ประเทศไทย 4.0 เสริมศักยภาพอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมัน - Forbes Thailand

ประเทศไทย 4.0 เสริมศักยภาพอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมัน

FORBES THAILAND / ADMIN
27 Mar 2017 | 02:44 PM
READ 8538
สภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาในช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันในตลาดโลกเติบโตน้อยกว่าปริมาณการผลิตน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งผู้ผลิตน้ำมันทั้งในและนอกโอเปกยังคงเดินหน้าผลิตน้ำมันดิบในระดับสูงอย่างต่อเนื่องเพื่อรักษาส่วนแบ่งการตลาดของตนเองเอาไว้ ส่งผลให้ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบมากกว่าความต้องการ เกิดภาวะน้ำมันล้นตลาดกดดันราคาให้ต่ำลง จากที่เคยขึ้นสูงสุดถึงกว่า 100 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล ตกลงมาเหลือเพียง 40-50 เหรียญ/บาร์เรล  

ปี 2560 น้ำมันเข้าสู่จุดสมดุล

แนวโน้มสถานการณ์น้ำมันของโลกในปี 2560 นั้น คาดว่าราคาน้ำมันดิบดูไบจะปรับเพิ่มขึ้นอยู่ในระดับ 50-55 เหรียญ/บาร์เรลจากปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ 1. สภาวะเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ส่งผลให้มีการใช้น้ำมันมากขึ้นประมาณ 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน 2. ภาวะอุปทานน้ำมันดิบล้นตลาดมีแนวโน้มคลี่คลายลง หลังการประชุม กลุ่มโอเปก เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2559 สามารถบรรลุข้อตกลงในการปรับลดกำลังการผลิตลงราว 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยมาอยู่ที่ระดับ 32.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งนับเป็นการตกลงกันครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2551 โดยข้อตกลงดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา และจะมีการทบทวนอีกครั้งในการประชุมโอเปกครั้งถัดไปในวันที่ 25 พฤษภาคมปีนี้ การปรับลดกำลังการผลิตนำโดยซาอุดิอาระเบีย อิรัก คูเวต และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ในขณะที่อิหร่าน ลิเบีย และไนจีเรีย ได้รับการยกเว้นการปรับลดกำลังการผลิต เนื่องจากประเทศเหล่านี้ได้รับผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรและความไม่สงบภายในประเทศ อย่างไรก็ตาม ตลาดได้คาดการณ์ว่าผู้ผลิตกลุ่มโอเปกมีแนวโน้มที่จะผลิตเกินโควต้าที่แต่ละประเทศได้รับ นอกจากนี้ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ จะมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น หลังปริมาณแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบสหรัฐฯปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อีกทั้งการประกาศลดกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปกทำให้ราคาน้ำมันดิบฟื้นตัวอาจกระตุ้นให้การผลิตน้ำมันดิบ shale oil โดยเฉพาะแหล่งผลิตต้นทุนต่ำกลับมาเร็วขึ้นกว่าปกติ ส่งผลกระทบกดดันราคาระยะยาว  

อุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันยุคประเทศไทย 4.0

แม้สถานการณ์ราคาน้ำมันในปี 2560 จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ยังคงมีความไม่แน่นอนจากปัจจัยต่างๆ ที่จะส่งผลถึงปริมาณความต้องการใช้น้ำมันอยู่เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการตัดสินใจเชิงนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม นโยบายของประเทศมหาอำนาจ การพัฒนาเทคโนโลยี ตลอดจนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน ซึ่งเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญ ทั้งการซื้อสินค้าผ่านระบบออนไลน์ รถยนต์ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า และอุปกรณ์เก็บพลังงานประจำบ้าน เป็นต้น ประเทศไทยกำลังพัฒนาเข้าสู่ยุค Thailand 4.0 เพื่อให้ประเทศหลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง เพื่อการก้าวสู่สถานะประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการสนับสนุนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ซึ่งจะมีผลต่อความต้องการใช้น้ำมันด้วย จึงต้องมีการติดตามประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่องถึงผลของการพัฒนาว่าจะมีผลมากน้อยเพียงใดต่อความต้องการใช้น้ำมันภายในประเทศ สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันของไทย ปัจจุบันถือว่ามีความพร้อมในการปรับตัวเข้าสู่ Thailand 4.0 เนื่องจากมีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการผลิตก่อนหน้านี้อยู่แล้ว หากอธิบายให้เห็นภาพของพัฒนาการโรงกลั่นในเชิงเปรียบเทียบจากยุค 1.0 ถึง ยุค 4.0 พอสรุปได้ว่า ในช่วงของยุคโรงกลั่น 1.0 เป็นสมัยที่เครื่องจักรยังไม่ซับซ้อน น้ำมันดิบมีส่วนประกอบน้ำมันสำเร็จรูปอย่างไรก็นำมากลั่นแยกส่วนและเอามาใช้ได้เลย เรียกว่าเป็นยุคต้นของอุตสาหกรรมโรงกลั่น ต่อมาในยุคโรงกลั่น 2.0 เริ่มมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในอุตสาหกรรมการกลั่น โดยนำน้ำมันคุณภาพต่ำอย่างน้ำมันเตามาผ่านกระบวนการทำให้แตกตัวไปเป็นน้ำมันเบาที่มีราคาสูงขึ้น ต่อมาในยุคโรงกลั่น 3.0 มีการนำระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้ในอุตสาหกรรมการกลั่นตั้งแต่ขั้นตอนการเลือกซื้อน้ำมันดิบ เพื่อประมวลผลว่าควรจะเลือกซื้อน้ำมันดิบชนิดไหน ปริมาณเท่าไหร่ เมื่อนำมาผ่านกระบวนการกลั่นแล้วเพื่อให้ได้กำไรสูงสุด ตลอดจนมีการนำระบบควบคุมอัตโนมัติ (automation) และระบบควบคุมกระบวนการผลิตขั้นสูง (advanced process control) เข้ามาใช้ในกระบวนการผลิตด้วย เพื่อให้โรงกลั่นสามารถดำเนินการกลั่นด้วยประสิทธิภาพสูงสุด ใช้พลังงานน้อยสุด และได้กำไรดีสุด มาถึงยุคโรงกลั่น 4.0 ที่มีการนำเทคโนโลยีล่าสุดไม่ว่าจะเป็นระบบดิจิทัล อินเทอร์เน็ต การวิเคราะห์คุณสมบัติน้ำมันแบบเรียลไทม์มาช่วยในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของโรงกลั่น ช่วยคาดการณ์ว่าปริมาณน้ำมันดิบเมื่อผ่านหน่วยกลั่นแต่ละหน่วยจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้อย่างไร และช่วยคาดการณ์ปริมาณและคุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่ได้ออกมา เพื่อเปรียบเทียบกับที่ผลิตได้จริงว่าได้ตามที่ควรเป็นหรือไม่ อีกทั้งยังครอบคลุมไปถึงระบบความปลอดภัยและกระบวนการตรวจสอบอุปกรณ์สำคัญต่างๆ ภายในโรงกลั่นให้สามารถที่จะถูกตรวจสอบได้อย่างต่อเนื่อง หากพบสิ่งบกพร่อง ก็จะแจ้งเตือนมายังศูนย์ เพื่อให้สามารถวางแผนแก้ไขได้ทันท่วงทีก่อนเกิดปัญหา จากการที่โรงกลั่นได้มีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาประยุกต์ใช้อย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการที่ประเทศไทยเปิดให้มีการแข่งขันอย่างเสรีในอุตสาหกรรมการกลั่น ที่ทำให้ทุกโรงกลั่นภายในประเทศต้องปรับตัวและเพิ่มประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง และสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลกได้ สามารถสรุปได้ว่าโรงกลั่นในประเทศไทยมีความพร้อมในการนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาประยุกต์ใช้เพื่อเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป   สุกฤตย์ สุรบถโสภณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) และประธานกลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
คลิกอ่านบทความทางด้านธุรกิจ ได้ที่ Forbes Thailand Magazine ฉบับ กุมภาพันธ์ 2560