ในการวางแผนกลยุทธ์ทางธุรกิจในแต่ละปี ไม่ว่าจะเป็นของกิจการใดก็ตาม ก็จะเริ่มจากการทบทวนการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ ซึ่งสำหรับอุตสาหกรรมธนาคารพาณิชย์ไทยนั้นหนึ่งในหัวข้อที่มีน้ำหนักในระยะ 2-3 ปีให้หลังนี้ คงหนีไม่พ้นเรื่องของ “เทคโนโลยี” ที่มีการพัฒนาทั้งในเชิงลึกและเชิงกว้าง อันมีผลลดทอนบทบาทของตัวกลางลง ซึ่งสำหรับทุกระบบเศรษฐกิจ ธนาคารพาณิชย์ ที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางทางการเงินนั้น ต้องเผชิญความท้าทายจากพัฒนาการของเทคโนโลยีด้านการเงินอย่างยากจะหลีกเลี่ยง
นอกจากธนาคารพาณิชย์ต้องก้าวเข้าสู่เกมการแข่งขันโดยที่ยังมีโครงสร้างธุรกิจขนาดใหญ่ในรูปแบบเดิมแล้ว เทคโนโลยียังปฏิวัติกิจกรรมทุกอย่างให้ใช้เวลาลดลงและสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ “ทันที” ซึ่งในด้านหนึ่ง ช่วยให้ผู้บริโภคมีประสบการณ์ด้านการเงินและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่ในอีกด้านหนึ่ง ก็ทำให้ผู้บริโภคยกระดับความต้องการไปสู่ขั้นถัดไปรวดเร็วขึ้น อาทิ การคาดหวังให้แอพพลิเคชั่นต่างๆ บนปัจจัยที่ 5 อย่างเช่นโทรศัพท์มือถือช่วยตัดสินใจในกิจกรรมการใช้จ่าย การออม และการลงทุนในชีวิตประจำวันได้ถูกต้อง แม่นยำ และดีเพียงพอที่จะนำพาเขาเหล่านั้นไปสู่เป้าหมายที่วาดฝันไว้ แล้วธนาคารพาณิชย์ไทยมีแนวทางบริหารจัดการอย่างไร? ด้วยตระหนักว่าการตอบโจทย์ดังกล่าวได้นั้นจะต้องมาจากการสร้าง “มูลค่าเพิ่ม” ให้กับผลิตภัณฑ์และบริการซึ่งคงต้องอาศัยการวิเคระห์ข้อมูลลูกค้าในมิติต่างๆ ที่จะต้องมีทั้งความลึกและความเร็ว อันจะนำไปสู่ความคล่องตัวในการริเริ่มบริการใหม่และ/หรือปรับปรุงบริการที่มีอยู่แล้วได้อย่างทันท่วงทีบนความสามารถที่จะรองรับการใช้งานสำหรับลูกค้าในปริมาณมากๆ ไปพร้อมกันทั้งนี้ท่ามกลางรายได้จากธุรกิจเดิมที่เผชิญข้อจัดกัดการเติบโต แหล่งรายได้ใหม่ของธนาคารพาณิชย์ในทศวรรษหน้า จึงมีแนวโน้มว่าจะอิงกับมูลค่าเพิ่มที่ส่งมอบให้กับลูกค้าได้มากขึ้นเรื่อยๆ นอกเหนือไปจากโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ที่แตกแขนงมาจากการต่อยอดโดยตรงจากเทคโนโลยี หรือความได้เปรียบของทรัพยากรที่มีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นฐานลูกค้าและข้อมูลทางการเงินของลูกค้าขนาดใหญ่สอดรับกับตัวอย่างข้างต้น ที่ไล่เรียงจากการสร้างและเพิ่มขีดความสามารถด้านเทคโนโลยี เช่น เทคโนโลยี distributed ledger ซึ่งรวมถึงบล็อคเชน เพื่อประยุกต์ใช้ในธุรกรรมโอนเงินระหว่างประเทศที่ผู้รับเงินจะได้รับเงินทันที และการเก็บรักษาข้อมูลและเรียกใช้เอกสารในกระบวนการออกหนังสือค้ำประกัน (letter of guarantee) เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI/Machine Learning) ที่ทำการวิเคราะห์ข้อมูลประจำวันของลูกค้าจนนำไปสู่การเพิ่มมูลค่าด้วยการให้คำแนะนำทางการเงินที่แม่นยำและเหมาะสมกับลูกค้ารายบุคคลในลักษณะ 24/7 เทคโนโลยี Biometrics เพื่อการยืนยันตัวตนจากม่านตา ลายนิ้วมือ หรือเสียง อันจะช่วยเพิ่มทั้งความสะดวกและความปลอดภัย เป็นต้น ซึ่งการพัฒนาความสามารถด้านเทคโนโลยีต่างๆ มีทั้งจากการลงทุนด้วยตนเอง การจับมือกับกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านฟินเทคในระดับโลก ตลอดจนการเป็นพันธมิตร การร่วมลงทุนและการสนับสนุนฟินเทคสตาร์ทอัพเพื่อร่วมเรียนรู้และคิดค้นนวัตกรรมใหม่นี้ไปด้วยกัน โดยมีธนาคารแห่งประเทศไทยร่วมอยู่ในกระบวนการพัฒนาของหลายนวัตกรรมผ่าน Regulatory Sandbox ด้วย นอกจากนี้ ธนาคารพาณิชย์ไทยยังจับมือกับกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยในการขับเคลื่อนโครงการ National e-Payment ตลอดจนการติดตั้งเครื่องรับบัตร หรือ EDC เพิ่มเติมให้กับร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการอีกนับแสนเครื่องเพื่อรองรับการใช้จ่ายผ่านบัตรเดบิตและโครงการสวัสดิการต่างๆ ของภาครัฐ ขณะเดียวกัน ยังร่วมกับทางการและผู้ให้บริการทางการเงินอื่นๆ ในการพัฒนา QR Code มาตรฐานซึ่งล้วนแล้วแต่จะช่วยยกระดับบริการด้านธุรกรรมการเงินของผู้บริโภคและภาคธุรกิจให้ตอบโจทย์ด้านความสะดวก คล่องตัว ปลอดภัย มีต้นทุนต่ำลงตลอดจนสามารถต่อยอดไปสู่บริการด้านอื่นๆ โดยเฉพาะด้านการออม-ลงทุน ตลอดจนด้านสินเชื่อในเงื่อนไขที่ดีขึ้นได้ในอนาคต อย่างไรก็ตาม เมื่อพัฒนาการเดินมาถึงจุดหนึ่ง ธนาคารพาณิชย์ไทยคงต้องตอบคำถามว่า เราพร้อมและต้องการจะทำธุรกิจนอกเส้นที่ตีกรอบความเป็น “ตัวกลางทางการเงิน” หรือไม่และเพียงใด? เพราะเทคโนโลยีทำให้เส้นแบ่งระหว่างประเภทธุรกิจจางลง ที่ผ่านมา เราจึงเห็นผู้เล่นจำนวนมากที่เติบโตจากธุรกิจประเภทอื่นก้าวเข้ามาทำธุรกิจการเงินเพิ่มขึ้น ทำให้ “Banking is not only for banks.” หรือ “บริการด้านการเงินไม่จำเป็นต้องมาจากเฉพาะธนาคารพาณิชย์” ...แล้วทำไม ธนาคารพาณิชย์ถึงจะเปลี่ยนภาพให้เป็น “Banks are not only for banking.” หรือ “ธนาคารพาณิชย์ไม่จำเป็นต้องให้บริการเฉพาะบริการด้านการเงิน” ไม่ได้ ถ้าสามารถใช้ความพร้อมของทรัพยากรในการตีโจทย์ธุรกิจรูปแบบใหม่ จนทำให้ลูกค้าเชื่อมั่นว่า บริการในทศวรรษหน้าจะสามารถช่วยให้เขาเหล่านั้นบรรลุ “เป้าหมายสูงสุดของชีวิต” ที่ต้องการในระดับปัจเจกบุคคลได้อย่างแท้จริง ปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทยติดตามบทความทางธุรกิจอื่นๆ ได้จาก Forbes Thailand ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2560 ในรูปแบบ e-Magazine