กุญแจสู่ความสำเร็จระดับเวิลด์คลาส สตาร์ทอัพต้องครบเครื่อง - Forbes Thailand

กุญแจสู่ความสำเร็จระดับเวิลด์คลาส สตาร์ทอัพต้องครบเครื่อง

FORBES THAILAND / ADMIN
24 Jul 2017 | 12:39 PM
READ 3212

เทค สตาร์ทอัพ กำลังเป็นธุรกิจที่น่าจับตามอง ด้วยอัตราการเติบโตของเทคโนโลยีสมัยใหม่ และพฤติกรรมผู้บริโภคที่ตอบรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว การสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ด้านบริการมีให้เห็นอย่างต่อเนื่องจากบรรดาสตาร์ทอัพ ทั้งกลุ่มการเงิน อสังหาริมทรัพย์ โลจิสติกส์ อี-คอมเมิร์ซ และอื่นๆ แต่นั่นก็เป็นส่วนน้อยที่สามารถฝ่าด่านข้อจำกัดที่มีอยู่มากตลอดเส้นทางนับตั้งแต่วันแรกของการกำเนิดไอเดีย ไปจนถึงการปล่อยสินค้า/บริการออกสู่ตลาด เพราะมีสตาร์ทอัพมากกว่า 90% ที่ต้องล้มหายตายจากไปก่อนเวลาอันสมควร

