามารถตั้งสมมติฐานได้ถึงความน่าจะเป็นของสาเหตุและวางแผนการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ซึ่งตัวอย่างนี้ไม่ได้ไกลตัวเลยและกำลังเกิดขึ้นแล้วที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ด้วยระบบ computing ที่ชื่อว่า “วัตสัน” ซึ่งได้รับการฝึกฝนจากผู้เชี่ยวชาญของศูนย์มะเร็ง Memorial Sloan-Kettering ประกอบกับการประมวลข้อมูลที่เกี่ยวข้องต่างๆ รวมถึง วารสารทางการแพทย์เกือบ 300 เรื่อง ตำราอีกกว่า 200 เล่ม และข้อมูลมากกว่า 12 ล้านหน้ากระดาษ เทคโนโลยีที่เรียนรู้ได้และมีความคิดในการวิเคราะห์จึงเป็นตัวช่วยได้เป็นอย่างดีในการสร้างมิติใหม่ทางการแพทย์ อีกกรณีหนึ่งคือ ตำรวจทางหลวงรัฐ Tennessee ตั้งพันธกิจ “Drive to Zero” ขึ้น ด้วยความมุ่งมั่นที่จะลดอัตราการสูญเสียจากอุบัติเหตุบนท้องถนนให้เป็นศูนย์ แน่นอนว่า ศูนย์ เป็นตัวเลขที่ท้าทาย โดยเฉพาะเมื่อจำนวนตำรวจทางหลวงนั้นมีอยู่อย่างจำกัด เขาจึงให้ระบบ computing เรียนรู้ประวัติการเกิดอุบัติเหตุที่ถูกบันทึกไว้ตั้งแต่อดีตจากทุกๆ หน่วยงานครอบคลุมกว่า 109,220 ตารางกิโลเมตร ประกอบกับข้อมูลอื่นๆ เช่น สภาพอากาศ กิจกรรม งานสำคัญ และสถานที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามใบอนุญาต เพื่อหาความสัมพันธ์ที่เป็นปัจจัยในการก่อให้เกิดอุบัติเหตุ ทำให้พวกเขาคาดการณ์ได้ล่วงหน้ากว่า 4 ชั่วโมงว่าพื้นที่ใดเป็นจุดเสี่ยงและมีความเสี่ยงจากปัจจัยใด แล้วจึงส่งกำลังตำรวจเพื่อดูแลพื้นที่นั้นเป็นพิเศษ ตัวอย่างทั้งหมดนั้นเกิดขึ้นจริงแล้วในปัจจุบันด้วยพัฒนาการของเทคโนโลยีในยุคที่เรียกว่า “ยุค cognitive” ซึ่งเป็นวิวัฒนาการของระบบ computing ที่มีความสามารถในการเรียนรู้ได้ ต่างจากเดิมที่ปฏิบัติงานตามชุดคำสั่งในยุค programming ที่เรารู้จักกันมายาวนานกว่า 60 ปี ยุค cognitive นั้น หากจะพูดให้เห็นภาพชัดเจน ดิฉันขอยกตัวอย่าง “วัตสัน” ระบบ computing ที่ถือเป็นการบุกเบิกครั้งสำคัญในวงการเทคโนโลยี ที่ได้รับพัฒนาให้มีความสามารถในการเข้าใจภาษามนุษย์ ตั้งสมมติฐานได้ จากการวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมหาศาล รวมทั้งมีความสามารถในการเรียนรู้ที่ไม่สิ้นสุดจากการปฏิสัมพันธ์กับคนและข้อมูล นอกจากความพร้อมของเทคโนโลยีแล้วนั้น ปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของยุคนี้อย่างรวดเร็ว คงหนีไม่พ้นเรื่องของข้อมูลที่เพิ่มขึ้นอย่างท่วมท้น หลายองค์กรหยิบประเด็นเรื่องการบริหารจัดการข้อมูลเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดมาพูดถึงบ่อยครั้ง โดยองค์กรส่วนใหญ่ให้ความสำคัญเรื่องการเก็บรวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ทั้งในและนอก data center ปัจจัยสุดท้ายคือ การที่แพลตฟอร์มคลาวด์กลายเป็นอีกแรงขับเคลื่อนสำคัญให้องค์กรธุรกิจสามารถปฏิบัติงานต่างๆ ได้เร็วและง่ายขึ้นด้วยต้นทุนที่ลดลง หรือแลกเปลี่ยนข้อมูลมหาศาลได้อย่างสะดวก รวมทั้งยังเป็นคลังสมองขนาดใหญ่ให้กับนักพัฒนาซอฟต์แวร์ที่เข้าไปต่อยอดองค์ความรู้ใหม่ๆ ในการพัฒนาแอพพลิเคชั่น คลาวด์จึงเป็นเสมือนแพลตฟอร์มแห่งโอกาสทางธุรกิจ ที่องค์กรไม่ว่าจะขนาดเล็กหรือใหญ่ก็สามารถเข้าถึงได้ ปรากฏการณ์เหล่านี้ล้วนเป็นตัวเร่งให้เกิดวิวัฒนาการสู่ “ยุค cognitive” ด้วยความเหมาะสมของสถานการณ์ ความลงตัวด้านความพร้อม และที่สำคัญคือในเวลาที่เรากำลังต้องการ ผลลัพธ์ที่แตกต่างเมื่อคิดได้มากกว่า cognitive ไม่ใช่เรื่องไกลตัวแล้วในวันนี้ และกำลังเป็นที่สนใจจากผู้นำมากมาย โดยผลสำรวจความคิดเห็นกลุ่มผู้บริหารระดับสูง (C-Suite) ทั่วโลกกว่า 5,000 คน จากสถาบันการศึกษาคุณค่าทางธุรกิจของไอบีเอ็ม (IBM Institute of Business Value) เผยว่าร้อยละ 95 ของผู้บริหารระดับสูงในธุรกิจประกัน ค้าปลีก และการดูแลสุขภาพ ตั้งเป้าหมายที่จะลงทุนนำเทคโนโลยี cognitive มาใช้ในอนาคตอันใกล้นี้ อีกทั้งยังมีการคาดการณ์ว่าภายในอีก 3 ปีข้างหน้า  ครึ่งหนึ่งของผู้บริโภคทั่วไปจะได้สัมผัสกับความอัจฉริยะของ cognitive ผ่านการบริการใกล้ตัวต่างๆ ในชีวิตประจำวัน
พรรณสิรี อมาตยกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด