นูทานิคซ์ คาดการณ์โลกปี 2564 - Forbes Thailand

นูทานิคซ์ คาดการณ์โลกปี 2564

FORBES THAILAND / ADMIN
08 Jan 2021 | 03:23 PM
READ 2073

ปี 2563 เป็นปีแห่งความตื่นตระหนกและเกิดการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว เป็นปีที่พลิกโฉมวิธีการทำงาน และวิธีการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อรองรับความปกติใหม่ (new normal) ที่เกิดขึ้น องค์กรที่ปรับตัวได้เร็วก็สามารถฝ่าวิกฤตและพาตัวเองขึ้นมาอยู่แถวหน้าได้ องค์กรที่ไม่สามารถปรับตัวได้ทัน และสูญเสียความสามารถทางการแข่งขัน ก็ต้องพยายามเร่งกระบวนการปรับตัวและนำระบบดิจิทัลมาใช้เพื่อความอยู่รอดของตน

การเร่งความพร้อมทางดิจิทัลจะยังคงดำเนินต่อไปเพื่อกำหนดรูปแบบทางเทคโนโลยีและธุรกิจในปี 2564 นูทานิคซ์ได้คาดการณ์เทรนด์สำคัญที่จะมีอิทธิพลต่อรูปแบบทางธุรกิจและเทคโนโลยีในอีก 12 เดือนข้างหน้า เพื่อช่วยให้องค์กรต่าง ๆ สามารถเตรียมการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนี้ 1.กลยุทธ์ที่จะใช้ต้องมีความยืดหยุ่น และสร้างความคล่องตัว เนื่องจากองค์กรทั้งภาครัฐ และเอกชนต่างต้องมีการทบทวนปรับปรุงกลยุทธ์บ่อยขึ้นตามความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้เสมอ อีกทั้งยังต้องรับมือกับการกลับมาเติบโตที่ถูกคาดการณ์ไว้ การที่ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคและทั่วโลกเริ่มมองสิ่งต่างๆ ไปไกลกว่าเรื่องการแพร่ระบาดของโควิด-19 เราเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัว การกลับเข้าทำงานในสถานที่ทำงานอย่างช้าๆ แต่จะเป็นการฟื้นตัวแบบไม่คงเส้นคงวา ประเทศและเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก-ญี่ปุ่น และที่ห่างไกลออกไปมีความเชื่อมโยงถึงกันอย่างเหนียวแน่น แม้ว่าการฟื้นตัวของประเทศหนึ่งอาจเป็นไปด้วยดี แต่ทั่วโลกจะยังคงมีความไม่แน่นอนอยู่จนกว่าผู้ที่มีบทบาทสำคัญในระดับนานาชาติจะกลับมายืนได้อย่างมั่นคงอีกครั้ง ความท้าทายที่กล่าวข้างต้นจะทำให้การเติบโตที่จะกลับมาเป็นแบบกระจัดกระจาย และเพื่อรับมือกับเรื่องนี้ องค์กรจะต้องมีความคล่องตัวที่ช่วยให้สามารถปรับกลยุทธ์ และการใช้จ่ายต่าง ๆ ขององค์กรได้ถี่ขึ้น (เช่นเป็นรายไตรมาส) เพื่อให้แน่ใจว่าสามารถตอบสนองต่อสถานการณ์ในระดับมหภาคได้  ความต้องการในการใช้ไอทีแบบเดิมที่ใช้เงินลงทุนมากจะแทนที่ด้วยความคล่องตัวของระบบการผลิตและส่งสินค้าหรือบริการสู่ท้องตลาดได้ทันเวลาและในจำนวนที่ต้องการพอดี (just-in-time: JIT) วิธีการของเทคโนโลยีแบบดั้งเดิมไม่สามารถทำให้เกิดความคล่องตัวในลักษณะนี้ได้ องค์กรขนาดใหญ่และภาครัฐจึงใช้รูปแบบซับสคริปชั่น (subscription models) มากกว่าที่จะทำสัญญาระยะยาวผูกมัดกับผู้ขายเทคโนโลยี ทั้งนี้เพื่อให้มั่นใจว่าจะสามารถปรับเปลี่ยน และสร้างสิ่งใหม่ๆ ได้แม้เมื่อต้องเผชิญกับความไม่แน่นอน รูปแบบการซื้อตามการใช้งาน (pay-as-you-grow) ซึ่งส่งเสริมกลยุทธ์ "fail fast" (ล้มเร็ว ลุกไว) จะสร้างความสมดุลให้กับการสร้างนวัตกรรมที่จำเป็นกับความจำเป็นในการลดปัจจัยเสี่ยง 2.