“ธุรกิจโลจิสติกส์” ขุมทรัพย์ความยั่งยืนเศรษฐกิจไทย - Forbes Thailand

“ธุรกิจโลจิสติกส์” ขุมทรัพย์ความยั่งยืนเศรษฐกิจไทย

FORBES THAILAND / ADMIN
07 Dec 2020 | 09:29 AM
READ 3370

ภาพรวมอุตสาหกรรมการให้บริการโลจิสติกส์ในประเทศไทยปัจจุบันต้องยอมรับว่า "ธุรกิจโลจิสติกส์" ยังเป็นกลุ่มธุรกิจที่ถูกมองข้าม และภาครัฐไม่ได้ให้ความสำคัญพอสมควร

ท่ามกลางกระแส disruption and digital economy ไทยยังคงเน้นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพียงเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงธุรกิจโลจิสติกส์ นับเป็นอุตสาหกรรมภาคบริการที่มีบทบาทสำคัญยิ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของทุกประเทศ หากภาครัฐไทยให้การสนับสนุนอย่างจริงจังคาดว่าจะสามารถนำรายได้เข้ามาในประเทศได้อย่างมหาศาล โดยภาครัฐยังไม่ได้เห็นถึงโอกาสที่จะใช้ธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์สร้างรายได้ให้กับประเทศได้เหมือนกับธุรกิจบริการอื่นๆ และยังไม่ได้เห็นว่าประเทศไทยมีศักยภาพและขีดความสามารถทางการแข่งขันพอที่จะไปดึงสินค้าที่เป็นสินค้าข้ามแดนและผ่านแดนจากประเทศเพื่อนบ้านมายังประเทศไทย โดยเฉพาะจากประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในหลายประเทศที่มีแผนแม่บทที่ชัดเจนในการผลักดันให้ประเทศตนเองเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ของภูมิภาคหรือของโลก (regional or global logistics hub) ดังนั้น ถือเป็นความท้าทายสำหรับผู้ประกอบการที่พยายามผลักดันทำให้ภาครัฐเห็นความสำคัญ และเชื่อว่าธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ เป็นธุรกิจที่ประเทศไทยมีความได้เปรียบ มีศักยภาพในการแข่งขันที่จะสามารถกำหนดให้เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมาย อุตสาหกรรมอนาคตของประเทศ รวมทั้งเป็นอุตสาหกรรมที่สามารถสร้างรายได้และการเติบโตของ GDP ของประเทศเหมือนกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และทำให้ธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์เป็นอุตสาหกรรมที่ช่วยสร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทย โดยใช้ความได้เปรียบทางด้านภูมิศาสตร์ด้านที่ตั้งของประเทศไทย และการเป็นศูนย์กลางของการคมนาคมทางอากาศและทางบกที่สำคัญของภูมิภาค เป็นปัจจัยหลักในการสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน ทั้งนี้นอกจากธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์จะสามารถสร้างรายได้ให้กับการค้าและบริการโดยรวมของประเทศแล้ว ธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ยังเป็นอุตสาหกรรมที่ทำให้เกิดธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอีกหลายอย่างตามมา เช่น ธุรกิจท่าอากาศยาน ท่าเรือ คลังสินค้า การซ่อมบำรุงอากาศยานและเรือสินค้า การตรวจสอบ/การขนถ่าย/การจัดเก็บและการกระจายสินค้า การขนส่งภายในประเทศ การดำเนินพิธีกรมศุลกากร การให้บริการเพิ่มมูลค่าอื่นๆ (value-added services) รวมถึงการประกันภัย ซึ่งจะก่อให้เกิดการลงทุน การจ้างงาน และการกระจายรายได้สู่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวเนื่องในระบบห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ซึ่งภาคธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์จะสามารถสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศปีละหลายแสนล้านบาท และก่อให้เกิดการจ้างงานในระบบเศรษฐกิจหลายแสนคน สิ่งที่ภาคอุตสาหกรรมผู้ให้บริการโลจิสติกส์ (Logistics Services Provider-LSP) คาดหวังจากทางภาครัฐก็คือ รัฐควรให้ความสำคัญกับธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์ และผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติ ในการกำหนดแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ให้เหมือนกับแผนยุทธศาสตร์ในการพัฒนาธุรกิจท่องเที่ยวไทย โดยมีตัวกำหนดการชี้วัดในการสร้างรายได้และการเติบโตของ GDP อย่างชัดเจน ทำให้ไทยขึ้นเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ (logistics hub) ใช้ธุรกิจโลจิสติกส์ในการสร้างรายได้เข้าประเทศเหมือนกับประเทศอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, สิงคโปร์, มาเลเซีย ซึ่งคาดว่าจะทำให้ประเทศไทยมีรายได้เข้ามาในประเทศสูงมากกว่าปีละ 3 แสนล้านบาท รวมถึงสร้างความยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจไทยอย่างแน่นอน   ธุรกิจโลจิสติกส์ บทความโดย เกตติวิทย์ สิทธิสุนทรวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ลีโอ โกลบอล โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ LEO

ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine