เทคโนโลยี 5G กับโลกที่ไม่เหมือนเดิม - Forbes Thailand

เทคโนโลยี 5G กับโลกที่ไม่เหมือนเดิม

FORBES THAILAND / ADMIN
14 Sep 2020 | 07:43 AM
READ 1816

ว่ากันว่า โควิด-19 เปรียบได้กับซีอีโอจอมโหด ที่แค่ชี้นิ้วก็สามารถสั่งทุกอย่างในโลกให้เปลี่ยนแปลงได้ในพริบตาเดียว ไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิต การทำงาน โมเดลธุรกิจและบริบทต่างๆ ล้วนแต่ต้องเปลี่ยนแปลงแบบทันทีทันใด ซึ่งเชื่อได้เลยว่า สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปนั้นส่วนใหญ่จะไม่มีวันกลับมาเหมือนเดิมอีกแล้ว

ขณะที่หนึ่งในประเด็นสำคัญที่ก่อนหน้านี้ถือเป็น global agenda อย่าง digital transformation ซึ่งแต่ละองค์กรต่างลุกขึ้นมาหาคำตอบ ด้วยการจัดตั้งหน่วยงานศึกษา วิจัย และทดลองกันอย่างเอาเป็นเอาตายเพื่อเตรียมองค์กรให้พร้อมรับกับ digital disruption นับว่าได้รับประโยชน์จากซีอีโอโควิด-19 ไปเต็มๆ เพราะในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาที่ประชากรทั่วโลกต้องล็อกดาวน์ “อยู่บ้านหยุดเชื้อ” แต่การใช้ชีวิต การทำงาน การเรียนรู้ การประคับประคองเศรษฐกิจ รวมถึงการบริหารจัดการระบบราชการเพื่อประชาชน ไม่สามารถจะล็อกดาวน์ได้ ดังนั้น การใช้เทคโนโลยีเพื่อ unlock จึงเป็นคำตอบที่ถูกทุกข้อ แม้ก่อนหน้านี้ conference software จะมีฟังก์ชันการใช้งานที่สุดยอด หรือสามารถตอบโจทย์การประชุมออนไลน์ด้วยการแชร์ข้อมูลต่างๆ ได้อย่างแพรวพราว แต่ก็ไม่เคยได้รับความสนใจ เพราะคนทำงานส่วนใหญ่ยังต้องการ socialize กันมากกว่า อย่างไรก็ตาม ในช่วงวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ซึ่งต้องอยู่บ้านหยุดเชื้อได้ทำให้ conference software ได้รับความนิยมและเติบโตได้แบบฉุดไม่อยู่ โดยกลายเป็นหนึ่งในช่องทางเลือกของวิถีการทำงาน การเรียน การใช้ชีวิตแบบ new normal ไปแล้ว ซึ่งเทคโนโลยี 5G ที่ประเทศไทยเพิ่งเปิดประมูลในช่วงต้นปีที่ผ่านมาสามารถช่วยสนับสนุนการใช้ชีวิตวิถีใหม่ได้จังหวะเหมาะเจาะ เพราะ 5G คือ โครงข่าย digital infrastructure ที่ไม่ได้ตอบโจทย์เพียงการสื่อสาร แต่ยังตอบสนองเรื่อง connectivity และ productivity เพื่อองค์กรอย่างเด่นชัด สำหรับคุณสมบัติของ 5G ที่สามารถสร้างประโยชน์ดังกล่าวข้างต้น ได้แก่ ความเร็วที่มากขึ้นถึงระดับ 10 Gbps (enhanced mobile broadband) และขีดความสามารถในการรองรับการใช้งานมากขึ้น (fixed wireless broadband) รวมถึงสามารถรองรับอุปกรณ์ internet of things (IoT) ได้แบบมหาศาล พร้อมประหยัดพลังงาน (massive internetof-things) ทั้งยังตอบสนองได้อย่างมีประสิทธิภาพจากความหน่วงต่ำ (ultra-low latency and high reliability) ดังนั้น เทคโนโลยี 5G จึงสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ พร้อมทั้งเป็นหนึ่งในกลไกฟื้นฟูประเทศที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นด้านสาธารณสุข ด้านอุตสาหกรรม ด้านการค้าปลีก ด้านมัลติมีเดีย และการพัฒนาอย่างยั่งยืน (sustainable development) ในด้านการสาธารณสุขสามารถใช้เทคโนโลยี 5G ทำงานร่วมกับ robot และ AI เพื่อสนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ในการคัดกรองคนไข้ (robot for care) การให้บริการทางการแพทย์ทางไกลผ่านระบบออนไลน์ หรือโทรเวชกรรม (telemedicine) การใช้ artificial intelligence (AI) ช่วยคัดกรอง และวินิจฉัยตรวจรอยโรคของผู้ป่วย (AI assisted CT scan) รวมถึงการเชื่อมโยงการติดต่อสื่อสารและปรึกษาทางไกลกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ตั้งแต่ในรถพยาบาลเคลื่อนที่รักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน (mobile stroke unit) ขณะที่เทคโนโลยี 5G ยังสามารถนำไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมในระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (eastern economic corridor: EEC) ซึ่งแบ่งเป็นภาคพื้นดิน ภาคทางอากาศ และภาคทางทะเล โดยภาคพื้นดิน ได้แก่ กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม ประกอบด้วย อมตะ คอร์ปอเรชัน, สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง และกลุ่ม WHA ที่เริ่มทดลองทดสอบ 5G smart city แล้ว ส่วนภาคทางอากาศ ได้แก่ บริษัทอู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด ในนามกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส ผู้ชนะการประมูลโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ซึ่งเริ่มทดลองทดสอบ 5G smart airport แล้วรวมถึงภาคทางทะเล ได้แก่ การท่าเรือแห่งประเทศไทย โดยเริ่มทดลองทดสอบ 5G แล้วบริเวณท่าเรือแหลมฉบัง สำหรับในด้านการค้าปลีกสามารถใช้เทคโนโลยี 5G ร่วมกับ internet of things (IoT) เช่น การเปลี่ยนร้านค้าในรูปแบบเดิมให้เป็น virtual store การสั่งสินค้าได้แบบอัตโนมัติผ่าน IoT และกระจกดิจิทัลแสดงผลอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นการวัดขนาดตัว และเลือกขนาดเสื้อผ้าให้เหมาะสมรวมถึงการพัฒนาระบบตรวจจับใบหน้าเพื่อแสดงโฆษณาตามความสนใจของลูกค้าได้ พร้อมสร้างแพลตฟอร์มให้เป็นเรียลไทม์ และสร้างประสบการณ์ที่ดีที่สุดในรูปแบบดิจิทัล นอกจากนั้น ด้านมัลติมีเดียยังสามารถสร้าง 5G immersive experience ร่วมกับเทคโนโลยีโลกเสมือน หรือ augmented reality (AR) และการจำลองภาพให้เสมือนจริง หรือ virtual reality (VR) สามารถใช้ประโยชน์กับหลายธุรกิจ เช่น อุตสาหกรรม การแพทย์ การบันเทิง การสื่อสาร การศึกษา หรือการท่องเที่ยวเพื่อสร้างประสบการณ์แบบ unseen Thailand ที่สำคัญเทคโนโลยี 5G ยังสามารถต่อยอดสู่ sustainable development โดยเฉพาะการพัฒนาสิ่งแวดล้อมการเกษตร และการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน เช่น SCG Lab ในอุทยานเรียนรู้ป๋วย 100 ปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ซึ่งเป็นต้นแบบการรณรงค์ให้คนไทยเห็นความสำคัญของการดูแลสิ่งแวดล้อม ทั้งหมดนี้คือ 5G ที่เกิดขึ้นจริงอย่างเป็นรูปธรรมแล้วในประเทศไทย ในฐานะเส้นเลือดใหญ่ดิจิทัลหลักของประเทศไทยที่จะช่วยให้สามารถปรับตัวอยู่ในโลกที่ไม่เหมือนเดิมได้เป็นอย่างดี เพราะวิกฤตโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาเป็นบทเรียนสำคัญของคนไทยและทั่วโลกว่า ท่ามกลางวิกฤตยังมีโอกาสอันยิ่งใหญ่อยู่เสมอ ขึ้นอยู่กับว่าจะฉกฉวยโอกาสนั้นอย่างไร เพราะประเทศไทยมีจุดแข็ง ซึ่งได้รับการยอมรับจากทุกภาคส่วนว่า มีระบบสาธารณสุขที่เป็นเลิศ มีแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติที่สวยงาม มีแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ และอื่นๆ อีกมากมาย ดังนั้น เมื่อนำดิจิทัลอย่าง 5G เข้าไปผสมผสานในกระบวนการที่เกี่ยวข้องของภาคอุตสาหกรรมดังกล่าวข้างต้น ย่อมทำให้เกิดพลังช่วยพลิกฟื้นประเทศไทยให้ก้าวผ่านวิกฤตได้อย่างดีที่สุด พร้อมทั้งสามารถปรับตัวรับยุค new normal ได้เป็นอย่างดี   วสิษฐ์ วัฒนศัพท์ หัวหน้าฝ่ายงานปฏิบัติการและสนับสนุนด้านเทคนิคทั่วประเทศ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส  
คลิกอ่านฉบับเต็มได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนสิงหาคม 2563 ในรูปแบบ e-magazine