แม้ว่าระหว่างที่เขียนบทความนี้สหรัฐอเมริกาและจีนได้ผ่อนคลายวาทะและการตอบโต้ที่อาจก่อให้เกิดสงครามการค้าเต็มรูปแบบลงไปแล้ว แต่ด้วยลักษณะการบริหารสงครามทางการค้าที่เอาแน่นอนไม่ได้ จึงไม่มีใครกล้าฟันธงว่าการประหัตประหารกันทางเศรษฐกิจจะไม่เกิดขึ้น โดยเฉพาะเมื่อมีการประนีประนอมอย่างคลุมเครือและปราศจากผลลัพธ์ที่จับต้องได้เช่นนี้
สำหรับชาติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะประเทศไทยที่มุ่งเน้นการส่งออก ผลที่เกิดจากสงครามการค้าระหว่างสองชาติมหาอำนาจย่อมมองได้แง่มุมเดียวนั่นคือความเสียหาย จีนและสหรัฐอเมริกาเป็นคู่ค้าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของอาเซียนโดยอยู่ในอันดับ 1 และอันดับ 4 ตามลำดับ ขณะที่เกือบทั้ง 10 ชาติอาเซียนต่างมีความเกี่ยวข้องกับสายโซ่การค้าและอุตสาหกรรมของทั้งสองประเทศอย่างแนบแน่น การส่งออกของประเทศไทยคิดเป็นสัดส่วน 70% ของจีดีพี โดยมีจีนเป็นปลายทางการส่งออกอันดับ 1 ในปี 2560 ด้วยสัดส่วน 12.4% ตามมาติดๆ ด้วย สหรัฐอเมริกาที่ 11.2% นักวิเคราะห์บางคนอาจแย้งว่า การ “แตกหัก” ทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกาทำให้เกิดโอกาสสำหรับผู้ผลิตในอาเซียน เนื่องจากชาติมหาอำนาจจะมองหาซัพพลายเออร์ทางเลือกใหม่สำหรับนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าสำเร็จรูปอื่นๆ แทนที่การนำเข้าจากแหล่งเดิม ซึ่งก็เป็นจริงในบางกรณี อาทิ การส่งออกเมล็ดถั่วเหลืองในสหรัฐอเมริกาประมาณ 61.2% หรือมูลค่า 1.42 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ที่ถูกส่งออกไปจีนในปี 2559 นั้นถูกระงับโดยทันที หลังจากจีนประกาศขึ้นกำแพงภาษีนำเข้าถั่วเหลืองจากสหรัฐฯ ถึง 25% และถ้าเรามองกลับมายังอาเซียน อินโดนีเซียกำลังเพิ่มกำลังการผลิตถั่วเหลืองเพื่อตอบสนองต่อความต้องการในประเทศ และอาจเห็นโอกาสที่จะเข้าสู่ช่องว่างในตลาดจีนที่เคยเป็นของสหรัฐฯ มาก่อน ขณะเดียวกัน ผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และสิ่งทอในจีนก็อาจเล็งเห็นโอกาสที่เพิ่มขึ้นในการเพิ่มส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐฯ เมื่อจีนถอนตัวออกไป ผมตระหนักถึงข้อวิตกกังวลนี้เมื่อได้พูดคุยกับหุ้นส่วนในประเทศไทยโดยเฉพาะในธุรกิจเหล็กกล้าซึ่งผู้ผลิตรายใหญ่ได้รับผลกระทบจากกำแพงภาษีในสหรัฐฯ บ้างแล้ว และถูกบีบให้ต้องแข่งขันในตลาดโลกที่กำลังถดถอย ขณะเดียวกัน ถ้าการค้าของจีนได้รับความเสียหายอันเกิดจากความขัดแย้งกับสหรัฐฯ จนทำให้เศรษฐกิจแดนมังกรชะลอตัวอาจส่งผลต่อเนื่องไปถึงการบริโภคของคนจีนในประเทศและทำให้การเติบโตอย่างก้าวกระโดดในภาคการท่องเที่ยวต่างประเทศซึ่งช่วยกระตุ้นหลายชาติอาเซียนในช่วงหลายปีที่ผ่านมาต้องถดถอย เมื่อปีที่แล้วมีนักท่องเที่ยวชาวจีนเกือบ 10 ล้านคนเดินทางเยือนประเทศไทย นั่นหมายความว่าตัวเลขดังกล่าวอาจลดลงรับฟังความเห็นผู้บริหาร
