“วัฒนธรรมองค์กร” คือเกราะคุ้มภัยที่ยั่งยืนในโลกยุคใหม่จริงหรือ? - Forbes Thailand

“วัฒนธรรมองค์กร” คือเกราะคุ้มภัยที่ยั่งยืนในโลกยุคใหม่จริงหรือ?

FORBES THAILAND / ADMIN
01 Aug 2022 | 12:20 AM
READ 4330

การเร่งกระบวนการทรานส์ฟอร์มและการปรับองค์กรเข้าสู่ยุคดิจิทัล (Digital-First Organization) ถือเป็นหนึ่งในแนวโน้มสำคัญที่องค์กรทั่วโลกกำลังเร่งปรับตัว เพื่อรับมือกับโลกยุคโควิด-19 ที่ได้ทำให้หลาย ๆ อย่างบนโลกใบนี้เปลี่ยนไป ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์ที่ FranklinCovey บริษัทที่ปรึกษาด้านการพัฒนาผู้นำติดอันดับโลก ซึ่งเป็นหนึ่งในพันธมิตรระดับโกลบอลของ “แพคริม” ได้ทำงานร่วมกับองค์กรชั้นนำใน 160 ประเทศ พบว่าโจทย์ที่ยากที่สุดขององค์กรในการทำ ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชันกลับไม่ใช่เรื่องทางด้านเทคนิคหรือเทคโนโลยี แต่เป็นเรื่องของ “คน” และวัฒนธรรมองค์กรมากกว่า เพราะการจัดหาเทคโนโลยีมาไม่ใช่เรื่องยาก หากมีเงิน มีทรัพยากรก็สามารถทำได้ แต่เมื่อมีเทคโนโลยีแล้ว ทำอย่างไรจึงจะใช้ประโยชน์ให้ได้สูงสุด ทำอย่างไรจึงจะทำให้คนในองค์กรปรับเปลี่ยนรูปแบบและวิธีการทำงาน เปลี่ยนวิธีการมีปฏิสัมพันธ์กับเทคโนโลยี ทำอย่างไรให้คนที่อาจจะคุ้นเคยกับกระบวนการทำงานแบบเดิมๆ ยอมปรับเปลี่ยนมาใช้กระบวนการหรือเทคโนโลยีใหม่ๆ ฯลฯ ซึ่งเรื่องแบบนี้คงไม่ใช่สิ่งที่ซีอีโอทุบโต๊ะสั่งแล้วจะเกิดขึ้นได้ทันที หรือจะคงอยู่ได้อย่างยั่งยืน Paul Walker ซีอีโอ แฟรงคลินโควีย์ ซึ่งได้มาพูดในงาน “PacRim Leadership Forum 2022-Decoding the Great and Enduring: Wisdom from 30 Leaders” เมื่อ 7 กรกฎาคมที่ผ่านมาบอกว่า จากความท้าทายที่เกิดขึ้น จึงทำให้องค์กรชั้นนำจำนวนมากหันมาเน้นในเรื่องการพัฒนาคนและการสร้างวัฒนธรรมที่สนับสนุนให้คนในองค์กรมีมายด์เซ็ทและพฤติกรรมที่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง สามารถปรับใช้เทคโนโลยีและกระบวนการใหม่ๆ ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าโลกหรือเทคโนโลยีจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรอีกในอนาคต เขาได้ยกตัวอย่าง สัตยา นาเดลลา ซีอีโอ ไมโครซอฟท์ ที่ประสบความสำเร็จในการพลิกโฉมบริษัทซอฟต์แวร์ยักษ์ใหญ่แห่งนี้ ด้วยสไตล์ความเป็นผู้นำและวัฒนธรรมองค์กรที่อาจสรุปได้ด้วยคำสั้น ๆ คำเดียวคือ “Empathy” ซึ่งหมายถึงผู้นำที่มีความเข้าอกเข้าใจและแสดงออกให้ทุกคนเห็นว่าตัวเขาไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองเก่งหรือรู้ไปเสียทุกเรื่อง แต่พร้อมรับฟังและมองเห็นศักยภาพและความเป็นอัจฉริยะในทุกคน จึงสามารถสร้างทีมที่เสริมจุดอ่อนจุดแข็งซึ่งกันและกันได้ (Build a Complementary Team) และสามารถปลดปล่อยศักยภาพที่ซ่อนเร้นอยู่ในองค์กรได้อย่างเต็มที่ สอดคล้องกับ พรทิพย์ อัยยิมาพันธ์ ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง “แพคริม” ที่ได้กล่าวในงานเดียวกันนี้ว่า จากการที่ได้มีโอกาสไปสัมภาษณ์เชิงลึกผู้นำ 30 ท่าน เพื่อจัดทำเป็น E-Book และ VDO เผยแพร่ในโอกาสครบรอบ 30 ปี แพคริม และปล่อยดาวน์โหลด E-Book ฉบับเต็ม ในเวลาต่อมา พบว่าในไทยเอง ผู้นำหลายท่านก็ได้บอกว่าวิกฤตโควิดที่ผ่านมา ได้เป็นตัวพิสูจน์ให้เห็นถึงคุณค่าของวัฒนธรรมองค์กรที่ได้ใช้เวลาสร้างกันมาหลายปีว่า สามารถช่วยเป็นเกราะป้องกันที่ทำให้องค์กรผ่านวิกฤตมาได้เป็นอย่างดี เพราะคนในองค์กรรู้บทบาทและหน้าที่ของตัวเอง มีความคิดริเริ่ม ไม่ยอมจำนนต่อสถานการณ์ (Proactive) มีความไว้วางใจกันและกันสูง สามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว เป็นต้น ใน E-Book และ VDO ชุดนี้ จีรเศรษฐ บูรณะสัมฤทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารส่วนงานห่วงโซ่อุปทานและกรรมการผู้จัดการ แพนดอร่า ประเทศไทย ได้เปรียบวัฒนธรรมองค์กรว่าเป็นเหมือนกับ “Invisible shield” หรือเกราะป้องกันที่มองไม่เห็นที่ช่วยนำองค์กรก้าวผ่านความท้าทายทุกรูปแบบ ในช่วงวิกฤตนี้เองที่เรื่องที่เคยดูเหมือนกับเป็นเรื่องซอฟต์ๆ อย่างวัฒนธรรมองค์กรและการพัฒนาทักษะความเป็นผู้นำและซอฟต์สกิล (soft skill) ต่างๆ กลับกลายเป็นเรื่องฮาร์ดๆ หรือจุดแข็งที่มีความสำคัญต่อความอยู่รอดและอนาคตขององค์กรเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้น หากองค์กรของท่านยังไม่ได้เริ่มบ่มเพาะวัฒนธรรมองค์กรใหม่ๆ ที่จะช่วยให้องค์กรพร้อมรับมือกับโลกในอนาคต และช่วยเพิ่มอัตราเร่งและความสำเร็จให้กับกระบวนการทรานส์ฟอร์มที่กำลังทำอยู่ในขณะเดียวกัน อาจถึงเวลาแล้วที่ควรจะต้องพิจารณาถึงการสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันหรือเกราะป้องกันอย่างยั่งยืนนี้ให้กับองค์กรของท่านอย่างจริงจัง บทความโดย PacRim

ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine