“ดาต้าเซ็นเตอร์” กับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล - Forbes Thailand

“ดาต้าเซ็นเตอร์” กับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล

FORBES THAILAND / ADMIN
06 Jun 2020 | 12:38 PM
READ 4070

การพัฒนาธุรกิจ ดาต้าเซ็นเตอร์ ในประเทศไทยจะเป็นการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังเป็นการช่วยลดผลกระทบจากการพึ่งพิงภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ที่มีความผันผวนตามสภาวะเศรษฐกิจ สังคม และสถานการณ์โลก

ถ้ามองไปไกลๆ ในปี 2570 ธุรกิจดิจิทัลจะสามารถสร้างรายได้เกือบ 1 ใน 4 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศไทย (GDP) ขณะที่ตลาด ดาต้าเซ็นเตอร์ ของอาเซียนในปี 2567 จะมีมูลค่าสูงถึง 5.4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ด้วยศักยภาพและความพร้อมของไทยในปัจจุบันทำให้เชื่อมั่นได้ว่าในอนาคตอันใกล้ประเทศไทย จะสามารถสร้างการเติบโตทางธุรกิจดิจิทัลในระดับภูมิภาคได้เช่นเดียวกับประเทศสิงคโปร์และอินโดนีเซีย โดยคาดว่าจะมีอัตราการเติบโตของดาต้าเซ็นเตอร์ในประเทศไทยสูงถึงร้อยละ 21-22 ภายใน 3 ปีข้างหน้า และกลายเป็นศูนย์กลางทางธุรกิจดิจิทัลที่ช่วยส่งเสริมระบบเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียนต่อไป ขณะที่ความทันสมัยของเทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันทุกด้านของคนในปัจจุบัน เพราะเทคโนโลยีเข้ามาช่วยตอบโจทย์ทุกความต้องการและความสะดวกสบายของผู้บริโภค ดังจะเห็นได้จากพฤติกรรมการใช้แอปพลิเคชันและแพลตฟอร์มจำนวนมากเพื่อการซื้อสินค้าและบริการออนไลน์ การทำธุรกรรมผ่านอินเทอร์เน็ตและโมบายแบงกิ้ง หรือการประชุมแบบ virtual meeting เป็นต้น ดิจิทัลฮับอาเซียน สำหรับในปี 2563 ประเทศไทยมีจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียกว่า 52 ล้านคน หรือเกินกว่าร้อยละ 70 ของประเทศ ซึ่งเติบโตอย่างต่อเนื่องในระดับเท่าตัวจาก 5 ปีก่อน ผู้ใช้งานในประเทศไทยใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ยวันละ 9 ชั่วโมง และส่วนมากเป็นการเข้าใช้งานผ่านระบบมือถือเพราะสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างสะดวกทุกที่ทุกเวลา สะท้อนให้เห็นถึงการปรับตัวและการเปิดรับต่อการใช้เทคโนโลยีของคนไทยซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มของทั่วโลก นอกจากนั้นรัฐบาลยังเริ่มให้ความสำคัญและส่งเสริมการสร้างเศรษฐกิจดิจิทัล (digital economy) อย่างจริงจัง โดยมีเป้าหมายในการผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็น “ดิจิทัลฮับของอาเซียน” จึงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและโครงข่ายให้มีความครอบคลุมทั่วประเทศ ดังจะเห็นได้จากอัตราการเติบโตของมูลค่ากลุ่มธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) ที่เติบโตต่อเนื่องทุกปีในอัตราร้อยละ 8-10 การพัฒนาคุณภาพสินค้าและบริการด้วยปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) หรือ AI ของภาคธุรกิจที่สูงมากถึงร้อยละ 70 และการใช้ข้อมูลเพื่อวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภคเพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ของบริษัทชั้นนำในตลาดร้อยละ 100 ขณะเดียวกันยังมุ่งพัฒนาศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่ (big data) ให้ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ซึ่งจะช่วยให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนสามารถเข้าถึงข้อมูลที่มีคุณภาพ และเกิดการใช้ประโยชน์จากการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อธุรกิจได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งหากทำได้สำเร็จจะเป็นการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศอย่างก้าวกระโดด ทั้งนี้ข้อมูลขนาดใหญ่ (big data) จะต้องถูกจัดเก็บใน “ดาต้าเซ็นเตอร์” ที่มีมาตรฐานและมีความปลอดภัยสูง โดยประเทศไทยถือเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการพัฒนาธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์เป็นอย่างยิ่ง ด้วยความได้เปรียบด้านทรัพยากรและภูมิศาสตร์ที่จะสามารถใช้เป็นปัจจัยด้านบวกเพื่อดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาพัฒนาดาต้าเซ็นเตอร์ในประเทศไทย สร้างแรงงานดิจิทัล ดังนั้นธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์จะเป็นธุรกิจที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้วยความได้เปรียบในด้านทำเลที่ตั้งที่เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน อีกทั้งยังมีความพร้อมทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งหากรัฐบาลให้การสนับสนุนและมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนที่ชัดเจนจะเป็นการผลักดันให้เกิดการพัฒนาระบบ ecosystem ของเศรษฐกิจดิจิทัลที่สมบูรณ์และมีศักยภาพในการเติบโตสูง รวมทั้งธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์ยังมีลักษณะเป็นโครงการระยะยาวที่ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมากในการพัฒนาอาคารและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่จำเป็น เช่น ระบบไฟฟ้าระบบปรับอากาศ ระบบความปลอดภัยระบบตรวจสอบ และระบบโสตทัศนูปกรณ์ทำให้สามารถสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศได้จากหลายทาง เป็นโอกาสพัฒนาบุคลากรสำหรับตลาดแรงงานด้านดิจิทัล บุคลากรที่มีความชำนาญด้านไฟฟ้า วิศวกรรม และไอที ในระดับอาชีวศึกษาจะมีทางเลือกของสายอาชีพหลากหลายยิ่งขึ้นและได้รับค่าจ้างมากกว่างานทั่วไปในตลาดแรงงานปัจจุบัน เป็นการช่วยยกระดับรายได้ของประเทศไทยและรายได้เฉลี่ยต่อหัวให้เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ในอนาคตจะมีความต้องการบุคลากรด้านการวิเคราะห์ข้อมูล (data analysts) เพิ่มขึ้น การพัฒนาทักษะและคุณภาพบุคลากรเพื่อก้าวสู่การเป็นดิจิทัลฮับของอาเซียนจะเป็นการสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศอย่างมั่นคงและยั่งยืน   ดาต้าเซ็นเตอร์ ศุภรัฒศ์ ศิวะเพ็ชรานาถ สิงหรา ณ อยุธยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสทีที จีดีซี (ประเทศไทย) จำกัด อ่านเพิ่มเติม: “การปรับกระบวนการทางธุรกิจ” ตัวช่วยองค์กรรับ New Normal
คลิกอ่านบทความทางธุรกิจที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนพฤษภาคม 2563 ในรูปแบบ e-magazine