ปัจจัยขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ (Economic Drivers) โดย ดร.ปิยะพันธ์ ทยานิธิ - Forbes Thailand

ปัจจัยขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ (Economic Drivers) โดย ดร.ปิยะพันธ์ ทยานิธิ

FORBES THAILAND / ADMIN
21 Mar 2016 | 12:08 PM
READ 6656
การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศชาติ เพื่อให้ประชาชนอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างมีความสุข อยู่ดีกินดีผาสุกทั่วหน้า องค์ความรู้ว่าเศรษฐกิจเติบโตได้อย่างไร ปัจจัยใดเป็นแรงขับเคลื่อน ทำให้เข้าใจสถานภาพเศรษฐกิจทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพความแข็งแกร่งได้ว่าเป็นอย่างไร เศรษฐศาสตร์มหภาคแบ่งผลผลิตมวลรวมหรือบัญชีทางเศรษฐกิจเป็นสองมิติพื้นฐาน คือ มิติการใช้จ่าย (consumption) ประกอบด้วยการอุปโภคบริโภคกับการลงทุนภายในประเทศ โดยภาคเอกชนกับภาครัฐบาล และการค้าระหว่างประเทศหรือการส่งออกสุทธิของสินค้าและบริการ มิติการผลิต (production) จัดแบ่งอุตสาหกรรมหลักได้หลายวิธี ใช้ลักษณะกิจกรรมเป็นเกณฑ์ เช่น ภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรมการผลิต และภาคบริการ เป็นต้น รวมเป็นอีกชุดแรงขับเคลื่อนที่มองต่างมุมไปจากชุดแรก อย่างไรก็ตาม ระบบเศรษฐกิจนั้นมีหลากหลายมิติ ควรพิจารณามิติอื่นด้วย โดยเฉพาะมิติที่แสดงลักษณะเฉพาะเจาะจงทางรากฐานโครงสร้าง กล่าวคือ มิติการวัดผลผลิต (collection) ใช้ขอบเขตในการประมวลข้อมูลผลผลิตทางเศรษฐกิจเป็นเกณฑ์ แบ่งเป็นกิจกรรมในกรอบและกิจกรรมนอกกรอบ ซึ่งมีต้นทุนต่างกัน โดยผลผลิตถูกวัดรวมและไม่ถูกวัดรวมตามลำดับ ทำให้เกิดปัจจัยความสัมพันธ์ทางตรงกับทางอ้อมขึ้น มิติการจัดชั้นการผลิต (division) ประกอบด้วยกิจกรรมสี่สีตามลำดับขั้นของพัฒนาการทางเศรษฐกิจ ได้แก่ ดำ เทาดำ เทา รวมเรียกว่ากิจกรรมมีสี และขาว ซึ่งเกิดจากความสัมพันธ์สองแกนที่อาจเหลื่อมล้ำกัน คือ หลักนิติธรรม ตามความถูกผิดยุติธรรมทางกฎหมาย และหลักคุณธรรม ตามความดีงามคุณประโยชน์ชอบธรรม และความสมดุลเหมาะสมพอดีทางจริยธรรมและธรรมชาติ เช่น ปลอดภัย อยู่รอด ปกติสมบูรณ์ดี เป็นต้น เศรษฐกิจมีสีเหล่านี้เกิดขึ้นมาท่ามกลางจุดอ่อนจุดด้อยข้อบกพร่องของระบบเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งเปิดโอกาสให้เติบโตอย่างรวดเร็ว แม้เกิดมาง่าย โตง่าย ก็อาจจะตายง่ายด้วย แม้ว่าจุดอ่อนจุดด้อยจะสร้างข้อจำกัดทางศักยภาพขีดความสามารถของระบบ ทั้งในระยะสั้นและยาว แต่โอกาสยังเปิดให้เป็นปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะสั้นได้ เรียกว่า การเติบโตจากข้อบกพร่อง (growth on deficiency) ซึ่งเป็นผลลัพธ์ทั้งจากการกระทำสิ่งที่ไม่ดี และการไม่กระทำสิ่งที่ดี ตัวอย่างมีพอเป็นสังเขปดังนี้ กิจกรรมสีดำ –– ตั้งใจฝ่าฝืนกฎหมาย เช่น แรงงานเถื่อน ค้าของเถื่อน ค้ายาเสพติด ค้าของหนีภาษี ละเมิดลิขสิทธิ์ จี้ปล้น ทุจริต คอร์รัปชั่น ยึดป่าสงวนที่สาธารณะ เป็นต้น กิจกรรมสีเทาดำ –– ฝ่าฝืนกฎหมายเมื่อสบโอกาสหรือช่องทาง เช่น กดขี่ข่มเหง ล่วงละเมิดทางกายใจ ยักยอก ติดสินบน หลบเลี่ยงภาษี บุกรุกป่าสงวนที่สาธารณะ ค้ากำไรเกินควร เล่นพนัน เป็นต้น กิจกรรมสีเทา –– ปล่อยให้กิเลสนำทาง ขาดจิตสำนึกและวินัย ไม่รู้สิ่งที่ถูกที่ควร เช่น ใช้เงินเกินตัว กินอยู่ใช้จ่ายฟุ่มเฟื่อย เอารัดเอาเปรียบ เห็นแก่ตัวเอาแต่ได้ ใช้เส้นสายเล่นพรรคพวก ขับรถไม่มีวินัยไร้น้ำใจทำให้รถติดสิ้นเปลือง ก่อหนี้สาธารณะเพื่อกระตุ้นการอุปโภคบริโภคในยามที่ไม่จำเป็น เป็นต้น การวิเคราะห์ที่รอบคอบจึงต้องพิจารณาเศรษฐกิจรอบด้านในทุกมิติ รวมถึงผลกระทบ และความสัมพันธ์ระหว่างกันให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง โดยเข้าใจข้อจำกัดของระบบข้อมูลเศรษฐกิจซึ่งต่างไปจากธุรกิจ เพราะว่ารากฐานเศรษฐกิจขึ้นอยู่กับขนาดโครงสร้างประชากร กับกิจกรรมพฤติกรรมการดำรงชีวิตของประชากรในสังคม บางกิจกรรมมีสีอาจมีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ก้าวข้ามอุปสรรคเฉพาะหน้า มีอัตราการเติบโตในระยะสั้นที่สูงกว่าและนานกว่าปกติ แต่นั่นเป็นเพียงสภาพชั่วคราว ดร.ปิยะพันธ์ ทยานิธิ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
อ่านบทความเพื่อสร้างประกายความคิดทางธุรกิจได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ FEBRUARY 2016 ในรูปแบบ E-Magazine