การนำพาองค์กรสู่ดิจิทัลไม่ใช่บทบาทหน้าที่ของกรรมการผู้จัดการฝ่ายสารสนเทศ (CIO) เพียงผู้เดียว แต่เป็นสิ่งสำคัญสูงสุดของผู้บริหารทุกฝ่ายไม่ว่าประเทศหรือองค์กรใดจะเคยล้าหลังแค่ไหนก่อนเกิดโควิด-19 ก็ตาม ประเทศและองค์กรเหล่านั้นจำเป็นต้องผลักดันการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้เพื่อสนับสนุนการดำเนินธุรกิจของตนเอง ในอีก 12 เดือนข้างหน้าเหมือนกัน องค์กรทุกแห่งจะทบทวนรูปแบบการทำงานใหม่ ไม่ว่าเมื่อก่อนเราเคยทำสิ่งต่างๆ มาอย่างไร แต่สภาพแวดล้อมของเราและความคาดหวังของผู้คนได้เปลี่ยนไปแล้ว และเพื่อให้รับมือกับความเปลี่ยนแปลงนี้ แม้แต่องค์กรที่มีความอ่อนไหวง่ายที่สุดก็จำเป็นต้องมีความคล่องตัว ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นแล้วในประเทศญี่ปุ่นที่ได้ก้าวไกลไปถึงระดับที่มีคำสั่งให้เพิ่มการทำ digitization ในหน่วยงานสำคัญของภาครัฐทุกแห่ง เพื่อให้ข้อมูลทุกอย่างอยู่ในรูปแบบดิจิทัล ในประเทศไทย พระราชบัญญัติการบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. 2562 ได้กำหนดให้หน่วยงานของรัฐต้องเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน โดยมีศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลกลางภาครัฐ หรือ Government Data Exchange (GDX) ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนข้อมูลดิจิทัลระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นของการทำ digitization เช่น เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา กรมสรรพากรได้ประกาศยกเลิกการใช้สำเนาหนังสือรับรองนิติบุคคลในรูปแบบกระดาษ เปลี่ยนมาใช้ข้อมูลผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต และเมื่อเร็วๆ นี้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แถลงความร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมมือกันผลักดันการพัฒนาระบบการตรวจสอบการใช้เงินแผ่นดิน รวมถึงการนำส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบจากกระดาษสู่ดิจิทัลภายใต้ธีม ปี 64 ถึงทีบอกลา “กระดาษ” เป็นต้น ก่อนหน้านี้การทำ digitization เป็นงานสำคัญอันดับต้นของ CIO แต่ไม่ได้รับความสนใจในระดับเดียวกันจาก CEO หรือผู้บริหารฝ่ายอื่น ๆ  การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และในที่สุดแล้ว พลังของดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นก็ได้รับการยอมรับจากทุกภาคส่วนของธุรกิจ และจะยังคงเป็นหนึ่งในความสำคัญสูงสุดตลอดปี 2564 ซึ่งความสามารถทางดิจิทัลในระดับที่เหมาะสมจะยังคงความสำคัญต่อความคล่องตัวและความอยู่รอดของธุรกิจ ดังนั้น CIO จะมีบทบาทโดดเด่นมากขึ้นในการตัดสินใจและความเป็นผู้นำทางธุรกิจ เนื่องจากการลงทุนด้านเทคโนโลยีของ CIO ได้รับการพิสูจน์อย่างชัดแจ้งแล้วว่ามีคุณค่ามาก  การปรับเปลี่ยนระบบไอทีจากการเป็นจุดรวมของค่าใช้จ่ายให้กลายเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนธุรกิจจะเกิดเร็วขึ้น  องค์กรธุรกิจทุกแห่งในปัจจุบันเป็นธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีเป็นเรื่องปกติไปแล้ว โดยที่องค์กรอาจจะยังไม่รู้ตัว 3.ประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะถูกหยิบยกมาถกกันอีกครั้ง และนวัตกรรมทางเทคโนโลยีจะมีบทบาทสำคัญในการหาแนวทางแก้ไขเรื่องนี้ หากไม่มีโควิด-19 เกิดขึ้น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะเป็นประเด็นร้อนของโลกในปี 2563 ที่ผ่านมา  และหลังจากที่ได้รับการผลักดันให้เป็นวาระระดับโลกในปี 2563 แล้ว การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะกลับมาเป็นประเด็นสำคัญอีกครั้งในปี 2564 นอกจากเรื่องการเมือง เป็นที่ชัดเจนว่าผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นประเด็นสำคัญอย่างแท้จริงและเราจำเป็นต้องหาทางออก โดยเฉพาะผลกระทบที่มีต่ออุตสาหกรรมต่างๆ เช่น แหล่งทรัพยากร การขนส่ง และการเกษตร  ในขณะที่บริษัทต่างๆ ยังคงจัดทำและเร่งเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัล บริษัทเหล่านี้จำเป็นต้องทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นที่ต้องคำนึงถึงมุมมองด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนี้ด้วย ตัวอย่าง ธุรกิจที่มีการกระจายตัวไปในพื้นที่ต่างๆ จะต้องการความยืดหยุ่นในการทำงานเพิ่มขึ้น เหตุการณ์สำคัญๆ ที่เกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้น จะกระทบต่อระบบซัพพลายเชน และโรงงานที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เสี่ยงเทคโนโลยีสามารถช่วยให้เกิดแนวทางปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพเมื่อต้องเผชิญกับความกังวลที่กล่าวมา โซลูชั่นใหม่ๆ เช่น เอดจ์คอมพิวติ้ง และ IOT จะมีบทบาทสำคัญในส่วนนี้ เช่น การนำเทคโนโลยีเหล่านี้ไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมการผลิต การเกษตร การติดตามการปฏิบัติงานที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืนในสถานการณ์จริง การปรับแต่งให้เหมาะสมเพื่อเพิ่มผลผลิต ลดการปล่อยมลพิษ การบริหารจัดการสายการผลิตได้ดีขึ้น เป็นต้น การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อเร็วๆ นี้ จะเป็นการนำอเมริกากลับเข้ามาเป็นพันธมิตรและเป็นแรงผลักดันสำคัญในการจัดการกับสภาพภูมิอากาศที่มาพร้อมเสียงตอบรับจากทั่วโลก 4.เมื่อความตระหนักในประโยชน์ของคลาวด์และการนำไปใช้ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง CIO จะยืนหยัดใช้กลยุทธไฮบริดและมัลติ-คลาวด์ บริษัทหลายแห่งในเอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่นที่ต้องการมุ่งสู่คลาวด์เป็นรายแรกๆ กำลังจับคู่ทำงานร่วมกับบริษัทในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งตระหนักมาหลายปีแล้วว่าแอปพลิเคชั่นหลายๆ ตัวที่มีความสำคัญมากต่อการดำเนินธุรกิจไม่เหมาะที่จะทำงานอยู่บนพับลิคคลาวด์ บริษัทต่างๆ ต้องการความสามารถเสมือนคลาวด์ (cloud-like) แต่จำเป็นต้องมีทางเลือกและความยืดหยุ่น ไม่มีบริษัทใดต้องการจะล็อกตัวเองไว้กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ดังนั้น CIO ทั้งหลายจะเริ่มยืนยันให้ใช้กลยุทธ์ไฮบริดและมัลติ-คลาวด์ หรืออย่างน้อยที่สุดก็ยืนกรานให้มีการรับประกันว่าจะสามารถเคลื่อนย้ายแอปพลิเคชั่นได้ เราได้เห็นองค์กรจำนวนมากทั่วโลกเริ่มปรับแอปพลิเคชั่นของตนให้ทันสมัยและเปลี่ยนไปใช้กลยุทธ์ "cloud first" และมักจะเจอทางตันเมื่อพวกเขาพบว่าแอปพลิเคชั่นหลัก ไม่สามารถโยกย้ายหรือปรับเปลี่ยนเป็นโมเดลที่ใช้กับคลาวด์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างภาระค่าใช้จ่ายให้กับองค์กรในภายหลัง  กลยุทธ์ไฮบริดและมัลติ-คลาวด์เป็นสิ่งจำเป็นที่จะใช้เพื่อสร้างสมดุลให้กับความคล่องตัวของคลาวด์ และการประหยัดค่าใช้จ่ายที่มาพร้อมกับสภาพที่เป็นจริงของการดำเนินงานอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับผลสำรวจ Nutanix Enterprise Cloud Index 2020, ผลสำรวจในส่วนของประเทศไทยที่ระบุว่าร้อยละ 76 ของผู้ตอบแบบสำรวจไทยเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งว่าการใช้ไฮบริดคลาวด์ ซึ่งคือการผสมผสานกันของการใช้พับลิคและไพรเวทคลาวด์/ดาต้าเซ็นเตอร์เป็นรูปแบบการใช้งานที่เหมาะสม และ ร้อยละ 67 ของผู้ตอบแบบสอบถามคาดการณ์ว่าในอีกห้าปีนับจากนี้จะใช้ไฮบริดคลาวด์เท่านั้น ผู้ตอบแบบสอบถาม ร้อยละ 82 ระบุว่าโควิด-19 ทำให้มีการใช้ไอทีในเชิงกลยุทธ์มากขึ้น โดยร้อยละ 68 เพิ่มการลงทุนในพับลิคคลาวด์ (เทียบกับผลสำรวจทั่วโลกที่ร้อยละ 47) และ ร้อยละ 56 เพิ่มการลงทุนในไพรเวทคลาวด์ (เทียบกับผลสำรวจทั่วโลกที่ร้อยละ 37) ทั้งนี้ข้อมูลจาก The Cloud Readiness Index (CRI) 2020 โดย Asia Cloud Computing Association (ACCA) ระบุความพร้อมการใช้คลาวด์ของประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 9 นอกจากนี้กลยุทธ์ไฮบริดและมัลติ-คลาวด์ยังช่วยให้ธุรกิจมีความคล่องตัว สามารถปรับแนวทางการทำงานได้แบบฉับไว ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในการมองล่วงหน้าไปในอนาคต  องค์กรต่างๆ จะเรียนรู้ในการใช้มุมมองระยะยาวและหลีกเลี่ยงที่จะถูกล็อกอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่อาจใช้ไม่ได้ผลในอีก 3-6 เดือนต่อไป หากอยู่ๆ โลกก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างกระทันหันจากสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดมาก่อน หากมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เกิดขึ้นในปี 2563 ที่องค์กรควรจะนำไปปรับใช้กับกลยุทธ์ปี 2564 สิ่งนั้นคือ: การเปลี่ยนแปลงทั้งมหภาคและจุลภาคเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และทวีความซับซ้อนยุ่งเหยิงมากขึ้น ความยืดหยุ่นและความสามารถในการปรับตัวต้องเป็นแกนหลักของแนวคิดทางธุรกิจ บทความโดย ทวิพงศ์ อโนทัยสินทวี ผู้จัดการประจำประเทศไทย นูทานิคซ์

ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine