จุดเปลี่ยนเทรนด์บรรจุภัณฑ์พลาสติกในตลาดโลก - Forbes Thailand

จุดเปลี่ยนเทรนด์บรรจุภัณฑ์พลาสติกในตลาดโลก

FORBES THAILAND / ADMIN
24 May 2017 | 11:31 AM
READ 19291
ประเทศไทย นับเป็นหนึ่งในประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ในอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์พลาสติกของโลก รากฐานแห่งความสำเร็จที่นำพาให้ประเทศไทยขึ้นแท่นเป็นฐานการผลิตรายใหญ่ของโลกมาจากการดำเนินนโยบายปิโตรเคมีแห่งชาติระยะที่ 1 (พ.ศ. 2526-2532) โดยมีแผนแม่บทอุตสาหกรรมปิโตรเคมีแห่งชาติกับการลงทุนโรงงานปิโตรเคมี ทำให้ประเทศไทยมีความสามารถในการผลิตเม็ดพลาสติกทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศซึ่งมีราคาแพง จึงทำให้ไทยมีความได้เปรียบในเชิงการแข่งขัน อีกทั้งมีแรงงานฝีมือ และผู้ประกอบการที่มีประสบการณ์ความเชี่ยวชาญในการดำเนินธุรกิจ พร้อมทั้งระบบซัพพลายเชนในอุตสาหกรรมที่ครอบคลุมและแข็งแกร่งจึงทำให้อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์พลาสติกขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลสถาบันพลาสติกระบุถึงภาพรวมอุตสาหกรรมแปรรูปพลาสติกของไทย พบว่า อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์พลาสติก มีมูลค่าอยู่ที่ 1.80 แสนล้านบาทต่อปี (คิดเป็นปริมาณ 2.05 พันล้านตันต่อปี) ซึ่งสูงที่สุดในอุตสาหกรรมแปรรูปพลาสติกของไทยในปี 2558 หรือคิดเป็นสัดส่วน 27.90% ของอุตสาหกรรมแปรรูปพลาสติกในไทย ที่มีมูลค่ารวมกว่า 6.46 แสนล้านบาท การเติบโตของอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์พลาสติกไทยมาจากความแข็งแกร่งของภาคเอกชนและความพร้อมด้านการผลิตผนวกกับความก้าวหน้าด้านการออกแบบดีไซน์ที่มีความซับซ้อนมากขึ้นและใช้เครื่องจักรในการผลิตที่ทันสมัย สามารถรองรับเทรนด์อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์พลาสติกกับการเน้นเทคโนโลยีการผลิตและวัตถุดิบที่สูงขึ้น เพื่อลดการใช้วัตถุดิบแต่ยังคงคุณสมบัติด้านความแข็งแรงในเวลาเดียวกัน รวมถึงการใช้วัตถุดิบที่มาจากการรีไซเคิลเพิ่มขึ้นเพื่อลดต้นทุนการผลิตและช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม  

โอกาสของไทยกับไบโอพลาสติก

ในประเทศไทยมีผู้ใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกอย่างแพร่หลาย โดยภาครัฐได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมไบโอพลาสติก ด้วยนโยบายสนับสนุนให้ไบโอพลาสติกเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์สำหรับการสร้าง New S-Curve ให้กับประเทศ โดยมีมาตรการสนับสนุนผู้ประกอบการไทยและต่างชาติ ให้เข้ามาลงทุนวิจัยพัฒนาและใช้ประเทศไทยเป็นฐานการส่งออกไบโอพลาสติกสู่ตลาดโลก นโยบายดังกล่าวสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกไทยในปี 2560-2564 ของสถาบันพลาสติกที่มีนโยบายสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้ประกอบการพลาสติกของไทย อีกทั้งต้องการผลักดันผู้ประกอบการให้มุ่งลงทุนด้านพัฒนาและวิจัยสินค้านวัตกรรมใหม่ๆ ในด้านบรรจุภัณฑ์ไบโอพลาสติก โดยมีเป้าหมายภายใน 5 ปีข้างหน้าว่า ประเทศไทยจะต้องก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมพลาสติกในอาเซียนได้อย่างยั่งยืนหรือการเป็น Asean Plastics Growth Driver ทั้งนี้ ในปัจจุบันฐานการผลิตไบโอพลาสติกส่วนใหญ่ จะมีแหล่งผลิตมาจากในทวีปเอเชียซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 43.4% ของปริมาณการผลิตไบโอพลาสติกทั้งหมดรองลงมาได้แก่ ทวีปอเมริกาใต้และอเมริกาเหนือ ตามลำดับ ถึงแม้ในปัจจุบันประเทศไทยยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการลงทุนพัฒนาอุตสาหกรรมไบโอพลาสติก แต่จากการสนับสนุนของภาครัฐ ทำให้ภาคเอกชนของไทยและต่างประเทศให้ความสนใจตั้งโรงงานการผลิตวัตถุดิบไบโอพลาสติกเป็นอย่างมาก เช่น PTTMCC Biochem ผู้ผลิตเม็ดพลาสติกไบโอชนิด PBS ซึ่งเป็นการร่วมลงทุนระหว่าง ปตท. และ Mitsubishi Chemical ส่วนโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง เช่น บริษัท Corbion B.V. จากประเทศเนเธอร์แลนด์ ผู้ผลิตพลาสติกไบโอชนิด PLA หากการดำเนินโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จจะทำให้ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกของไทยมีแหล่งวัตถุดิบไบโอพลาสติกที่มีต้นทุนไม่สูงทำให้เกิด economies of scale และทำให้ไทยสามารถเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกสินค้าบรรจุภัณฑ์ไบโอพลาสติกป้อนความต้องการในตลาดโลกได้อย่างมีศักยภาพ สำหรับ TPBI ที่เป็นผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกรายใหญ่ที่สุดในไทย ได้เตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง พร้อมทั้งยังมีทีมวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อค้นคว้าด้านไบโอพลาสติกอย่างต่อเนื่องและจริงจัง ช่วยให้บริษัทสามารถผลิตสินค้าไบโอพลาสติกที่สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ สมศักดิ์ บริสุทธนะกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีพีบีไอ จำกัด (มหาชน)
คลิกอ่านฉบับเต็ม "จุดเปลี่ยนเทรนด์บรรจุภัณฑ์พลาสติกในตลาดโลก" ได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ เมษายน 2560 ในรูปแบบ e-Magazine