การเงินวัด ต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ - Forbes Thailand

การเงินวัด ต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้

FORBES THAILAND / ADMIN
03 Feb 2015 | 03:21 PM
READ 8134

วัดเป็นองค์กรศาสนาที่มีบทบาทสำคัญทางสังคมของไทยนับแต่อดีต ความสัมพันธ์ของวัดกับคนมีตั้งแต่ช่วงแรกจนถึงช่วงสุดท้ายของชีวิต วัดมีความผูกพันกับคนในชุมชน เป็นที่พึ่งทางใจ และช่วยเหลือเกื้อกูลชุมชน พุทธศาสนิกชนก็ช่วยทำนุบำรุงวัดด้วยการบริจาคทั้งในรูปที่เป็นเงิน สิ่งของ และเวลาในการอาสาทำงานให้แก่วัด แน่นอนว่ากิจกรรมเหล่านี้เกี่ยวข้องกับการได้มาและใช้ไปของเงินวัด

วัดมีฐานะเป็นนิติบุคคล มีสิทธิและหน้าที่ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 แม้จะเป็นองค์กรทางศาสนา แต่วัดมีความสำคัญทางเศรษฐกิจ เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรที่มิใช่ระบบตลาด หรือตามระบบบัญชีประชาชาติ ค.ศ. 1993 เรียกว่า สถาบันไม่แสวงหากำไรให้บริการครัวเรือน หมายถึง “องค์กรที่ดำเนินงานโดยไม่หวังผลกำไร โดยผลิตสินค้าและบริการให้กับประชาชนหรือสังคมโดยไม่คิดราคาหรือแบบให้เปล่า หรือจำหน่ายในราคาที่ไม่คุ้มทุนหรือในราคาที่ไม่มีนัยสำคัญทางเศรษฐกิจ ในที่นี้ครอบคลุมองค์กรประเภทมูลนิธิ สมาคม องค์กรทางศาสนา และพรรคการเมือง เป็นต้น”
การที่วัดเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร และมีกิจกรรมจัดหาทุนผ่านการบริจาค จึงมีความจำเป็นที่จะต้องยึดหลักธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และตรวจสอบได้  การเปิดเผยข้อมูลทางการเงินของวัดเพื่อสะท้อนถึงแหล่งที่มาและใช้ไปของเงิน  การจัดทำรายงานทางการเงินที่เป็นมาตรฐาน เปิดเผยให้สาธารณะได้รับรู้และตรวจสอบได้จึงเป็นสิ่งจำเป็น  การบริหารการเงินที่ดีมีส่วนทำให้วัดมีความโปร่งใส  สร้างความเชื่อมั่นในการเป็นศูนย์กลางจิตใจของคนในชุมชนและสังคม ย่อมนำไปสู่ความมั่นคงทางด้านการเงินให้แก่วัดในระยะยาว
การศึกษาเรื่อง “การบริหารการเงินของวัดในประเทศไทย” ได้รับทุนสนับสนุนจากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ โดยผู้เขียนเมื่อพฤษภาคม 2555 ได้ชี้ให้เห็นถึงการบริหารการเงินของวัดไทยที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน สรุปได้ดังนี้
จุดแข็งในการบริหารการเงินของวัด 
  1. วัดมีความศรัทธาของพุทธศาสนิกชนเป็นฐานสำคัญของการพัฒนา ทำให้วัดระดมทุนจากเงินบริจาคตามวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ได้ จึงไม่ต้องเน้นในเรื่องการจัดหารายได้เป็นหลัก แตกต่างกับองค์กรไม่แสวงหากำไรรูปแบบอื่น หากวัดดำรงความเชื่อมั่นและศรัทธาของพุทธศาสนิกชนให้คงอยู่ได้อย่างยาวนาน ย่อมเป็นจุดแข็งสำคัญต่อการพัฒนา
  2. วัดมีความใกล้ชิดกับชุมชน ทำให้การมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการวัดจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งชุมชน ชาวบ้าน สามารถเกิดขึ้นได้ ดังนั้น หากมีการวางระบบและกลไกในการบริหารจัดการวัดที่ชัดเจน เมื่อต้องการความร่วมมือจากชุมชนก็ย่อมทำได้
จุดอ่อนในการบริหารการเงินของวัดไทยที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน 
  1. วัดขาดโครงสร้างการบริหารการเงินที่เป็นระบบ กฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบันให้อำนาจหน้าที่อยู่ในความรับผิดชอบของเจ้าอาวาสทั้งหมด โดยมีการแต่งตั้งไวยาวัจกรมาช่วยดูแลในส่วนที่สงฆ์ดำเนินการเองไม่ได้
  2. การไม่มีการรายงานทางการเงินที่เป็นมาตรฐาน และไม่มีการเก็บข้อมูลการเงินของวัดไว้ ทำให้ขาดการสะท้อนภาพรวมของการบริหารการเงินวัด ซึ่งหน่วยงานที่ควรมีบทบาทในการรวบรวมข้อมูล โดยเฉพาะสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ยังไม่สามารถรวบรวมข้อมูลการเงินของวัดไทยได้อย่างเป็นระบบ
  3. การเปิดเผยข้อมูลทางการเงินของวัดยังอยู่ในวงจำกัด ส่วนมากมักทำรายงานทางการเงินและจัดเก็บไว้เองที่วัด มิได้เผยแพร่ให้สาธารณชนได้รับทราบ หากมีการเผยแพร่ก็เป็นรูปแบบในวงจำกัด เช่น ปิดประกาศในที่สาธารณะ เสียงตามสาย เป็นต้น
  4. ขาดแนวปฏิบัติที่ชัดเจนสำหรับการบริหารเงินของวัด เพื่อให้มีการใช้จ่ายเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของผู้ให้ทุนหรือผู้บริจาค
  5. ขาดการวางระบบและกลไกในการเบิกจ่ายเงิน และบริหารการเงินของวัดที่สอดคล้องกับหลักธรรมาภิบาล
  6. ขาดกลไกในกำกับดูแลให้การบริหารการเงินของวัดสอดคล้องกับหลักธรรมาภิบาล
ปัญหาและอุปสรรค
บุคลากรของวัดทั้งเจ้าอาวาส พระสงฆ์ กรรมการวัด ไวยาวัจกร รวมถึงชุมชนใกล้วัดส่วนมากไม่มีความรู้ความสามารถในการบริหารการเงิน ต้องมีกระบวนการในการพัฒนาให้บุคลากรเหล่านี้ได้มีความรู้ ความเข้าใจ เพื่อให้สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งหากจะพัฒนาบุคลากรในกลุ่มนี้จะต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก
ปัจจุบันหน่วยงานที่มีบทบาทในการพัฒนาบุคลากรกลุ่มนี้ไม่มีทรัพยากรเพียงพอที่จะดำเนินการได้ทั้งหมด จึงจำเป็นต้องวิธีการที่สร้างกระบวนเรียนรู้การบริหารการเงินให้เกิดขึ้นในกลุ่มนี้อย่างจริงจัง โดยพิจารณาใช้การมีส่วนร่วมของชุมชนให้เข้ามามีบทบาทมากที่สุด มีความร่วมมือ สร้างเครือข่ายร่วมกับหน่วยงาน เช่น สถาบันการศึกษา หรือหน่วยงานราชการและเอกชนต่างๆ ในชุมชน รวมถึงการเปิดโอกาสให้ผู้มีความรู้ความสามารถของชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยเหลือได้
ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย
เพื่อการพัฒนาแนวทางการบริหารการเงินของวัดในฐานะนิติบุคคลประเภทองค์กรไม่แสวงหากำไร และมีรายได้จากการบริจาค ให้มีความสอดคล้องกับหลักธรรมาภิบาล ผู้เกี่ยวข้องจึงควรดำเนินการ ดังนี้
1. สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรกำหนดให้เป็นกฎระเบียบข้อบังคับชัดเจนให้วัดจัดทำรายงานทางการเงินเป็นประจำทุกปี และนำส่งให้สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดเป็นผู้รวบรวม โดยกำหนดให้การตรวจสอบโดยผู้สอบบัญชีที่ได้รับอนุญาตเป็นประจำ ทั้งนี้ อาจดำเนินการในลักษณะสุ่มตรวจในระยะแรก และเพิ่มระดับการตรวจสอบให้มากขึ้นจนถึงการตรวจสอบเป็นประจำของวัดทั้งหมด ขณะเดียวกันควรให้มีจัดทำรายงานข้อมูลทางการเงินของวัดอย่างเป็นระบบ เพื่อให้สามารถนำข้อมูลมาใช้ในภาพรวมระดับประเทศ เพื่อประโยชน์ในการจัดทำบัญชีรายได้ประชาติขององค์กรไม่แสวงหากำไร และสะท้อนถึงความโปร่งใสของระบบวัดในประเทศไทยได้ 2. สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติควรเสนอให้ออกกฎเพื่อกำหนดถึงการมีและแต่งตั้งคณะกรรมการวัด ที่มีองค์ประกอบที่สะท้อนถึงการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องกับวัด รวมถึงควรกำหนดแนวทางในการได้มาของคณะกรรมการวัด เพื่อให้คณะกรรมการวัดมีบทบาทที่จะสามารถช่วยในการพัฒนาวัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับการบริหารจัดการที่ดี 3. สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรเร่งพัฒนาบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในการบริหารการเงินให้แก่วัดอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น  โดยให้มีการจัดอบรมไวยาวัจกร และกรรมการวัดอย่างสม่ำเสมอ เพี่อเพิ่มแรงจูงใจ รวมถึงการเพิ่มมาตรการเพื่อกระตุ้นให้บุคลากรเหล่านั้นได้เข้ารับการอบรม เช่น การให้โล่ มอบเกียรติบัตร หรือกำหนดคุณสมบัติผู้ที่จะทำหน้าที่ดังกล่าว ให้สามารถสนองตอบความต้องการในการพัฒนาการบริหารจัดการวัดให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และสอดคล้องกับหลักการบริหารจัดการที่ดีได้ 4. ประชาชนและชุมชนในฐานะที่เป็นพุทธศาสนิกชนควรมีบทบาทสำคัญในการเข้าไปมีส่วนร่วมกับการบริหารจัดการวัดมากขึ้น โดยผ่านการกระตุ้นให้เกิดผู้มีจิตอาสาทำงานเพื่อชุมชนและสังคม ซึ่งต้องมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงวัฒนธรรม เป็นต้น
การบริหารจัดการที่ดีสะท้อนถึงความโปร่งใสและตรวจสอบได้ จะนำไปสู่ความเชื่อมั่นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียขององค์กรนั้น และวัดเป็นองค์กรที่มีความใกล้ชิดกับคนและชุมชน ดังนั้นการสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นในผู้มีจิตศรัทธาและพุทธศาสนิกชนผู้เลื่อมใส เป็นสิ่งสำคัญในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืนสืบไป
ผศ.ดร. ณดา จันทร์สม คณบดีคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์