ทิศทางอุตสาหกรรมปิโตรเคมีไทย - Forbes Thailand

ทิศทางอุตสาหกรรมปิโตรเคมีไทย

FORBES THAILAND / ADMIN
08 Nov 2016 | 12:18 PM
READ 7385
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี (TMB Analytics) คาดว่า ปี 2560 ปริมาณการผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 3 ตามความต้องการบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ยังคงเติบโตต่อเนื่อง รวมถึงอุตสาหกรรมยานยนต์ที่เริ่มฟื้นตัว โดยปริมาณการส่งออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีมีแนวโน้มทรงตัวจากปีก่อนหน้า หนุนด้วยตลาดส่งออก CLMV ที่เติบโตต่อเนื่อง ในขณะที่ตลาดส่งออกสำคัญอย่างจีนคาดว่าลดลงเล็กน้อยตามภาวะเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมปิโตรเคมีไทยมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จากการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้าจนเป็นการผลิตเพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมต่อเนื่องในประเทศและส่งออก ปัจจุบันมีกำลังการผลิตสูงสุดอยู่ที่ 26.2 ล้านตันต่อปี แบ่งออกเป็นผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นต้น 11.9 ล้านตันต่อปี ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นกลาง 6.8 ล้านตันต่อปี และผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นปลาย 7.5 ล้านตันต่อปี โดยกว่าร้อยละ 67 เป็นผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีสายโอเลฟินส์ (วัตถุดิบตั้งต้นส่วนใหญ่มาจากการแยกก๊าซธรรมชาติ) ที่เหลืออีกร้อยละ 33 เป็นสายอะโรเมติกส์ (วัตถุดิบตั้งต้นส่วนใหญ่มาจากการกลั่นน้ำมันดิบ) การที่กำลังการผลิตสายโอเลฟินส์มากกว่า เนื่องจากไทยมีการขยายกำลังการผลิตสายโอเลฟินส์อย่างต่อเนื่อง เพราะมีแหล่งวัตถุดิบก๊าซธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ทั้งนี้การเติบโตของอุตสาหกรรปิโตรเคมีขึ้นอยู่กับการเติบโตของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง 4 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติก (Plastic) กลุ่มเส้นใยสังเคราะห์ (Synthetic Fibre) กลุ่มยางสังเคราะห์ (Synthetic Rubber, Elastomer) และกลุ่มสารเคมีเคลือบผิวและผลิตภัณฑ์กาว (Synthetic Coating & Adhesive Material) ในกรณีของไทยการผลิตปิโตรเคมีส่วนใหญ่จะเน้นตอบสนองอุตสาหกรรมต่อเนื่องกลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติกเป็นหลัก ซึ่งเป็นซัพพลายเชนต่อเนื่องจากปิโตรเคมีขั้นปลายที่ได้ผลิตภัณฑ์เป็นเม็ดพลาสติก โดยพบว่าสัดส่วนการใช้เม็ดพลาสติกร้อยละ 45 จะถูกใช้ผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดต่างๆ อาทิ ถุงพลาสติก แผ่นฟิล์ม ขวดพลาสติก ฯลฯ และอีกประมาณร้อยละ 15 ถูกใช้ผลิตพลาสติกในงานก่อสร้าง อาทิ เฟอร์นิเจอร์พลาสติก ท่อน้ำ แผ่นหลังคา ประตูและหน้าต่างพลาสติก ฯลฯ จะเห็นว่ากว่าร้อยละ 60 ของความต้องการเม็ดพลาสติกทั้งหมดจะเติบโตตามภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศเป็นหลัก ในขณะที่ประมาณกว่าร้อยละ 30 ของการต้องการใช้เม็ดพลาสติกจะเติบตามอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ ซึ่งเป็นเม็ดพลาสติกที่มีคุณสมบัติพิเศษที่ใช้เป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์ยานยนต์ ในปี 2559 ประมาณการปริมาณการผลิตปิโตรเคมีขั้นต้น ขั้นกลางและปลายอยู่ที่ 20.9 ล้านตัน ใกล้เคียงกับปีก่อนหน้า ตามความต้องการใช้ในการผลิตเม็ดพลาสติกในสายผลิตภัณฑ์เอทิลีน (Ethylene) ซึ่งนำไปใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกทั่วไป อาทิเช่น บรรจุภัณฑ์พลาสติก แผ่นฟิล์ม ถังพลาสติก ท่อน้ำพลาสติก ประตูและหน้าต่างพลาสติก เฟอร์นิเจอร์พลาสติก ฯลฯ ที่ยังเติบโตตามการบริโภคภายในประเทศ ในขณะที่เม็ดพลาสติกในสายผลิตภัณฑ์โพรพีลีน (Propylene) พบว่าหดตัวเนื่องจากความต้องการไปผลิตเม็ดพลาสติกที่ใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ชะลอตัวลงตามการบริโภคสินค้าคงทนในประเทศและการส่งออกที่ชะลอตัวลง ทั้งนี้ ในปี 2558 การผลิตปิโตรเคมีขั้นต้นและกลางของไทยประมาณร้อยละ 85 ของการผลิตทั้งหมดเป็นไปเพื่อการบริโภคในประเทศเป็นหลัก ที่เหลือร้อยละ 15 จะเป็นไปเพื่อการส่งออก ส่วนขั้นปลายหรือเม็ดพลาสติก ร้อยละ 75 ของการผลิตใช้บริโภคในประเทศที่เหลือร้อยละ 25 เป็นการส่งออก  โดยในภาวะที่อุปสงค์ในประเทศซบเซา ผู้ผลิตจะทำการปรับไปเน้นตลาดส่งออกทดแทน เพื่อรักษาอัตรากำลังการผลิตขั้นต่ำเพื่อให้เกิดการประหยัดต่อขนาด (Economy of Scale) โดยตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ จีน อาเซียน และ CLMV สำหรับการนำเข้าปิโตรเคมีของไทยพบว่าในปี 2559 การนำเข้าปิโตรเคมีของไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.5 