สตาร์ทอัพหลายรายวาดฝันว่าจะต้องเป็นสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จ ทว่า กลับไม่มีความชัดเจนในแผนธุรกิจของตน บ้างก็ตั้งธุรกิจขึ้นมาด้วยการเลียนแบบสตาร์ทอัพใน Silicon Valley หรือลอกเลียนแบบบริษัทที่ประสบความสำเร็จอื่นๆ จนลืมดูความเป็นจริงที่ว่า รูปแบบที่ตั้งไว้นั้น เหมาะสมกับลักษณะของท้องถิ่นหรือไม่ อีกทั้งผลิตภัณฑ์หรือบริการของสตาร์ทอัพบางรายอาจไม่เหมาะกับตลาดนั้นๆ อีกด้วย และเมื่อผู้ประกอบการไม่ฟังเสียงของตลาด ไม่ดูความต้องการของตลาดแล้วยิ่งมาเจอคู่แข่งที่ดีกว่า มีสินค้าหรือบริการที่ดีกว่า ย่อมไปไม่รอดอย่างแน่นอน เรียกได้ว่า สตาร์ทอัพนั้นมีทีมงานที่ไม่ดีและมี mindset ที่ไม่ถูกต้อง ทั้งนี้ สตาร์ทอัพที่จะประสบผลสำเร็จได้นั้น ต้องมีความสร้างสรรค์ และใช้นวัตกรรมหรือเทคโนโลยีที่คนในท้องถิ่นนั้นๆ เข้าถึงได้ สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างประโยชน์สูงสุดต่อลูกค้าและชุมชน ที่ผ่านมาพบว่า ตลาดสตาร์ทอัพทั่วโลกนั้นยังมีการเติบโตอย่างไม่หยุดยั้งในทุกประเทศ โดยสตาร์ทอัพส่วนใหญ่มุ่งมั่นสร้างสรรค์นวัตกรรมบนการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี เพื่อให้เกิดการบริการในรูปแบบใหม่ๆ อย่างพลิกฟ้าพลิกแผ่นดิน (disruptive) จะเห็นได้ว่า กลุ่มฟินเทค เองก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะที่มุ่งสร้างนวัตกรรมดิจิทัลในธุรกิจ เช่น artificial intelligence (AI) และ augmented reality (AR) รวมถึงการให้บริการอัตโนมัติ automated services ซึ่งนวัตกรรมเหล่านี้ถือเป็นเทรนด์แห่งอนาคตที่จะสร้างโอกาสและความสำเร็จให้กับทั้งสตาร์ทอัพเอง อีกทั้งยังเป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจของชุมชน สิ่งสำคัญที่จะนำพาให้สตาร์ทอัพไปสู่ความสำเร็จก็คือ การมีที่ปรึกษาที่จะคอยแนะนำ ปรับจุดอ่อนให้เป็นจุดแข็ง พร้อมทั้งเปิดรับมุมมองใหม่ๆ จากทั้งในและตลาดต่างประเทศ และที่ขาดไม่ได้คือ การมีเน็ตเวิร์คที่แข็งแรง ติดปีกให้กับธุรกิจเพื่อพร้อมที่จะบินไปได้เหนือกว่าและไกลกว่าผู้อื่น เนื่องจากการเกิดของสตาร์ทอัพที่ทวีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ หลายบริษัทจึงแสวงหาเพื่อให้ได้เข้าร่วมในโปรแกรมบ่มเพาะในระดับสากลของแต่ละภาคอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มฟินเทค เฮลท์เทค และสมาร์ทซิตี้ เพื่อจะเป็นการช่วยผู้ประกอบการดึงนวัตกรรมทางเทคโนโลยีใหม่ๆ มาพัฒนาลักษณะธุรกิจของตนให้สามารถแข่งขันและสร้างความได้เปรียบเหนือคู่แข่ง ระบบนิเวศน์ หรือ ecosystem ของประเทศไทยในด้านนี้ได้ผ่านช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้น ทั้งด้านการเติบโตและการเปลี่ยนแปลง แต่หากจะให้มีการพัฒนาอย่างไม่ขาดช่วงนั้น จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงาน องค์กรระดับเอ็นเตอร์ไพรซ์หลักของท้องถิ่น ที่มีจุดมุ่งหมายร่วมกันในการสร้างแรงผลักดัน สร้างคุณค่าและพัฒนากลุ่มสตาร์ทอัพในประเทศไทยและภูมิภาคให้มีเพิ่มมากขึ้น ไม่เพียงแต่ช่วยสนับสนุนสตาร์ทอัพไทยให้อยู่รอด แต่ยังช่วยพัฒนาให้สามารถก้าวสู่ระดับภูมิภาคและระดับโลกได้ วิธีการหนึ่งคือ การจัดโปรแกรมบ่มเพาะให้กับผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมนั้นๆ แต่โปรแกรมจะต้องมีการออกแบบโดยเฉพาะ เพื่อให้สตาร์ทอัพในโครงการได้อะไรมากกว่าแค่การนั่งฟังการบรรยายแบบในห้องเรียนหรือห้องสัมมนาเท่านั้น อาทิ อาจเปิดโอกาสให้พวกเขาได้เข้ามาทำงานกับผู้บริหารมืออาชีพจากสถาบันชั้นนำหลากหลาย พร้อมกับกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมระดับสากล เพื่อวางแผนจริงและนำแผนนั้นไปปรับใช้ในการสร้างศักยภาพธุรกิจ
Station F ศูนย์บ่มเพาะสตาร์ทอัพที่ใหญ่ที่สุดในโลก เปิดตัวไปเมื่อวันที่ 22 มิ.ย.60 ณ กรุง Paris ประเทศฝรั่งเศส ศูนย์ฯแห่งนี้สามารถรองรับสตาร์ทอัพได้ถึง 1,000 บริษัท
ตัวแปรสำคัญแห่งความสำเร็จของโปรแกรมบ่มเพาะคือ ความหลากหลายของสตาร์ทอัพที่ผ่านคัดเลือกมาจากทั่วโลก ซึ่งการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากผู้ประกอบการโดยตรงจะเป็นการเพิ่มมูลค่า และยังได้ศึกษารูปแบบของธุรกิจภายใต้สภาพตลาดที่แตกต่างกัน รวมทั้งวิธีเข้าถึงผู้บริโภคในตลาดของแต่ละประเทศ ในทางกลับกัน สตาร์ทอัพที่ได้รับการคัดเลือกจากประเทศต่างถิ่นให้เข้าร่วมในโปรแกรม ก็จะได้เรียนรู้ว่าจะสามารถเข้ามาในตลาดของประเทศไทยได้อย่างไร สิ่งที่เกิดขึ้นโดยรวมคือ การช่วยผลักดันให้ประเทศไทยได้เข้าไปเป็นหนึ่งในตลาดเป้าหมายของนักลงทุนทั่วโลกอีกด้วย การสร้างเครือข่ายของแต่ละสตาร์ทอัพเป็นตัวเร่งความสำเร็จเช่นกัน หลายปีที่ผ่านมา โปรแกรมการบ่มเพาะที่ถูกจัดขึ้นจำนวนมาก รวมทั้งที่จัดโดย เนสท์ และบริษัทเครือข่ายพันธมิตรระดับโลกและระดับภูมิภาค เช่น AIA, DBS, OCBC, Visa และ Infiniti Motor ได้มีส่วนช่วยพัฒนาและเสริมความแข็งแกร่งระบบ ecosystems ในหลายประเทศ เช่น ฮ่องกง สิงคโปร์ ไนโรบีและเคนยา สำหรับประเทศไทย โปรแกรมบ่มเพาะช่วยเร่งธุรกิจสตาร์ทอัพ (NEST Accelerator Program) ที่เปิดตัวอย่างเป็นทางการโดยร่วมกับ ธนาคารกรุงเทพ เมื่อต้นปี ภายใต้ ชื่อโครงการ “Bangkok Bank Inno Hub” เป็นการเปิดโอกาสให้กับสตาร์ทอัพทั้งสัญชาติไทยและต่างประเทศได้เข้าถึงเครือข่ายความร่วมมือในระดับอาเซียนและระดับโลก โครงการนี้จะสิ้นสุดในเดือนกันยายน นับเป็นโอกาสที่ดีของสตาร์ทอัพที่มีการจัด Accelerator Program ระดับเวิลด์คลาสเพื่อมาช่วยเร่งการพัฒนา เพื่อก้าวขึ้นเป็นประเทศนวัตกรรมตามนโยบาย “ประเทศไทย 4.0”   Will Ross หุ้นส่วนและหัวหน้าฝ่ายนวัตกรรม Nest Management
คลิกอ่าน บทความทางด้านธุรกิจเพิ่มเติม ได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ มิถุนายน 2560 ในรูปแบบ e-Magazine