ผลตอบแทนทางสังคม เรื่องน่าสนใจสู่องค์กรยั่งยืน - Forbes Thailand

ผลตอบแทนทางสังคม เรื่องน่าสนใจสู่องค์กรยั่งยืน

FORBES THAILAND / ADMIN
11 Oct 2018 | 10:11 AM
READ 18351

องค์กรชั้นนำมุ่งค้นหาแนวทางการเติบโตอย่างยั่งยืนที่มีความเหมาะสมกับตัวเองผ่านการทำกิจกรรมด้านความรับผิดชอบต่อสังคมต่างๆ และวางแนวทางการดำเนินงานของธุรกิจให้สอดคล้องตามกรอบแนวทางความยั่งยืนที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล ไม่ว่าจะเป็น DJSI, ISO 26000 หรือการรายงาน เช่น GRI ก็ดี

แต่ปัญหาขององค์กรและผู้บริหารก็คือ สิ่งต่างๆ ที่ลงทุนทำไปนั้น สามารถสร้างคุณค่าต่อสังคมได้อย่างแท้จริงหรือไม่ โดยเฉพาะเมื่อเรามาคิดว่าผลตอบแทนจากการลงทุนที่เรียกว่า “ผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุน (Social Return on Investment: SROI)” นั้น เป็นเท่าไร การประเมินผลตอบแทนทางสังคมเป็นการนำผลลัพธ์ด้านสังคม (Social Impact) ในแง่มุมต่างๆ ซึ่งเป็นผลกระทบจากการดำเนินกิจกรรมหรือโครงการที่ได้จากการลงทุน มาคำนวณหามูลค่าที่เป็นตัวเงินแล้วเปรียบเทียบกับมูลค่าทางการเงินของเงินทุนที่กิจการหรือองค์กรลงทุนในการดำเนินกิจกรรมหรือโครงการ เพื่อดูผลกระทบว่ากิจการสร้างผลลัพธ์ต่อสังคมคิดเป็นมูลค่าเท่าไรต่อเงินที่ลงทุนไป 1 บาท ตัวอย่างเช่น สัดส่วน 1:5 หมายความว่า การลงทุนในโครงการทุกๆ 1 บาทจะสร้างมูลค่าให้กับสังคม 5 บาท การประเมินผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุนจึงเป็นเครื่องมือที่นิยมในการประเมินค่า เพื่อวางแผนโครงการในอนาคตหรือทบทวนโครงการในอดีต SROI มีจุดเด่นคือการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในระหว่างการวิเคราะห์ที่มีความเกี่ยวข้องกันในหลายขั้นตอน เช่น การตัดสินใจเลือกผลลัพธ์ (Outcomes) การสร้างแผนที่ผลลัพธ์ (Outcome Mapping) การเลือกมูลค่าตัวแทนทางด้านการเงิน (Financial Proxies) และสัดส่วนความเป็นเจ้าของผลงาน (Attribution Proportion) การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจะช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือในการวิเคราะห์มากขึ้น ทั้งนี้การเข้าใจในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงและการตีมูลค่าจากสิ่งที่เกิดขึ้นไม่มีการอ้างผลประโยชน์เกินความเป็นจริง มีความโปร่งใส ก็จะเพิ่มความน่าเชื่อถือ และความถูกต้องของผลการวิเคราะห์มากขึ้นด้วย SROI คือตัวแทนมูลค่าทางการเงิน เนื่องจากเงินเป็นหน่วยวัดที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางในการแสดงมูลค่า ขณะที่การทำแผนธุรกิจควรมีข้อมูลมากกว่าการประมาณทางการเงิน ซึ่ง SROI มีมากกว่านั้น  การวิเคราะห์ SROI นั้นมีหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการวิเคราะห์เพื่อพัฒนาวิธีการดำเนินการของทั้งองค์กร การดำเนินงานที่เฉพาะเจาะจง การดำเนินการของภาพใหญ่ภายนอกองค์กร 

การดำเนินการวิเคราะห์ SROI เกี่ยวข้องกับ 6 ขั้นตอน ได้แก่ 

  1. การกำหนดขอบเขตและการระบุผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักของโครงการ สิ่งสำคัญคือการกำหนดขอบเขตให้ได้อย่างชัดเจน 
  2. การรวบรวมผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง ที่จะใช้คำนวณผลกระทบที่เกิดขึ้นหรือทฤษฎีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างเงินลงทุน ผลิตผลของโครงการ และผลลัพธ์ของโครงการที่เกิดขึ้น 
  3. การตรวจสอบผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นและประมาณการเป็นมูลค่า ในขั้นตอนนี้เกี่ยวข้องกับการจัดหาเอกสารเพื่อแสดงให้เห็นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น 
  4. การสร้างผลกระทบ การรวบรวมเอกสารที่เกี่ยวข้องกับผลลัพธ์ และการแปลงเป็นมูลค่าทางการเงินกับผลลัพธ์นั้น ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหรือเกิดจากปัจจัยอื่นๆ จะถูกตัดออกจากการพิจารณา
  5. การคำนวณผลตอบแทนทางสังคม ขั้นตอนนี้เกี่ยวข้องโดยรวมผลลัพธ์ทั้งที่เป็นด้านบวก ด้านลบ และเปรียบเทียบผลที่เกิดขึ้นกับการลงทุน รวมทั้งวัดความอ่อนไหวของผลลัพธ์ที่ได้
  6. การรายงานการใช้ และการนำไปใช้ เรื่องนี้มักถูกละเลยขั้นตอนสุดท้ายที่สำคัญนี้เกี่ยวข้องกับการนำเสนอผลการศึกษาที่จัดทำกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและการตอบสนอง กระบวนการนำผลลัพธ์ และการตรวจสอบรายงาน
ในปัจจุบันการทำกิจกรรมต่างๆ ของธุรกิจส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสังคมและสิ่งแวดล้อม แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้น เป็นสิ่งไกลตัวไม่สามารถจับต้องให้เป็นรูปตัวเงินได้ ซึ่งโดยส่วนใหญ่เราจะให้ความสำคัญกับตัวเงินที่สามารถจับต้องได้และมีมูลค่าทางการตลาดจนอาจละเลยที่จะให้ความสำคัญกับมูลค่าที่จับต้องไม่ได้ การใช้ SROI จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะแนะนำทางเลือกให้ผู้บริหารที่ต้องเผชิญกับการตัดสินใจในการจัดสรรทรัพยากร ทั้งระยะเวลาและเงินลงทุนขององค์กร สำหรับการสร้างคุณค่าให้กับสังคมตามเป้าหมายได้เป็นอย่างดี และยังทำให้ตอบตัวเอง ตอบคนอื่น และบอกให้ทุกคนรู้ได้ว่า “เราได้ทำดี ตอบแทนสังคมไปแล้วอย่างเห็นผลที่จับต้องได้ วัดได้ และน่าเชื่อถือ” และจะสามารถประยุกต์เพื่อเป็นกรอบในการดำเนินธุรกิจและการตัดสินใจที่เกี่ยวข้องกับสังคม สิ่งแวดล้อมได้ เหมือนที่ Adam Richards, Senior Researcher of Social Value UK ได้พูดไว้เมื่อคราวมาร่วมสัมมนาที่ประเทศไทยเมื่อต้นปีนี้ว่า “การประเมินผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุน หรือ SROI ไม่ได้เป็นเครื่องมือหรือเทคนิค แต่เป็นกรอบแนวคิดหลักการในการตัดสินใจ และพัฒนาไปสู่แนวทางการปฏิบัติที่ดีขึ้น SROI ช่วยทำให้การเกิดผลกระทบทางบวกมีมูลค่าสูงสุดและมีประสิทธิภาพ ทำให้เห็นผลกระทบทางลบที่เกิดขึ้นหรืออาจจะเกิดขึ้น โดยหลักการ SROI สามารถทำได้ผ่านกลไก 3Ms ซึ่งได้แก่ การวัดผล (Measure) การบริหารจัดการ (Manage) และการขยายผลลัพธ์ (Maximize)”  ปิดท้ายด้วยผลการศึกษาข้อมูลของ Harvard Business School ถึงความสามารถในการทำกำไรของเหล่าองค์กรธุรกิจที่มีแนวทางการดำเนินงานแบบยั่งยืน (Eccles, R.G., loannou, I., Serafeim, G., The Impact of Corporate Sustainability on Organizational Processes and Performance. Harvard Business School Working Paper (2-035). July 29, 2013.) ด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลผลการดำเนินงานในช่วง 10 ปี พบว่า “High-sustainability Companies” จะมีผลตอบแทนสูงกว่า “Low-sustainability Companies” โดยเมื่อเปรียบเทียบกันต่อ 1 เหรียญสหรัฐฯ ในช่วงระยะเวลา 7 ปีจะมีความสามารถในการทำกำไรที่ต่างกัน 22.6 : 15.4 เหรียญ นอกจากนั้นเมื่อพิจารณาตามลักษณะของธุรกิจ พบว่ากลุ่มธุรกิจสินค้าอุตสาหกรรมและสินค้าโภคภัณฑ์จะให้ความสำคัญกับการดำเนินการและการรายงานเกี่ยวกับกิจกรรมด้านความยั่งยืนมากกว่ากลุ่มธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีและมีต้นทุนด้านพลังงานสูงกว่า
ไวฑูรย์ โภคาชัยพัฒน์ กรรมการผู้จัดการทริส คอร์ปอเรชั่น
 
คลิกอ่าน บทความทางด้านธุรกิจได้ที่ Forbes Thailand Magazine ฉบับเดือนสิงหาคม 2561