"นโยบายสาธารณะ" ผ่านหลักการพัฒนาสุขภาพท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์ระบบทุนนิยม และวิกฤตโรคระบาดโควิด -19 ทั่วโลก หากขาดซึ่งทิศทางที่มีดุลยภาพและธรรมาภิบาลแล้ว ย่อมจะนำไปสู่การเผชิญกับวิกฤตทางสังคมจนเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาสุขภาวะของสังคมในวงกว้างไปด้วย
แต่ในวันนี้การพัฒนาสุขภาพของประเทศไทยในแนว "นโยบายสาธารณะ" ไปไกลกว่าการปฏิรูประบบบริการสุขภาพ (health care reform) และกว้างกว่าเรื่องการแพทย์และการสาธารณสุข เราไปถึงการปฏิรูประบบสุขภาพ (health system reform) ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องอื่นอีกมากมาย เช่น เรื่องเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ศาสนา การศึกษา ที่อยู่อาศัย สิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน กลุ่มชนต่างๆ ธุรกิจการค้าทั้งในและระหว่างประเทศนโยบายสาธารณะ ฯลฯ ล้วนเกี่ยวกับสุขภาพ หรือสุขภาวะทั้งสิ้น
การพัฒนา “นโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมบนพื้นฐานทางปัญญา (Participatory Healthy Public Policy Process base on Wisdom: 4P-W)” เป็นเป้าหมายและกระบวนการที่สำคัญเรื่องหนึ่งในการพัฒนานโยบายสาธารณะให้เกิดการขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติจนเกิดผลเป็นรูปธรรม และประชาชนได้รับประโยชน์จากนโยบายสาธารณะนั้น โดยใช้ยุทธศาสตร์การสานให้เกิดพลังทวีคูณ (synergistic effect) ทั้งความรู้ (knowledge) นโยบาย (policy) และสังคม (social) เพื่อนำไปสู่การมีนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมบนพื้นฐานทางปัญญา ที่คิดไปด้วยกัน ทำไปด้วยกันเดินไปด้วยกัน เพื่อผลดีในระยะยาวร่วมกัน
นับเป็นมิติใหม่ของกระบวนการของสังคมไทยที่เริ่มจากมุมมองที่เห็นว่า นโยบายนั้นๆ ต้องเป็น “กระบวนนโยบายของสาธารณะอย่างต่อเนื่อง” ควบคู่ไปกับ “การมีคำประกาศทางนโยบาย” ซึ่งการใช้ พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ในการพัฒนานโยบายสาธารณะก็มีเครื่องมือที่สำคัญ เช่น ธรรมนูญสุขภาพ, สมัชชาสุขภาพ, การประเมินผลกระทบทางด้านสุขภาพ และกลไกต่างๆ ที่เน้นการมีส่วนร่วมตามวิถีประชาธิปไตย ความเป็นหุ้นส่วน ความเป็นเจ้าของ ความไว้วางใจ การเห็นคุณค่า การเสริมสานประโยชน์กันและกัน
ในอนาคตการจะสร้างจินตนาการและวัฒนธรรมสุขภาพใหม่ รวมทั้งธรรมาภิบาลในระบบสุขภาพที่จะทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์การพัฒนาในห้วงนวัตวิถีใหม่ (new normal) ต้องคำนึงถึงการพัฒนาอย่างบูรณาการเป็นองค์รวม มีความสมดุลพอดี และเชื่อว่าระบบสุขภาพที่ดีจะเป็นผลมาจากสังคมที่ดีด้วย ที่จะทำให้เกิดการดูแลสุขภาพที่ครอบคลุมทั้ง 4 มิติคือ กาย ใจ สังคม และจิตวิญญาณ (ปัญญา) ทุกระดับ ทั้งปัจเจกบุคคล ครอบครัว ชุมชนและสังคมได้
ท้ายนี้ ขอยกระดับประสบการณ์และบทเรียนที่สำคัญในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมาให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาที่ต่อเนื่องไป คือ 1) ผลักดันให้มีการปรับดุลยภาพระหว่างการจัดบริการสุขภาพ (service base) และการพัฒนา (development base) ที่เชื่อมโยงกับมาตรการทางสังคมอย่างเป็นรูปธรรม 2) สนับสนุนบทบาทการมีส่วนร่วมในการพัฒนานโยบายสาธารณะในระดับพื้นที่ และ 3) สร้างเสริมภาวะผู้นำด้านสุขภาพให้ชุมชน/แกนนำและเครือข่ายหน่วยงานองค์กรต่างๆ ร่วมกันพัฒนาระบบการเฝ้าระวังสุขภาพสังคมทั้งภาวะปกติและฉุกเฉินรวมทั้งการสร้างมาตรการทางสังคมเพื่อดูแลสุขภาพตนเองครอบครัว ชุมชนและสังคม
ที่เสนอนี้เป็นเพียงทิศทางหนึ่งเท่านั้น แต่การจะสร้างสุขภาพและสังคมการพัฒนาที่ดีร่วมกันต้องระดมพลังทางสังคมทุกภาคส่วนเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีเอกภาพ มีความเข้มแข็งและจริงจัง สร้างความเป็นเจ้าของร่วมกันต่อไปด้วย
บทความโดย สุทธิพงษ์ วสโสภาพล รองเลขาธิการ คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติคลิกอ่านบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2563 ในรูปแบบ e-magazine