Oxford Business Group ได้พบปะกับผู้บริหารระดับสูงในองค์กรธุรกิจของชาติอาเซียนเพื่อรวบรวมข้อมูลเชิงลึกที่น่าสนใจทั้งในระดับประเทศและระดับโลกที่กำลังกำหนดทิศทางเศรษฐกิจในประเทศ โดยใช้เครื่องมือบารอมิเตอร์ทางธุรกิจในการสำรวจความคิดเห็นของประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (Business Barometer CEO) ซึ่งช่วยให้ได้รับฟังความคิดเห็นในหลากหลายประเด็นสำคัญ การสำรวจความคิดเห็นล่าสุดในหัวข้อ “โอบีจีในอาเซียน” ชี้ให้เห็นว่าความผันผวนของความต้องการของจีนว่าเป็นความเสี่ยงภายนอกที่ใหญ่ที่สุดโดยมีอัตราส่วน 31% ขณะที่การกีดกันทางการค้าตามมาด้วยตัวเลข 20% สำหรับผู้บริหารในประเทศไทย ให้ความสำคัญกับการค้ากับจีนมากถึง 46% และการกีดกันทางการค้า 13% ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ผู้บริหารชาวไทยมองว่าอุปสงค์จากจีนมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศมากกว่าสหรัฐฯแล้ว “ไทย” อยู่ในสายตาของ “Trump” หรือไม่
ถ้ามองดุลการค้าของประเทศไทยกับทั้งสองชาติมหาอำนาจ พบว่าไทยขาดดุลการค้าแบบทวิภาคีกับจีนมากที่สุดที่ 5.1 แสนล้านบาทในปี 2560 แต่มีการค้าเกินดุลกับสหรัฐฯ มากที่สุดเป็นอันดับ 2 อยู่ที่ 3.8 แสนล้านบาทเมื่อปีที่แล้ว ประเทศไทยมีการค้าเกินดุลกับสหรัฐฯ เนื่องจากปริมาณการส่งออกเครื่องจักรกลยาง อาหารทะเล และเครื่องประดับที่สูงมาก ทำให้ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการค้าเกินดุลกับสหรัฐฯ มากที่สุดในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ความไม่สมดุลทางการค้าระหว่างไทยและสหรัฐฯ อาจนำมาซึ่งข่าวร้าย เมื่อ Trump มองการค้าที่ไม่สมดุลกับไทยอาจบีบให้ไทยยอมดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อแก้ไขภาวะขาดดุล เมื่อปีที่แล้วไทยเป็น 1 ใน 16 ประเทศที่ถูกเพ่งเล็งจากรัฐบาล Trump ในการยกระดับการตรวจสอบเพื่อแก้ไขปัญหาความไม่สมดุลทางการค้าการทำสงครามเพื่ออนาคต
ความตั้งใจอย่างแน่วแน่ของ Trump ที่จะลดภาวะขาดดุลการค้ากับจีนเกิดขึ้นท่ามกลางความกังวลต่อแผนแม่บท “Made in China 2025” อันดุดันของจีนที่มีเป้าหมายก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านการผลิตและอุตสาหกรรมอันล้ำสมัยอย่างเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เทคโนโลยีความจริงเสมือน (VR) และหุ่นยนต์ สหรัฐฯ แสดงจุดยืนต่อต้านนโยบายการค้าที่ไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นในรูปแบบของการอุดหนุนจากรัฐบาลและข้อกำหนดเกี่ยวกับวัตถุดิบในประเทศจีน แต่เห็นได้ชัดว่าสหรัฐฯ มีความกังวลด้วยว่าพวกเขาจะสูญเสียขีดความสามารถทางแข่งขันซึ่งเป็นเรื่องเข้าใจได้ แผนแม่บท Made in China 2025 แสดงถึงภัยคุกคามต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในระยะยาวมากกว่าแค่การขาดดุลทางการค้า จีนมีประชากรกว่า 1.4 พันล้านคน จึงอยู่ในตำแหน่งที่ยอดเยี่ยมที่จะพัฒนานวัตกรรม AI และการวิเคราะห์บิ๊กดาต้าเพื่อการใช้งานเชิงพาณิชย์ ถ้าสหรัฐฯ ปล่อยให้จีนก้าวนำหน้าในการพัฒนาเทคโนโลยีเจเนอเรชั่นต่อไป แน่นอนว่าเขาจะพ่ายแพ้สงครามเพื่ออนาคตเนื่องจากนวัตกรรมเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตและปฏิวัติรูปแบบการดำเนินธุรกิจไปอย่างสิ้นเชิงคลิกอ่านบทความทางด้านธุรกิจเพิ่มเติมได้ที่ Forbes Thailand Magazine ฉบับกรกฎาคม 2561 ในรูปแบบ e-Magazine