สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้คนในสังคมปรับรูปแบบการใช้ชีวิตแบบมีระยะห่าง ใส่ใจด้านสุขอนามัย และมีการวางแผนการใช้ชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัวมากขึ้น รวมถึงสภาพเศรษฐกิจ เทคโนโลยี และสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้หลายธุรกิจต้องปรับตัวให้ทันและตอบสนองความต้องการ ไลฟ์สไตล์ หรือพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป
ธุรกิจรับสร้างบ้าน วิเคราะห์และคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้และพบว่า มี 5 ปัจจัยที่นำไปสู่การอยู่อาศัยยุค next normal เริ่มจาก 1.การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (aging society) ในปี 2563 ประชากรผู้สูงอายุของไทยมีมากถึง 12 ล้านคน คิดเป็น 18% ของประชากรทั้งหมด จากจำนวนผู้สูงอายุของไทยที่เพิ่มขึ้นนี้ ส่งผลให้ความต้องการสร้างบ้านจำเป็นต้องออกแบบให้รองรับการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ ทั้งเรื่องการจัดวางห้องนอนที่ชั้นล่าง ทำทางลาดสำหรับการเคลื่อนย้าย ออกแบบห้องน้ำให้ใช้งานสะดวกสามารถช่วยเหลือตนเอง ใช้วัสดุปูพื้นที่มีความนุ่มเพื่อรองรับการกระแทกเมื่อเกิดหกล้ม 2.การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรงส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การออกแบบบ้านจึงต้องคำนึงถึงการลดการใช้พลังงาน เปิดแสงสว่างอย่างเพียงพอระบายอากาศดี ป้องกันความร้อนเข้าสู่ตัวบ้าน เลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการใช้พลังงานทดแทน 3.ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การพัฒนาเทคโนโลยีได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้คนในสังคมมากขึ้น เพราะนอกจากความแปลกใหม่และทันสมัย ยังสามารถเพิ่มความสะดวกสบายให้กับผู้ใช้งานได้ด้วย เช่น เทคโนโลยี Internet of Things (IoT) ระบบ Smart Home ที่สั่งงานง่ายเพียงปลายนิ้วสัมผัส 4.การใส่ใจในสุขภาพและสุขอนามัย (health and hygiene) จากนี้ไปผู้คนจะสนใจในเรื่องการดูแลสุขภาพและสุขอนามัยในเชิงป้องกันมากขึ้น ทั้งจากภาวะฝุ่นขนาดเล็ก PM 2.5 และการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้การก่อสร้างบ้านพักอาศัยมีการนำระบบต่างๆ เช่น ป้องกันฝุ่นเข้ามาในตัวบ้าน การทำระบบหมุนเวียนอากาศที่บริสุทธิ์ การใช้วัสดุให้สามารถป้องกันและสามารถฆ่าเชื้อโรค 5.การทำงานแบบไฮบริด (hybrid working) วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของผู้คนในหลายด้าน ทั้งคนทำงานที่ไม่สามารถเดินทางไปทำงานได้ตามปกติ การทำงานที่บ้านจึงเป็นความสะดวกอย่างหนึ่งที่ไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง สามารถบริหารจัดการเวลาเพื่อทุ่มเทกับงานและมีเวลาอยู่กับครอบครัวมากขึ้น เทรนด์การก่อสร้างบ้านยุคใหม่จึงต้องเป็นแบบ multi-functional spec คือมีความยืดหยุ่นเป็นทั้งออฟฟิศ ห้องเรียนออนไลน์ และพื้นที่พักผ่อนของทุกคนในบ้าน จากทั้ง 5 ปัจจัยที่ส่งผลให้การใช้ชีวิตเปลี่ยนแปลงไป ทางสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้านได้ปรับการทำงานเพื่อให้สอดรับกับวิถีชีวิตใหม่ใน 2 แนวทาง คือ เตรียมโครงการคู่มือมาตรฐานการก่อสร้างบ้าน ความร่วมมือระหว่างสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน และคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อทำมาตรฐานของงานก่อสร้างบ้านสำหรับให้สมาชิกของสมาคมฯ ใช้ เพื่อเป็นการยกระดับและสร้างมาตรฐานงานก่อสร้างที่ตรงกัน ทั้งผู้บริโภคและบริษัทรับสร้างบ้าน และเตรียมโครงการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนในภาคที่อยู่อาศัย ระหว่างสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ธนาคารพาณิชย์ และบริษัทผู้ผลิตวัสดุก่อสร้างรายใหญ่ เพื่อส่งเสริมการออกแบบการก่อสร้างและการจำหน่ายบ้านประหยัดพลังงานในประเทศไทย โดยคำนึงถึงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกนำไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงชีวิตวิถีใหม่ (next normal) ภาคธุรกิจผู้ให้บริการต้องปรับตัวและก้าวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง ยกระดับมาตรฐานสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคได้อย่างเท่าทัน บทความโดย วรวุฒิ กาญจนกูล นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้านคลิกอ่านฉบับเต็ม และบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนพฤษภาคม 2565 ในรูปแบบ e-magazine