ทิศทางการบริหารความมั่งคั่งในปี 2017 - Forbes Thailand

ทิศทางการบริหารความมั่งคั่งในปี 2017

FORBES THAILAND / ADMIN
20 Feb 2017 | 11:55 AM
READ 4505

ธุรกิจบริหารความมั่งคั่งในประเทศไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งตรงกันข้ามกับภาพรวมความมั่งคั่งภายในประเทศที่อยู่ในภาวะทรงตัว จากรายงานของธนาคารโลกประจำปี 2554 ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางถึงค่อนข้างสูง โดยตลอดระยะเวลาช่วง 4 ทศวรรษที่ผ่านมา สภาพเศรษฐกิจและสังคมไทยเติบโตก้าวหน้าอย่างมาก พร้อมขยับสถานะจากประเทศที่มีรายได้ต่ำก้าวสู่การเป็นประเทศที่มีรายได้สูงภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว

แนวโน้มความมั่งคั่งภาคครัวเรือนของไทยได้สะท้อนให้เห็นภาพรวมอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ จากรายงานความมั่งคั่งระดับโลกของสถาบันวิจัยเครดิตสวิส (Credit Suisse Research Institute Global Wealth) พบว่า หากเทียบตามค่าเงินบาท อัตราความมั่งคั่งภาคครัวเรือนของไทยโดยรวมเพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 2.4 จากปี 2558 คิดเป็นมูลค่า 4 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ มากกว่า 14 ล้านล้านบาทในปีนี้ และเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วโดยมีอัตราเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ร้อยละ7.5 นับตั้งแต่ปี 2543 สอดคล้องกับแนวโน้มความมั่งคั่งทั่วโลก นอกจากนั้น รายงานความมั่งคั่งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของ Capgemini Asia Pacific Wealth Report 2016 ระบุว่าประเทศไทยมีกลุ่มคนที่มีความมั่งคั่งทางการเงินมากกว่า 1 ล้านเหรียญ (35 ล้านบาท) จำนวน 96,000 คน ซึ่งถือครองสินทรัพย์รอการลงทุนหรือสินทรัพย์สภาพคล่องรวมแล้วมีมูลค่า 4.84 แสนล้านเหรียญ (17 ล้านล้านบาท) นับว่าเป็นอัตราส่วนที่มากพอสมควร เมื่อเทียบกับประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจที่มีความสำคัญในภูมิภาคอย่างมาเลเซีย เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ ซึ่งรายงานของเครดิต สวิส คาดการณ์ว่า กลุ่มคนที่มีความมั่งคั่งทางการเงินรายใหญ่พิเศษซึ่งมีสินทรัพย์ทางการเงินมากกว่า 50ล้านเหรียญ (1.8 พันล้านบาท) มีจำนวนมากกว่า 400 คน  

เทรนด์บริหารความมั่งคั่งในไทย

ด้วยกฎเกณฑ์และนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยที่มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการบริหารจัดการค่าเงินบาทเป็นตัวแปรสำคัญที่ส่งผลต่ออัตราการเติบโตของธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง นับตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ผ่อนปรนการควบคุมอัตราการแลกเปลี่ยน เพื่อสร้างสมดุลในการหมุนเวียนเงินทุนภายในประเทศ ซึ่งช่วยให้คนไทยสามารถลงทุนในต่างประเทศ และมีทางเลือกที่จะกระจายความเสี่ยงจากการลงทุน และหากกล่าวถึงกองทุนส่วนบุคคลสำหรับสถาบันการเงินในประเทศไทยเริ่มเปิดให้บริการ private banking ครั้งแรกเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ครอบคลุมการให้บริการกลุ่มลูกค้าและบริการที่หลากหลาย ตั้งแต่กลุ่มคนที่มีความมั่งคั่งระดับกลาง (mass affluent) จนถึงกลุ่มคนที่มีความมั่งคั่งทางการเงินรายใหญ่ ในภูมิภาคเอเชีย บรรดาธนาคารระดับโลกที่มีประสบการณ์ด้านบริการ private banking มายาวนานยังคงรักษาตำแหน่งผู้ให้บริการทางการเงินที่ใหญ่ที่สุดไว้ได้ ด้วยมูลค่าสินทรัพย์ทางการเงินของลูกค้าของธนาคารระดับโลก 3 อันดับแรกมีจำนวนรวมกันมากกว่า 6 แสนล้านเหรียญหรือ 21 ล้านล้านบาท โดยเครดิต สวิส เป็นหนึ่งในสามของธนาคารชั้นนำระดับโลกที่นำประสบการณ์ความรู้และความเชี่ยวชาญ ด้าน private banking มายังประเทศไทยเป็นเวลากว่า 160 ปี โดยมีกลุ่มเป้าหมายหลักสองกลุ่ม คือกลุ่มลูกค้าผู้ลงทุนรายใหญ่ที่มีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารของเครดิต สวิส มากกว่า 2 ล้านเหรียญ (70 ล้านบาท) และกลุ่มลูกค้าผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษที่มีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารของเครดิต สวิส มูลค่า 50 ล้านเหรียญ (1.8 พันล้านบาท) หรือมีความมั่งคั่งสุทธิอยู่ที่ 250 ล้านเหรียญ (9 พันล้านบาท) ทั้งนี้ สถาบันวิจัยของเครดิต สวิส คาดการณ์ว่า ความมั่งคั่งระดับโลกจะยังคงมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 1.4 ต่อปีในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยมีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำสำคัญในการขับเคลื่อน อย่างไรก็ตาม กลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่จะแซงหน้ากลุ่มประเทศพัฒนาแล้วในเรื่องอัตราการเติบโตของความมั่งคั่ง และประเทศไทยจะเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราความมั่งคั่งภาคครัวเรือนขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 6 ต่อปี และมีจำนวนกลุ่มคนที่มีความมั่งคั่งทางการเงินเพิ่มขึ้นในระดับเดียวกัน ด้วยจำนวนกลุ่มผู้ลงทุนรายใหญ่และกลุ่มลูกค้าผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษที่กำลังเพิ่มขึ้นในประเทศไทยทำให้ตลาดการเงินในประเทศและภูมิภาคมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และเปิดโอกาสให้ธุรกิจเติบโตและมีเงินทุนหมุนเวียนสำหรับกลุ่มผู้ประกอบการและองค์กรธุรกิจ   ทิพพา ปราณีประชาชน หัวหน้าฝ่ายบริหาร ความมั่งคั่งประจำประเทศไทย เครดิต สวิส