อยู่ที่ 2.2 ล้านตัน ส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มของกลุ่มปิโตรเคมีขั้นกลางและปลายในสายผลิตภัณฑ์ที่ผู้ผลิตไทยยังไม่สามารถผลิตได้ แนวโน้มความต้องการปิโตรเคมีไทยปี 2560 ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี (TMB Analytics) คาดว่า ปี 2560 ปริมาณการผลิตปิโตรเคมีขั้นต้น ขั้นกลางและขั้นปลายรวมกันจะอยู่ที่ 21.5 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 3 ตามความต้องการใช้เม็ดพลาสติกภายในประเทศที่จะได้รับอานิสงส์จากการบริโภคภายในประเทศที่ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป จากความต้องการบรรจุภัณฑ์ยังคงเติบโตต่อเนื่องรวมถึงการผลิตอุปกรณ์ชิ้นส่วนยานยนต์ที่เพิ่มขึ้นจากอุตสาหกรรมยานยนต์ที่เริ่มฟื้นตัว ด้านปริมาณการส่งออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีมีแนวโน้มทรงตัวจากปีก่อน โดยมีตลาดส่งออก CLMV ที่เติบโตต่อเนื่อง ในขณะที่ตลาดจีนซึ่งเป็นตลาดส่งออกสำคัญจะลดลงเล็กน้อยตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว จึงกล่าวได้ว่า การพัฒนาอุตสาหกรรปิโตรเคมีไทยกว่า 36 ปีที่ผ่านมา ประสบความเร็จตามวัตถุประสงค์ของประเทศมาลำดับ จากระยะแรกการพัฒนาอุตสาหกรรมเน้นการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า ทำให้ไทยไม่ต้องสูญเสียรายได้จำนวนมากให้ต่างประเทศ และพัฒนาต่อเนื่องมาจนถึงสามารถตอบสนองความต้องการใช้ภายในประเทศอย่างเพียงพอ รวมทั้งยังตอบสนองอุตสาหกรรมต่อเนื่องหลักของประเทศ ซึ่งได้แก่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมยานยนต์ นอกจากนี้ การผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมียังสามารถส่งออกผลิตภัณฑ์ต่างๆ ไปยังต่างประเทศนำรายได้สุทธิให้กับประเทศ อันจะเห็นได้จากปริมาณการส่งออกปิโตรเคมีที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 5.0 ล้านตันในปี 2554 เป็น 5.5 ล้านตันในปี 2559 หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 20 ของกำลังการผลิตปิโตรเคมีรวมของประเทศ ในขณะที่การนำเข้าปิโตรเคมีทรงตัวอยู่ในระดับ 2.0-2.2 ล้านตันต่อปีในช่วงปี 2554-2559 จะเห็นว่าการพัฒนาได้บรรลุเป้าหมายการผลิตเพื่อทดแทนนำเข้า และเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศแล้ว สำหรับทิศทางอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในระยะต่อไป อุตสาหกรรมปิโตรเคมีไทยกำลังเข้าสู่การพัฒนาในขั้นต่อไป กล่าวคือ การผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่มีความหลากหลายมากขึ้นรวมถึงความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคทั้งจากตลาดในประเทศและต่างประเทศ ทั้งนี้ อุตสาหกรรมปิโตรเคมีเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายซุปเปอร์คลัสเตอร์ที่ภาครัฐต้องการผลักดันด้วยการส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ผลิตพัฒนาต่อยอดอุตสาหกรรมปิโตรเคมีจากเดิมที่มีความเข้มแข็งอยู่แล้วขยายไปสู่การผลิตปิโตรเคมีที่มีความหลากหลายและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อรองรับเทรนด์ความต้องการใช้ของโลก ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาในอุตสาหกรรมต่อเนื่องในประเทศ ก่อให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมต่อเนื่อง และช่วยเพิ่มมูลค่าเพิ่มและความแตกต่างของผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมสู่ตลาดโลก บทความโดย ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี (TMB Analytics) HIGHTLIGHTS อุตสาหกรรมปิโตรเคมีไทยปัจจุบันมีกำลังการผลิตสูงสุดอยู่ที่ 26.2 ล้านตันต่อปี แบ่งเป็น - ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นต้น 11.9 ล้านตันต่อปี - ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นกลาง 6.8 ล้านตันต่อปี - ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นปลาย 7.5 ล้านตันต่อปี สายการผลิตอุตสาหกรรมปิโตรเคมีไทย - ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีสายโอเลฟินส์ (วัตถุดิบตั้งต้นส่วนใหญ่มาจากการแยกก๊าซธรรมชาติ) ร้อยละ 67 - ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีสายอะโรเมติกส์ (วัตถุดิบตั้งต้นส่วนใหญ่มาจากการกลั่นน้ำมันดิบ) ร้อยละ 33 ปัจจัยการเติบโตของอุตสาหกรรปิโตรเคมีขึ้นอยู่กับการเติบโตของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง 4 กลุ่ม - กลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติก (Plastic) - กลุ่มเส้นใยสังเคราะห์ (Synthetic Fibre) - กลุ่มยางสังเคราะห์ (Synthetic Rubber, Elastomer) - กลุ่มสารเคมีเคลือบผิวและผลิตภัณฑ์กาว (Synthetic Coating & Adhesive Material)