กว่าจะเป็น Fulltime Trader ต้องผ่านอะไรมาบ้าง
กว่าจะเป็น Fulltime Trader ต้องผ่านอะไรมาบ้าง ผมขอประมวลเป็นเหตุผล 5 ข้อ ดังต่อไปนี้
1. ความกดดันจากครอบครัว
คนทั่วๆ ไปยังมองว่า การเทรดเป็นการพนันบ้าง เป็นการเก็งกำไรบ้าง ชีวิตไม่มีความมั่นคง การทำงานประจำมีความมั่นคงมากกว่า ดังนั้นเวลาลูกหลานอยากออกไปเทรดหุ้นเต็มตัว จึงมักไม่ค่อยเห็นด้วย
คนก่อนยุค 2540 ยังหลอนกับคำว่า วิกฤตเศรษฐกิจ ในช่วง ต้มยำกุ้ง crisis ที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ลงจาก 1780 จุด เหลือ 217 จุด ปิด 56 สถาบันการเงิน มีคนเอาปืนมาจ่อยิงตัวเองที่ตลาดหลักทรัพย์ เป็นข่าวไปทั่วประเทศ ดังนั้น ตลาดหุ้นเป็นสิ่งที่ยังน่ากลัวในใจของพวกเขา เด็กรุ่นใหม่ ยังไม่เคยผ่านวิกฤตตรงนั้น อย่างมากก็เจอแค่ Hamburger crisis ดังนั้นมุมมองจึงแตกต่างกัน
2. ความกดดันจากตัวเอง
ลองคิดดูว่าถ้าเราเลือกออกมาเทรดหุ้นเต็มตัว ในขณะที่เพื่อนๆ ของเราเลือกทำงานประจำ เมื่อระยะเวลาผ่านไป 5 ปี 10 ปี เพื่อนของเราต่างมีหน้าที่การงานและเงินเดือนที่สูงขึ้น มันจะกลายเป็นความกดดันที่เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัวว่า ตัวเรากำลังทำอะไรอยู่ ถ้าหากเรายังไม่ประสบความสำเร็จ จุดที่ออกมาเป็น Fulltime Trader ถ้าเราเลือกที่จะออกมาเกิน 3 ปี มันเป็นจุดที่เรียกว่า The point of no return คือกลับตัวก็ไม่ได้แล้ว เพราะตลาดแรงงานมีเด็กจบใหม่มาแข่งขันตลอดเวลา ถ้าเราไม่อาศัยประสบการณ์ที่มากกว่า เราต้องไปแข่งในตำแหน่งงานเดียวกับเด็กที่จบใหม่แทน
3. ชีวิตต้องกินต้องใช้ทุกเดือน ในขณะที่หุ้นไม่ได้เทรดง่ายทุกเดือน
จริงอยู่ เวลาตลาดหุ้นเป็นขาขึ้น เทรดยังไงก็กำไร ( แต่อาจมีบางคนที่ยังขาดทุนในยามขาขึ้น ถ้าเทรดสวนเทรนด์หรือเทรดหุ้นคร่อมจังหวะ ) แต่ตลาดมันมีทั้งหมด 6 แบบ ตามที่ผมบอก
A. ขาขึ้นเต็มตัว Super Bullish
B. ขาขึ้น Uptrend
C. Sideway แบบมี Volatile
D. Sideway แบบไม่มี volatile
E. ขาลงแบบต้มกบ Downtrend
F. ตลาดตกใจ Super Bearish
ตลาดที่เทรดยากที่สุดคือ Sideway แบบไม่มี Volatile และตลาดขาลงแบบต้มกบ การอยู่เฉยๆ บางทีเป็นทางออกที่ดีกว่า ยกเว้นจะเป็นพวก เล่นขา Short, Put Dw หรือ Scalper สายเร็วรอดไปวันๆ
ดังนั้นสมการที่ตั้งเป้าหมายว่าจะทำให้ได้ 10% ต่อเดือนอาจเกิดขึ้นเฉพาะเวลาตลาดเป็น Super Bullish , Uptrend , Sideway แบบมี volatiles (ต้องมีฝีมือ) หรือ Super Bearish (ต้องคง position Short)
ช่วงที่เทรดยาก หลายครั้งผมจะไปทำอย่างอื่นแทน เช่น ไปเที่ยว ไปทำงานอย่างอื่น แล้วเก็บเงินสดไว้ เพราะตลาดมันเทรดยาก เทรดไปก็ไม่คุ้ม แต่ถ้าฐานทุนยังน้อย แล้วดันเป็น full time Trader คำถามคือ จะเอาเงินที่ไหนมาใช้จ่าย ตรงนี้ต้องประมาณการรายจ่ายให้ดี
4. สิ่งที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นได้เสมอ
ตัวอย่างเช่น อยู่ดีๆ Donald Trump มาทวีตว่าจะขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีน จาก 10% เป็น 25% รุ่งขึ้นตลาดหุ้นทั่วโลกลงกันถล่มทลาย นี่เป็นตัวอย่างเบาๆ เล็กๆ ที่เกิดขึ้น บางทีสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด ทำให้กำไรอยู่ดีๆ กลายเป็นขาดทุน แล้วปีหนึ่งไม่ได้เกิดขึ้นครั้งเดียว แต่ทำแบบนี้หลายรอบ Fulltime Trader จะต้องเจอเรื่องแบบนี้ หลายต่อหลายครั้ง บางครั้งมั่นใจเกินไป overtrade ใส่เต็มแม็กซ์ เจอทรัมป์ประกาศมาที เผ่นแทบไม่ทัน
5. สังคมมองว่า Trader ไม่สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ
เนื่องจากอาชีพนี้ ไม่ได้สร้าง product อะไรที่เป็นชิ้นเป็นอัน หลายครั้งเทรดเดอร์จึงถูกมองในแง่ลบจากสังคมภาคการผลิตเราอาจเป็นแต่ฟันเฟืองในระบบซื้อขายแลกเปลี่ยน มีส่วนช่วยทำให้เกิด Volume แต่ไม่เคยสร้างสินค้าอะไรขึ้นมาเลยเรื่องนี้บางคนอาจจะมองว่า ไม่เกี่ยวกับตนเองเท่าไหร่ เป็นมุมมองทางสังคมมากกว่า แต่ผิดถนัด วันที่เราสำเร็จ จะไม่มีใครหยิบประเด็นตรงนี้ขึ้นมาพูด แต่วันที่เราเจอปัญหา ความกดดันตรงนี้แหละที่จะมาจากคนรอบข้างที่เห็นต่างจากเรา
ในส่วนนี้วิธีการที่ผมใช้สู้กันด้วยเหตุผล คือเอาเงินกำไรที่ได้ ไปทำธุรกิจต่อ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจ หรือเอาเงินไปทำบุญ ทำทาน แล้วบลัฟกลับว่า แล้วคุณทำอะไรบ้าง?
ถ้าคิดว่าความกดดัน 5 ข้อนี้ เราผ่านได้ ตอนหน้า เรามาเริ่มแบบกันจริงๆ จังๆ