“ยางพารา” ฟันเฟืองขับเคลื่อนเศรษฐกิจ - Forbes Thailand

“ยางพารา” ฟันเฟืองขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

FORBES THAILAND / ADMIN
18 Jan 2017 | 11:58 AM
READ 8539
ยางพารา (Pará or Hevea Brasiliensis) ถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศ นับจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ยางพาราไทยเป็นสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรที่มียอดส่งออกอันดับ 1 ของประเทศ ด้วยมูลค่าการส่งออกรวม 1.7 แสนล้านบาทในปี 2558 (ที่มา: ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร) ขณะเดียวกันยางพาราไทยยังครองส่วนแบ่งทางการตลาดเป็นอันดับ 1 ในโลกทั้งด้านการผลิตและการส่งออก ตามด้วยประเทศอินโดนีเซียและเวียดนาม โดยมีกำลังการผลิตยางพาราถึง 4.4 ล้านตันต่อปี คิดเป็นสัดส่วน 36% ของกำลังการผลิตทั่วโลกจำนวน 12.3 ล้านตันต่อปี จากความสำคัญของยางพาราในการเป็นวัตถุดิบผลิตสินค้าเกี่ยวเนื่องในระดับโลก อาทิ ยางล้อรถยนต์ ถุงมือยาง ยางยืด ท่อยาง ถุงยางอนามัย และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ทำให้การปรับตัวของราคายางพาราในแต่ละครั้งส่งผลต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ต่ออุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นยุคทองของราคายางพาราในช่วงปี 2548 - 2554 (จากประมาณ 20 บาทต่อกิโลกรัม ทำสถิติไปแตะที่ระดับเกือบจะ 200 บาทต่อกิโลกรัม) ซึ่งกระตุ้นให้หลายประเทศทั่วโลกมีการขยายพื้นที่เพาะปลูกยางพาราอย่างกว้างขวาง ส่งผลให้ผลผลิตยางพาราออกสู่ตลาดมากขึ้นเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ภาวะเศรษฐกิจโลกที่สะดุดจากความกังวลในสหภาพยุโรปเมื่อปี 2555 ทำให้ประเทศผู้นำเข้ายางหลักชะลอการซื้อยาง และความต้องการในการใช้ยางพาราลดลงต่ำกว่าปริมาณผลผลิต ส่งผลกระทบให้ราคายางพารามีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องในปี 2557 เนื่องจากราคายางพาราลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้รัฐบาลของประเทศผู้ผลิตยางพาราหลายแห่งเริ่มตระหนักถึงปัญหาผลผลิตที่ล้นตลาด จึงเกิดนโยบายร่วมกันในกลุ่มประเทศผู้ผลิตยางพารา สร้างความร่วมมือในการควบคุมผลผลิตยางที่ออกสู่ตลาด ทำให้ในปี 2558 ผลผลิตยางพาราโดยรวมอยู่ที่ระดับ 12.3 ล้านตัน ในขณะที่ความต้องการใช้ยางพาราของโลกอยู่ที่ 12.2 ล้านตัน ส่งผลให้ตลาดยางพาราพัฒนาไปสู่สมดุลที่ดีขึ้น สำหรับตัวแปรอื่นๆ ที่สำคัญและเชื่อมโยงกับตลาดยางพารายังมีราคาน้ำมันเนื่องจากอุตสาหกรรมยางล้อบริโภคยางพาราร่วมกับยางสังเคราะห์ที่มีวัตถุดิบจากน้ำมัน เมื่อราคาน้ำมันปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องจึงเป็นอีกปัจจัยที่มีผลกระทบต่อราคายางพารา ซึ่งขณะนี้กลุ่มโอเปกมีการเจรจาระหว่างผู้ผลิตในกลุ่มกับผู้ผลิตนอกกลุ่มโอเปก โดยหวังว่าจะสามารถบรรลุข้อตกลงในการคงกําลังการผลิตน้ำมันไว้เพื่อรักษาระดับราคาน้ำมัน แต่ในอีกทางหนึ่งราคาน้ำมันก็ยังคงอยู่ในระดับต่ำและไม่มีการปรับตัวที่ชัดเจน ทางด้านความต้องการใช้ยางพาราจากผู้นำเข้าหลัก เช่น ประเทศจีน สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรปนั้น ยังคงมีทิศทางที่เพิ่มขึ้น 1-2% ต่อปี มากน้อยตามสภาพเศรษฐกิจ ทางรัฐบาลจีนออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ภาคการผลิตมีการขยายตัว รวมถึงเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ยังคงขยายตัวได้ดีโดยเฉพาะรถ SUV และรถยนต์ขนาดใหญ่ ส่วนทางด้านตลาดสหภาพยุโรป แม้จะเริ่มปรับตัวดีขึ้น แต่ปัญหาภายในสมาชิกสหภาพเองทำให้ภาพรวมยังไม่มีการสนับสนุนที่ชัดเจนมากนัก นอกจากนี้ ภาพรวมปริมาณการผลิตถุงมือยางหรือถุงมือทางการแพทย์ของโลกปรับเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับโรคติดต่อ รวมไปถึงใส่ใจด้านสุขอนามัยที่เพิ่มขึ้น ซึ่งประเทศมาเลเซียเป็นผู้ครองตลาดด้านการผลิตถุงมือยางโดยบริโภคน้ำยางข้นจากประเทศไทยเป็นหลัก ณ ระดับราคายางพาราในปัจจุบัน (ต่ำสุดในรอบ 10 ปี) ถือได้ว่าเป็นตัวกระตุ้นความต้องการได้เป็นอย่างดีกับอุตสาหกรรมที่บริโภคยางพารา ในแง่ของต้นทุนที่ถูกลงของผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของยางพารากว่า 50% ของส่วนประกอบทั้งหมด อย่างเช่นอุตสาหกรรมยางล้อ ถุงมือยาง และอื่นๆ ปัจจัยนี้จะมีส่วนกระตุ้นให้ภาคผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ยางเลือกขยายการใช้งานยางพาราในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น และน่าจะส่งผลดีต่อภาพรวมความต้องการใช้ยางพาราที่จะเพิ่มขึ้นเช่นกัน ทั้งนี้ ภาพรวมในการพัฒนายางพาราภายในประเทศไทยมีปัจจัยเอื้อและมีสัญญาณสนับสนุนที่ชัดเจนจากทางภาครัฐที่มีการจัดตั้ง คณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) เพื่อกำหนดแนวทางในการพัฒนาอุตสาหกรรมยางพารา ซึ่งมีตัวแทนจากทั้งภาครัฐ เอกชน และเกษตรกร เพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและผู้เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราทั้งระบบอย่างมีเป้าหมายที่ชัดเจน เริ่มจากนโยบายการเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราในประเทศ ซึ่งตั้งเป้าการใช้งานภายในประเทศ เพิ่มจากปัจจุบันที่ 5 แสนตันต่อปี ให้ได้ถึง 1 ล้านตันต่อปี เพื่อเสริมสร้างความต้องการการบริโภคยางพาราภายในประเทศ บวกกับนโยบายการลดพื้นที่ปลูกยางพารา โดยเฉพาะส่วนที่รุกพื้นที่ป่าและส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นทดแทนสำหรับยางพาราที่ถึงอายุโค่น ซึ่งจะช่วยควบคุมปริมาณการผลิตในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมกับการปลูกยางพาราลงได้ส่วนหนึ่ง นอกจากนี้ การส่งเสริมการปลูกพืชแซมยางเพื่อเพิ่มรายได้แก่เกษตรกรนับเป็นส่วนสนับสนุนให้เกษตรกรชาวสวนยางมีรายได้เพิ่มขึ้นในช่วงที่ตลาดยางพาราปรับตัวในขณะนี้ และการส่งเสริมการวิจัยพัฒนายางพาราและผลิตภัณฑ์จากยางพารากับหน่วยงานวิจัยและหน่วยงานการศึกษาในแผนระยะยาว ซึ่งถ้ามีการปฏิบัติจริงอย่างต่อเนื่องน่าจะส่งผลดีต่อการพัฒนาอุตสาหกรรม สุดท้ายนโยบายที่โดดเด่นอีกหนึ่งนโยบาย คือการปรับปรุงคุณภาพยางก้อนถ้วยที่เกิดขึ้นไม่นานนี้ โดยมีส่วนช่วยส่งเสริมความเชื่อมั่นด้านคุณภาพยางพาราไทยที่ส่งออกเป็นอย่างมาก ซึ่งอาจส่งผลต่อการปรับราคา โดยปัจจัยภายในประเทศดังกล่าวถือว่าเป็นปัจจัยเชิงบวกต่ออุตสาหกรรมและเอื้อให้เกิดการปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืนของอุตสาหกรรมยางพารา   นัธธี ถิรพุทธโภคิน  รองประธานฝ่ายยางธรรมชาติ บริษัท ศรีตรังแอโกร อินดัสทรี จำกัด (มหาชน)
คลิกอ่านบทความทรงคุณค่าทางด้านธุรกิจ ได้ที่ Forbes Thailand ฉบับเดือนธันวาคม 2559